วัคซีนโควิด-19 ภูมิคุ้มกันหมู่ และ HackVax

วัคซีนโควิด-19 ภูมิคุ้มกันหมู่ และ HackVax

ตั้งแต่โลกรู้จักกับวัคซีนเมื่อสัก 150 ปีที่ผ่านมานั้น การพัฒนาวัคซีนเพื่อให้สามารถฉีดกับประชาชนในยุคแรกๆ

 ที่ทำวัคซีนไข้ไทฟอยด์นั้นใช้เวลาพัฒนาร้อยกว่าปีก่อนที่จะใช้งานจริง หรือวัคซีนป้องกันหัด (Measles) ที่จัดว่าใช้เวลาอันสั้นก็พัฒนาเป็นสิบปีกว่าจะใช้งานจริง หรือแม้กระทั่ง   อีโบลา ก็ใช้เวลาเกือบห้าทศวรรษ ดังที่เห็นในรูปข้างล่าง

1622092375100

 แต่วัคซีนโควิด-19 ที่กำลังฉีดกันนั้น ใช้เวลาพัฒนาน้อยกว่าสองปี จากเทคโนโลยีที่แตกต่างกันไป ดังที่เราทราบกัน ทั้งแบบเชื้อตาย แบบไวรัสเวคเตอร์ และ mRNA ซึ่งทั้งสามประเภทล้วนได้รับการอนุมัติแบบฉุกเฉินจากองค์กรอาหารและยาในประเทศต่างๆ เนื่องจากความจำเป็นเร่งด่วนจากภาวะการระบาดอย่างรุนแรงของโควิด-19 อย่างที่เราทราบกัน ซึ่งก็หมายความว่า การศึกษาผลกระทบหรืออาการข้างเคียงของวัคซีนแต่ละประเภทนั้น อาจจะยังไม่สมบูรณ์เหมือนวัคซีนในโรคอื่นๆ ที่ใช้เวลาพัฒนานานกว่ามาก 

และนี่ก็คงเป็นสาเหตุที่การรวบรวมสถิติต่างๆ นั้นเป็นข้อมูลที่มีการอัพเดทและเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เพราะข้อมูลจากการทดลองยังน้อย จึงต้องรอผลจริงจากการฉีด อีกทั้งความหลากหลายของชาติพันธุ์ของมนุษย์เราก็อาจจะมีปฏิกิริยาตอบสนองที่แตกต่างกันออกไป ผลที่เกิดกับชาติพันธุ์หนึ่งอาจจะไม่เกิดกับอีกชาติพันธุ์หนึ่ง ซึ่งล้วนแล้วแต่ต้องรอผลสถิติที่จะเกิดขึ้น การแชร์ข้อมูลจากแหล่งต่างๆ น่าจะทำให้เกิดความสับสนได้ไม่น้อยนะครับ จึงควรที่จะรับรู้รับฟังด้วยสติแบบตระหนักแต่ไม่ตระหนกกันนะครับ 

มีข้อมูลจากนักวิทยาศาสตร์ที่คาดกันว่า เมื่อฉีดวัคซีนกันครบสักร้อยละ 60 ของประชากรแล้ว น่าจะทำให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ (Herd Immunity) ขึ้นได้ แล้วทำให้การระบาดนั้นหายไป เราจึงเห็นในประเทศสหรัฐที่มีการชักจูงให้คนมาฉีดกัน ทั้งแจกเบียร์หลังฉีดวัคซีนที่นิว เจอร์ซีย์จนถึงแจกล็อตเตอรี่ 1 ล้านเหรียญสหรัฐในรัฐโอไฮโอ เป็นต้น แต่ยังมีข้อสังเกตอีกสองข้อจากนักวิทยาศาสตร์คือ ข้อแรก การกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสจากการคำนวณของ Foundation of Vaccine Research in Washington DC พบว่าอาจจะต้องฉีดถึงร้อยละ 75 เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ แต่หลังจากตรวจพบโควิดพันธุ์อังกฤษที่ติดต่อกันได้งายขึ้น อาจจะต้องฉีดกันถึงร้อยละ 80 ของประชากร และว่ากันว่า สายพันธุ์อินเดียที่ติดต่อกันได้ง่ายกว่าสายพันธุ์อังกฤษอีกนั้น อาจจะหมายถึงต้องฉีดกันมากกว่านั้นอีก 

และประการที่สองที่ทำให้สับสนคือ ความเข้าใจที่ว่า พอประชากรฉีดถึงร้อยละ 75 หรือ 80 แล้ว การระบาดจะหยุดหายไปเลย แบบปิดสวิตช์ไฟ ซึ่งก็ไม่น่าจะใช่ แต่น่าจะเป็นปรากฏการณ์ที่ยังมีการติดอยู่ในอัตราที่น้อยลงเรื่อยๆ เมื่อคนติดแล้วก็ติดต่อกันยากขึ้น ช้าลง แล้วค่อยๆ หายไป เหมือนอย่างการเป็นโปลิโอ ที่ค่อยๆ จางหายไปจากโลกนี้และใช้เวลาหลายสิบปีทีเดียว โรคโควิด-19 ก็คงต้องใช้เวลาอีกหลายปีกว่าจะถึงจุดภูมิคุ้มกันหมู่เช่นนั้น 

ก่อนจะถึงจุดนั้น ซึ่งคงต้องใช้เวลาอีกหลายปี ช่วงนี้การเร่งฉีดวัคซีนจึงเป็นเรื่องใหญ่และสำคัญ ในเมืองไทยเรา ได้มีผู้ค้นคิดกระบวนการ HackVax จากการรวมตัวของอาสาสมัครจากหลากหลายสาขาอาชีพ นักนวัตกรรม นักออกเเบบ นักสื่อสาร สถาปนิก ทีมเเพทย์ ฯลฯ ร่วมกับนักวิจัยจาก MIT เพื่อออกเเบบกระบวนการฉีดวัคซีนที่มีประสิทธิภาพเเละสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับผู้มารับบริการ ใช้หลัก design thinking โดยคำนึงถึงผู้รับบริการฉีดวัคซีนเป็นหลัก  เริ่มต้นที่จังหวัดนครราชสีมา โดยใช้หลักคิดสามข้อ :

  1. Human-Centered Design: การออกเเบบที่ลื่นไหลไปกับความต้องการ โดยใช้มนุษย์เป็นศูนย์กลางของการออกเเบบ
  2. Design with Data for Scale: การออกเเบบที่นำข้อมูลจริงมาใช้เป็นปัจจัยในการออกเเบบเพื่อนำไปสู่ประสิทธิภาพและการขยายผล
  3. Opensource Design: งานออกเเบบเป็น Opensource ภายใต้ MIT License ทำให้มีอิสระที่จะนำไปต่อยอดเเละพัฒนาต่อให้ดียิ่งขึ้น

และครอบคลุม 4 กระบวนการ

  1. Understanding the User Journey - กำหนดขั้นตอนทั้งหมดในการฉีดวัคซีน และเวลาที่ใช้ในแต่ละขั้นตอน โดยคำนึงถึงความหลากหลายของผู้คนที่จะมาใช้บริการ ซึ่งจะนำไปสู่ความเข้าใจว่าตรงไหนคือคอขวด และจะตัดหรือเปลี่ยนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นได้อย่างไร
  2. Scaling up the Site - มุ่งเป้าไปที่กระบวนการรองรับผู้มาใช้บริการให้ได้มากขึ้น เป็นการออกแบบทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด รวมถึงการมีทางเลือกในสถานการณ์ไม่คาดคิดต่างๆ เช่น หากระบบออนไลน์ล่ม หรือถ้ามีผู้ประสงค์ต้องการฉีดวัคซีนที่ไม่ได้ลงทะเบียนฉีดมาเข้ารับบริการ จะทำอย่างไร
  3. Signage & Direction - ออกแบบป้ายต่างๆ เพื่อความเข้าใจชัดเจน ทั้งในการบอกทิศทาง สร้างเส้นทางเดินที่เว้นระยะห่างมากพอเพื่อไม่ให้เกิดการเเพร่เชื้อ ให้ความสำคัญตั้งแต่การเลือกใช้โทนสี เขียว ขาว เทา เเละดำ ซึ่งมีผลทางจิตวิทยาในการลดความตึงเครียดเเละสร้างความผ่อนคลาย
  4. Humanizing the Process - สร้างความประทับใจให้กับผู้มาใช้บริการ นำไปสู่การบอกต่อในวงกว้าง เช่นการ์ดขอบคุณ ภาพ backdrop สำหรับการถ่ายรูป ฯลฯ เพื่อให้เกิด viral movement ที่จะช่วยรณรงค์ให้คนมาฉีดวัคซีนมากยิ่งขึ้น 

โดยการทำงานในพื้นที่จริงของทีม HackVax ที่โคราช สามารถฉีดวัคซีนให้ได้วันละ 5,000 ถึง 6,000 คน และบางจากฯ ก็ได้รับความร่วมมือจากทีมอาสา HackVax มาช่วยออกแบบกระบวนการที่ “หน่วยฉีดวัคซีนปันสุข” สำหรับประชาชนหน้าโรงกลั่นบางจาก โดยมุ่งเน้นจัดการในบริบทที่ต่างไป เช่นการใช้พื้นที่ในโดมกลางแจ้ง และการเตรียมการสำหรับกลุ่มผู้ใช้บริการที่มีความแตกต่างกันด้วย ซึ่งผมก็หวังว่าหน่วยฉีดวัคซีนที่บางจากจะเป็นส่วนหนึ่งที่ร่วมสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้ประเทศไทยของเราได้

มาฉีดวัคซีนกันนะครับ