ถอดรหัสความเหลื่อมล้ำในห้องเรียน
เป็นไปไม่ได้เลยที่จะทำให้เด็กในห้องเดียวกันได้เกรด 4 หมดทุกวิชาเหมือนกันทุกคน แม้จะเป็นห้องระดับหัวกะทิของโรงเรียน
งานวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์การศึกษาทั่วโลกได้ผลการศึกษาที่สอดคล้องกันว่าความเหลื่อมล้ำในห้องเรียนคือต้นทางของความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ หากเป็นความเหลื่อมล้ำระหว่างเด็กหัวกะทิที่มาจากครอบครัวฐานะดี เรื่องนี้อาจไม่น่าห่วง แต่สำหรับครอบครัวที่ยากจน ความเหลื่อมล้ำในห้องเรียนอาจหมายถึงการส่งต่อความยากจนจากรุ่นหนึ่งไปยังคนรุ่นต่อไปในครอบครัวอีกด้วย
นโยบายด้านในการยกระดับคุณภาพการศึกษามักเป็นนโยบายภาพใหญ่ หากโชคดีหน่อยอาจถูกนำมาปรับใช้ในระดับโรงเรียนให้เหมาะสมกับลักษณะโดยรวมของเด็กในโรงเรียนนั้น ๆ แต่พอนำมาใช้ในระดับห้องเรียน เด็กทุกคนจะถูกสอนด้วยวิธีการเดียวกัน เข้าถึงทรัพยากรทางการศึกษาที่โรงเรียนจัดให้ในระดับเดียวกัน การใช้วิธีเดียวกันด้วยเจตนาดีที่ดูเหมือนจะสร้างความเท่าเทียมนี่แหละคือบ่อเกิดของความเหลื่อมล้ำโดยไม่ตั้งใจ
เด็กมีความแตกต่างกันทั้งในด้านลักษณะส่วนตัวของเด็ก เช่น ทัศนคติ ความพร้อม ความสามารถในการเรียนรู้ ได้รับการดูแลจากครอบครัวแตกต่างกัน มีความแตกต่างกันด้านทรัพยากรทางการศึกษาที่บ้าน มีความแตกต่างกันด้วยว่าไปเรียนหนังสือที่โรงเรียนไหน ดังนั้น ถ้าจะแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา ก็ต้องเข้าใจก่อนว่าความแตกต่างเหล่านี้มีผลต่อความสำเร็จในการเรียนอย่างไร นอกจากนี้แล้ว สิ่งที่ต้องตระหนักก็คือ ความแตกต่างเหล่านี้ยังส่งผลกับเด็กเรียนเก่งกับเด็กเรียนอ่อนในระดับที่แตกต่างกัน
รูปที่แสดงไว้ ใช้คะแนนการสอบ PISA ปี 2018 มาแยกวิเคราะห์บทบาทของปัจจัย 4 ด้านที่ทำให้คะแนนสอบของเด็กในเมืองและชนบทแตกต่างกัน ได้แก่ ตัวเด็ก สภาพครอบครัว ทรัพยากรทางการศึกษาที่ครอบครัวจัดหาให้แก่เด็ก และลักษณะของโรงเรียน โดยลักษณะของโรงเรียนในที่นี้หมายถึงปัจจัยที่ส่งผลต่อคุณภาพการจัดการศึกษาของโรงเรียน เช่น การบริหารจัดการ ขนาดของโรงเรียน ทรัพยากรทางการศึกษาในห้องเรียน ขนาดชั้นเรียน จำนวนครู เป็นต้น การวิเคราะห์แบ่งออกเป็น 2 มิติ คือ เทียบระหว่างเด็กเรียนอ่อน หรือได้คะแนนอยู่ในกลุ่มที่มีคะแนนต่ำระดับ 25% ล่างสุดของห้อง (P25) และนักเรียนที่เรียนได้ตามเกณฑ์ที่คาดหวัง (P50)
ตัวเลข % ที่แสดงไว้ หมายถึงบทบาทของปัจจัยแต่ละด้านว่าส่งผลต่อการคะแนนสอบ PISA ของเด็กในระดับใด ยกตัวอย่างเช่น เด็กชายกลุ่ม P25 ลักษณะเฉพาะตัวของเด็กมีบทบาทประมาณ 15% ส่วนโรงเรียนมีบทบาทประมาณ 26% ซึ่งต่างจากเด็กชายกลุ่ม P50 ที่โรงเรียนมีบทบาทลดลงมาเหลือแค่ 20% แต่ตัวเด็กเองกลับมีบทบาทเพิ่มขึ้นเป็น 33% ในกรณีของเด็กหญิงในกลุ่ม P25 และ P50 เราก็เห็นความแตกต่างนี้เช่นกันเหมือนกัน
จากการผลการวิเคราะห์มีข้อค้นพบสำคัญ 2 ข้อดังนี้
ข้อค้นพบที่ 1 การปฏิรูปการศึกษาที่มุ่งพัฒนาโรงเรียนเพียงอย่างเดียวจะไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ต่อให้เรายกระดับทรัพยากรในโรงเรียน พัฒนาครู พัฒนาโครงสร้างแรงจูงใจในการทำงาน เปลี่ยนรูปแบบการบริหารจัดการ สิ่งเหล่านี้ก็จะมีบทบาทราว 20% ถึง 26% หรือ1 ใน 4 ของความสำเร็จด้านการเรียนของเด็กแต่ละคนเท่านั้น หากจะให้เด็กมีความสำเร็จในการเรียนมากขึ้น ต้องมองว่าการจัดการศึกษาไม่ได้เกิดขึ้นที่โรงเรียนเท่านั้น เด็กควรถูกเลี้ยงดูให้เติบโตขึ้นมาในระบบนิเวศน์การศึกษาที่โรงเรียน ชุมชน และครอบครัวช่วยกันสร้างขึ้นมา
ด้วยเหตุนี้เอง นโยบายด้านการศึกษาควรให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณลักษณะส่วนตัวของเด็กตั้งแต่ยังเป็นเด็กเล็ก ควบคู่ไปกับการให้ความรู้ความช่วยเหลือกับครอบครัวทั้งด้านทรัพยากรและองค์ความรู้ที่ช่วยให้สามารถเลี้ยงดูเด็กได้อย่างเหมาะสม นอกจากนี้แล้ว ยังต้องจัดหาทรัพยากรทางการศึกษาที่จำเป็นให้กับเด็กที่เด็กสามารถเข้าถึงได้โดยสะดวกนอกเวลาเรียน ซึ่งอาจจะเป็นการจัดหาให้ในระดับครัวเรือน หรือระดับชุมชนก็ได้
ข้อค้นพบที่ 2 ห้องเรียนที่ปฏิบัติกับทุกคนอย่างเท่าเทียมคือห้องเรียนที่เหลื่อมล้ำที่สุด แม้ว่าโรงเรียนจะมีแนวปฏิบัติในคัดเลือกเด็กตามความสามารถให้เด็กที่ประเมินแล้วมีความสามารถใกล้เคียงกันไปอยู่ในห้องเดียวกันโดยเกรดเฉลี่ยหรือคะแนนสอบ แต่เป็นการจัดกลุ่มโดยใช้ “ผล” ที่เกิดขึ้นจากอิทธิพลของปัจจัยทั้ง 4 อย่างที่แสดงไว้ในรูป การจัดเด็กเข้าไปในแต่ละชั้นเรียนควรจัดโดยใช้ “เหตุต้นทาง” เพื่อให้เด็กที่มีลักษณะใกล้เคียงกัน มีรูปแบบการเรียนรู้ที่ตัวเองถนัดเหมือนกันได้อยู่ในห้องเดียวกัน ซึ่งจะช่วยให้การจัดการศึกษาในชั้นเรียนเป็นประโยชน์กับเด็กทุกคนในห้องในระดับที่ใกล้เคียงกันมากที่สุด
ในอดีตการจะใช้ประโยชน์จากข้อค้นพบทั้ง 2 เรื่องนี้ทำได้ยาก แต่ในปัจจุบันเรามีเทคโนโลยี เรามีบุคลากร เรามีองค์ความรู้มากพอแล้ว คำถามจึงไม่ใช่เรื่องควรหรือไม่ควรทำ แต่เป็นการถามกันว่าเมื่อไหร่จะลงมือทำเสียที.