ประเทศไทยกับสิ่งท้าทายด้านสิทธิมนุษยชน

ประเทศไทยกับสิ่งท้าทายด้านสิทธิมนุษยชน

สิทธิมนุษยชน เป็นที่รู้จักกันแพร่หลายทั้งในส่วนของเจ้าหน้าที่ของรัฐและประชาชนมากกว่าเดิมอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีสำหรับประเทศไทย

          แม้ปัจจุบันคำว่า “สิทธิมนุษยชน เป็นที่รู้จักกันแพร่หลายแต่ยังมีสิ่งท้าทายที่สมควรพิจารณาอย่างจริงจังเพื่อแก้ไขหรือเอาชนะในภาพรวมของประเทศไทย สรุปได้ ดังนี้

1.ความรู้ความเข้าใจด้านสิทธิมนุษยชนที่แท้จริงในระดับหนึ่งทั้งของเจ้าหน้าที่ของรัฐทุกระดับและประชาชนทั่วประเทศ ปัจจุบันยังมีความรู้ความเข้าใจกระจุกในเจ้าหน้าที่ของรัฐบางระดับและบางนายกับประชาชนเพียงบางส่วน  

ตัวชี้วัดง่ายๆ ถามเกี่ยวกับความหมายหรือคำนิยาม"สิทธิมนุษยชน" หรือให้ยกตัวอย่างเรื่องที่เกี่ยวกับ"สิทธิมนุษยชน" แล้วจะทำให้ทราบว่ามีความรู้ความเข้าใจเพียงใดหรือไม่  สมควรมีการจัดทำการประเมินว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐทุกระดับรวมทั้งผู้บริหารระดับสูงที่ออกนโยบายเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนกับประชาชนว่ามีความรู้ความเข้าใจด้านสิทธิมนุษยชนมากน้อยเพียงใด โดยสุ่มประเมินบางส่วนที่พอจะถือว่าเป็นตัวแทนของผลการประเมินในภาพรวม

ส่วนใหญ่เจ้าหน้าที่ของรัฐและประชาชนจะเห็นว่าสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องไกลตัวและน่าเบื่อ จึงเป็นสิ่งที่ท้าทายสำหรับหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านสิทธิมนุษยชนศึกษาว่า จะทำอย่างไรให้สิทธิมนุษยชนศึกษาแพร่หลายกว้างขวางทั่วประเทศโดยให้เห็นว่าเป็นเรื่องใกล้ตัวทั้งชีวิตการงานและชีวิตส่วนตัวตลอดจนไม่น่าเบื่อ

จริงๆ แล้วสิทธิมนุษยชนเกี่ยวข้องตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดาจนถึงเชิงตะกอน และสิทธิมนุษยชนศึกษามิใช่จะอยู่แต่ในบทเรียนทางวิชาการเท่านั้น ยังสามารถอยู่ในรูปแบบอื่นๆ ตามสภาวการณ์ปัจจุบัน สอดแทรกในสิ่งด้านบันเทิง เช่น ภาพยนตร์หรือละคร เป็นต้น 

ในส่วนหนึ่งของสิ่งที่ท้าทายสิทธิมนุษยชนศึกษาในขณะนี้ คือ ขาดแคลนวิทยากรที่มีทักษะพิเศษในการถ่ายทอดให้กลุ่มผู้เข้ารับการศึกษาหรืออบรมเห็นว่าเป็นเรื่องใกล้ตัวที่น่าสนใจเป็นประโยชน์ทั้งการทำงานและชีวิตส่วนตัว

หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องควรพิจารณารีบสร้างวิทยากรที่มีทักษะพิเศษให้เพียงพอโดยเร็ว โดยจัดให้มีสิ่งดึงดูดใจผู้มาเป็นวิทยากรในเรื่องสิทธิประโยชน์ (incentive) ต่างๆ ที่น่าสนใจที่มิใช่ตัวเงินด้วย เช่น การมอบรางวัลและประกาศให้สังคมทราบ การให้ไปดูงานหรือเข้าฝึกอบรมเพิ่มเติมทั้งในประเทศและต่างประเทศ เป็นต้น

ปัจจุบันสังคมสนใจให้ความสำคัญกับนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ( Human Rights Defender) แต่ค่อนข้างละเลยไม่สนใจให้ความสำคัญวิทยากร (Human Rights Instructor/Disseminator) เท่าที่ควร หากมีการให้ความรู้เผยแพร่เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนให้กับเจ้าหน้าที่ของรัฐและประชาชนได้ผล การละเมิดก็จะลดน้อยลง รวมทั้งความขัดแย้งระหว่างนักปกป้องสิทธิมนุษยชนกับเจ้าหน้าที่ของรัฐก็จะลดลงด้วย

2. การเปลี่ยนความคิด ( Mind Set) ของเจ้าหน้าที่รัฐบางส่วน จาก"สิทธิมนุษยชนเป็นข้อจำกัดหรืออุปสรรคในการปฏิบัติงาน"เป็น"สิทธิมนุษยชนมีส่วนสำคัญในการบรรลุภารกิจสำเร็จลุล่วงด้วยดีและเป็นที่ยอมรับเชื่อถือของประชาชน"  

คือ ต้องเปลี่ยนความคิดจากลบเป็นบวก หากยังมีความคิดเป็นลบมีส่วนทำให้ใจไม่ยอมรับและไม่เข้าใจในสิทธิมนุษยชน จะมีโอกาสสูงมากที่ปฏิบัติหน้าที่ผิดพลาดไปละเมิดสิทธิมนุษยชนแล้วมีผลกระทบต่อตัวเองอาจทำให้ต้องรับผิดทางอาญา แพ่ง และวินัยได้ ตลอดจนมีผลกระทบต่อภาพพจน์หรือภาพลักษณ์ของหน่วยต่อไป แต่หากคิดเป็นบวกย่อมจะไม่มีผลกระทบต่อตัวเองและหน่วย

3. หน่วยงานของรัฐนำความเห็นหรือข้อเสนอแนะของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ไปพิจารณาดำเนินการอย่างจริงจัง กสม.เป็นหนึ่งในองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน มีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนแล้วเสนอมาตรการแก้ไขต่อบุคคลหรือหน่วยงานของรัฐ หากไม่ดำเนินการให้รายงานต่อรัฐสภา หรือเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรี ไม่มีอำนาจหน้าที่ให้คุณให้โทษต่อเจ้าหน้าที่รวมทั้งหน่วยงานของรัฐได้เหมือนองค์กรอิสระอื่นๆ เช่น คณะกรรมการ ป.ป.ช. ทำให้เจ้าหน้าที่ของรัฐและหน่วยงานของรัฐไม่สนใจหรือให้ความสำคัญกับความเห็นหรือข้อเสนอแนะของ กสม.เท่าที่ควร ซึ่งพิจารณาเห็นว่าอำนาจหน้าที่ดังกล่าวของ กสม.ก็เหมาะสมและเป็นไปตามหลักสากล

สำหรับในต่างประเทศการรายงานการละเมิดสิทธิมนุษยชนของ กสม.ต่อรัฐสภาหรือแจ้งให้สังคมทราบ จะส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐและหน่วยงานของรัฐ ไม่จำเป็นต้องให้คุณให้โทษได้เหมือนองค์กรอิสระอื่น การทำให้เจ้าหน้าที่ของรัฐหรือหน่วยงานของรัฐสนใจหรือให้ความสำคัญต่อความเห็นหรือข้อเสนอแนะของ กสม.นั้น ไม่จำเป็นต้องไปแก้ไขปรับปรุงกฎหมายเพื่อเพิ่มอำนาจแต่อย่างใด สามารถดำเนินการได้สามประการ ดังนี้

             1.) ประสานงานกับบริษัท ทริส คอร์ปอเรชั่น จำกัด (TRIS) ซึ่งมีหน้าที่เจรจาจัดทำตัวชี้วัดกับหน่วยงานของรัฐ โดยขอให้มีการกำหนดตัวชี้วัดที่มีคะแนนเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักมากพอสมควรและไม่ง่ายเกินไปเกี่ยวกับการคุ้มครองและการละเมิดสิทธิมนุษยชนของหน่วยงานของรัฐ ปัจจุบันเป็นที่ทราบกันดีว่าทุกหน่วยงานของรัฐและผู้บริหารให้ความสำคัญกับตัวชี้วัดเป็นอย่างยิ่ง

             2.) คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. .... ทั้งของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ขอให้ กสม.มาให้ข้อมูลในระหว่างการประชุมพิจารณาว่าปีงบประมาณที่ผ่านมามีหน่วยงานของรัฐคุ้มครองส่งเสริมหรือละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่ เพียงใด เพื่อประกอบการพิจารณาจัดสรรงบประมาณต่อไป เป็นที่ทราบกันดีว่างบประมาณรายจ่ายของแต่ละหน่วยงานของรัฐเป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนการปฏิบัติราชการ นอกจากนั้น กสม.ควรพิจารณาแก้ไขปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อเพิ่มอำนาจหน้าที่ให้สามารถนำเสนอข้อมูลด้านสิทธิมนุษยชนของหน่วยงานของรัฐให้กับคณะกรรมาธิการวิสามัญดังกล่าวได้ด้วย

              และ 3.) กสม.เผยแพร่ให้หน่วยงานของรัฐและสาธารณชนทราบอย่างกว้างขวางว่า ความเห็นหรือข้อเสนอแนะของ กสม.โดยเฉพาะเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนสามารถนำไปอ้างอิงเป็นพยานหลักฐานที่น่าเชื่อถือต่อองค์กรอื่น เช่น ศาลปกครอง ศาลยุติธรรม หรือคณะกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือหน่วยงานของรัฐทั้งทางคดีอาญา แพ่ง หรือวินัยต่อไป หากมีการดำเนินการทั้งสามประการข้างต้น จะส่งผลให้บทบาทของ กสม.เป็นที่ยอมรับของหน่วยงานของรัฐและเชื่อถือของประชาชนยิ่งขึ้น

4. บทบาทของภาคเอกชนในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ปัจจุบันยังมีความเข้าใจที่คลาด เคลื่อนอย่างกว้างขวางว่าเป็นเพียงหน้าที่เฉพาะของหน่วยงานของรัฐเท่านั้นที่มีหน้าที่ต้องส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน แท้จริงแล้วภาคเอกชนหรือภาคธุรกิจทั้งมีส่วนเกี่ยวข้องและมีหน้าที่ส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนด้วย

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจน คือ มีหน้าที่คุ้มครองปกป้องสิทธิมนุษยชนของพนักงานลูกจ้าง หรือการประกอบกิจการธุรกิจที่ต้องรับผิดชอบต่อสังคมหรือผู้บริโภคตลอดจนสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชนด้วย ในเรื่องนี้นี้ขอยกย่องชื่นชม กสม.ชุดที่มี นายวัส ติงสมิตร เป็นประธานกรรมการ และนางประกายรัตน์ ตันธีรวงศ์ เป็นกรรมการ ที่ได้ริเริ่มนำเสนอหลักการชี้แนะของสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (UN Guiding Principles on Business and Human Rights - UNGPs) ให้เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายในประเทศไม่ว่าจะเป็นการจัดการประชุม การสัมมนา หรือการบรรยาย

กสม.ชุดปัจจุบันและชุดต่อๆ ไป รวมทั้งหน่วยงานของรัฐ เช่น กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ควรขยายผลต่อไปร่วมกับสภาหอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรม หอการค้าต่างประเทศต่างๆ  หอการค้านานาชาติแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย เป็นต้น ในการขับเคลื่อนเรื่องนี้ให้สัมฤทธิ์ผลต่อไป

5. การเข้าใจและยอมรับนับถือซึ่งกันและกันระหว่าง NGO และนักปกป้องสิทธิมนุษยชนกับหน่วยงานของรัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐ การไม่เข้าใจและการไม่ยอมรับระหว่างสองฝ่ายข้างต้นเกิดขึ้นในทุกประเทศ จะบอกว่าเป็นเรื่องธรรมชาติหรือธรรมดาแล้วปล่อยไว้ไม่สนใจที่จะพยายามแก้ไขเลยก็ไม่ถูกต้อง

กสม. กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม และสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย ควรร่วมพิจารณาดำเนินการหาหนทางลดการไม่เข้าใจและการไม่ยอมรับซึ่งกันและกันของทั้งสองฝ่าย

โดยเฉพาะอย่างยิ่งฝ่ายแรกต้องมีเจตนาหรือวัตถุประสงค์บริสุทธิ์ มีเหตุผลในการปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ปราศจากอคติความคิดว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐมักหรือชอบละเมิดสิทธิมนุษยชน และฝ่ายแรกไม่มีวาระซ่อนเร้น ส่วนฝ่ายหลังก็ต้องพยายามเข้าใจถึงความปรารถนาดีของฝ่ายแรกเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม และให้ความสำคัญกับสนใจการคุ้มครองปกป้องสิทธิมนุษยชนมากยิ่งขึ้น การทำให้ปราศจากอคติเป็นเรื่องที่ยาก แต่ต้องทำ ที่สามารถทำได้ คือ การลดอคติให้มากที่สุด

     สรุป สิ่งที่ท้าทายข้างต้นไม่ได้เป็นเรื่องยากสุดวิสัยที่จะแก้ไขหรือเอาชนะไม่ได้แต่อย่างใด ทุกปัญหามีทางออก มิใช่ทุกทางออกมีปัญหา เพียงยอมรับร่วมกันว่าเป็นสิ่งท้าทาย ก็ถือได้ว่าเป็นนิมิตรหมายอันดีของประเทศและการคุ้มครองปกป้องและส่งเสริมสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย หากองค์กรหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปพิจารณาดำเนินการเชิงรุกอย่างจริงจังต่อไป มั่นใจได้ว่าประชาชนเจ้าของประเทศจะได้รับประโยชน์อย่างแน่แท้.

*บทความโดย พลเอก กฤษณะ บวรรัตนารักษ์ กรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม