ความสำเร็จของ "แฟลช" เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ปลุกพลัง ปลุกฝันครั้งใหม่ให้วงการสตาร์ทอัพไทย
มีเรื่องน่ายินดีเกิดขึ้นใน “วงการสตาร์ทอัพ” ประเทศไทยเมื่อ “แฟลช กรุ๊ป” ผู้ให้บริการอีคอมเมิร์ซสัญชาติไทยครบวงจร และเป็นบริษัทแม่ของแฟลช เอ็กซ์เพรส ผู้ให้บริการขนส่งเอกชน สามารถปิดดีลยักษ์จากการระดมทุนรอบซีรีย์ D+ และ ซีรีย์ Eคว้าเงินลงทุนจากกองทุนสิงคโปร์ และบิ๊กคอร์ปใหญ่ของไทยรวมกว่า 150 ล้านดอลลาร์หรือประมาณ 4,700 ล้านบาท
พร้อมก้าวขึ้นไปเป็น “ยูนิคอร์น” รายแรกในไทยทั้งยังเป็นสตาร์ทอัพไทยรายแรกที่สามารถระดมทุนรวมได้มากที่สุดในระยะเวลาเพียงแค่ 3 ปีทำให้ธุรกิจมีมูลค่ามากกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์หรือมากกว่า 30,000 ล้านบาท
โดยกลุ่มผู้ลงทุนคือ SCB 10X, บริษัทจันวาณิชย์ ซีเคียวริตี้ พริ้นท์ติ้ง จำกัด, กลุ่มทุนจากสิงคโปร์Buer Capital, รวมถึงผู้ลงทุนเดิมอย่าง eWTP, บริษัทปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือโออาร์,บริษัท เดอเบล จำกัด (Durbell) ภายใต้กลุ่มธุรกิจ TCP บริษัท กรุงศรี ฟินโนเวต จำกัดในเครือกรุงศรี กรุ๊ป
หลายปีที่ผ่านมาประเทศไทยมีความพยายามที่จะผลักดันให้สตาร์ทอัพแจ้งเกิด หวังสร้างยูนิคอร์นให้เกิดขึ้น และเพิ่งจะสำเร็จเป็นครั้งแรก แต่ก็ต้องยอมรับว่าในความเป็นจริง แม้สามารถเดินหน้าไปได้ดีในระดับหนึ่ง ภาครัฐมีความตื่นตัว มีหลายหน่วยงานพยายามจัดทำโครงการมาช่วยสนับสนุน แต่อาจยัง “ช้าเกินไป” โลกธุรกิจต้องการอัตราเร่งที่มากกว่านั้น หรือหากเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคเดียวกันไทยเรานับว่ายังทำได้ไม่ดีเท่า
แม้จะผ่านมาหลายปีแต่เรื่องที่ยังถูกหยิบยกขึ้นมา “บ่น” กันเมื่อมีการตั้งวงสนทนา หนีไม่พ้น “กฎหมาย” ที่ไม่ค่อยเอื้ออำนวย ดังที่จะได้เห็นว่าหลายๆ บริษัทแม้ว่าจะมีถิ่นฐานรกราก นั่งทำงานกันอยู่ในประเทศไทย แต่การจดทะเบียนบริษัทกลับต้องทำที่ประเทศสิงคโปร์เพราะกฏเกณฑ์เอื้อต่อการทำธุรกิจมากกว่า
อีกปัญหาที่สำคัญหนีไม่พ้นเรื่อง “การระดมเงินลงทุน” ที่แม้บางรายจะเป็นบริษัทที่หากประสบความสำเร็จได้ในอนาคตจะสร้างผลกระทบอย่างมหาศาลต่อเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิต แต่หากไม่ใช่ธุรกิจที่หวือหวาหรือดูแล้ว “เซ็กซี่” มากพอ ก็เป็นไปได้ยากที่จะดึงดูดให้นักลงทุนเข้ามาลงทุน
หรือบางรายมีความน่าสนใจแต่เม็ดเงินที่ต้องการระดมทุนมีมูลค่าสูงก็คงไม่ง่ายที่หาคนที่พร้อมเปย์ ทุ่มทุนมากขนาดนั้น เมื่อยังไม่ได้มียูสเคสมาพิสูจน์ความสามารถว่าทำได้จริง ทำได้ดีมากน้อยแค่ไหน
ยิ่งทุกวันนี้มีปัจจัยท้าทายจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 เข้ามาส่งผลกระทบ ยิ่งทำให้นักลงทุนมีความระมัดระวังมากขึ้น ซึ่งต้องยอมรับว่าคงไม่มีใครอยากแบกรับความเสี่ยง ไม่อยากยืนอยู่บนความไม่แน่นอน หากไม่สามารถมองเห็นว่ามีอนาคตที่สดใสรออยู่
สตาร์ทอัพยุคนี้ยังคงต้องฝ่าฟันอุปสรรคที่หนักหนาสาหัสอยู่เหมือนเดิม แน่นอนว่าการเปลี่ยนแปลงคงทำไม่ได้ง่ายๆ จะพูดอย่างไรก็ได้เพื่อให้ดูสวยหรู แต่การปฏิบัติจริงย่อมมีข้อจำกัด
ท้ายที่สุด จากความสำเร็จของแฟลชครั้งนี้ก็ยังพอมีความหวังว่า จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ที่จะมาช่วยปลุกพลัง ปลุกฝันครั้งใหม่ให้วงการสตาร์ทอัพไทย และในอนาคตที่ไม่ไกลจนเกินไปจะเกิดความร่วมมือระหว่างกันจากหลายภาคส่วนที่เข้มข้นจริงจัง เพื่อทำให้เกิดการ synergy ทำให้ขีดความสามารถด้านเทคโนโลยีและอินโนเวชั่นของประเทศไทยเกิดขึ้นได้จริงอย่างเป็นรูปธรรม
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
แจกเงินหมื่นเฟส 2 อายุ 60 ปีขึ้นไป ได้ช่วงตรุษจีน 68 พร้อมอัปเดต เฟส 3 ได้ตอนไหน
22 พ.ย. 2567 | 22:30ราชกิจจาฯ กำหนดอัตราเงินสะสมและเงินสมทบกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง พ.ศ. 2567
22 พ.ย. 2567 | 21:05สภาการสื่อมวลชน พร้อมภาคีสมาชิกสื่อ 11 ฉบับ KICK OFF โครงการสร้างเสริมทักษะเท่าทันสื่อเพื่อเด็ก
22 พ.ย. 2567 | 20:49