ฟื้นเศรษฐกิจด้วยความเชื่อมั่น

ฟื้นเศรษฐกิจด้วยความเชื่อมั่น

เมื่อเร็ว ๆ นี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยได้คาดการณ์เกี่ยวกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยว่า ต้องรอไปจนถึงไตรมาสที่หนึ่งของปี 2566

            เพราะผลกระทบจากการระบาดของโควิดในระลอกที่สาม และปัญหาเรื่องการกระจายฉีดวัคซีนที่ยังไม่ทั่วถึงและล่าช้า ซึ่งอันที่จริงแล้ว ปัญหาเหล่านี้ดูไม่ต่างไปจากของประเทศเพื่อนบ้านในเอเชีย เช่น มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ พม่า เวียดนาม ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และไต้หวัน เป็นต้น เพราะต่างก็กำลังประสบกับปัญหาเรื่องการระบาดของโควิดระลอกใหม่ที่ส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจกันทั้งนั้น

 แต่ในทางตรงกันข้าม เศรษฐกิจโลกกลับกำลังฟื้นตัวตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา กลุ่มสหภาพยุโรป และจีน โดยเฉพาะในกรณีของสหรัฐอเมริกานั้น ก็พบว่าตัวเลขการจ้างงานเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาได้ปรับตัวดีขึ้นชัดเจน และตลาดหุ้นในสหรัฐก็ยังคงสดใสต่อไปได้อีก ในขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟด (Fed) มั่นใจว่าจะสามารถควบคุมเงินเฟ้อไว้ได้ โดยอิงจากข้อมูลแนวโน้มเงินเฟ้อในสี่ห้าปีข้างหน้าที่ชี้ว่ายังอยู่ในเกณฑ์ที่จะยอมรับกันได้

ดังนั้น เฟดจึงยังคงจะไม่ปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเชิงนโยบายในตอนนี้ แต่เฟดจะเริ่มทยอยขายหลักทรัพย์ของสถาบันการเงินที่เฟดซื้อมาถือไว้ก่อนหน้านี้ การไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเชิงนโยบายย่อมจะเป็นผลดีต่อตลาดหุ้นเองด้วย

อย่างไรก็ตาม ก็มีนักเศรษฐศาสตร์จำนวนไม่น้อยที่เห็นต่างไปจากเฟด และเชื่อว่าปัญหาเงินเฟ้อจะทวีความรุนแรงมากขึ้น เนื่องจากว่าภาคครัวเรือนจะใช้จ่ายเพื่อการบริโภคเพิ่มขึ้นเพื่อชดเชยกับความต้องการที่ถูกเก็บอั้นมาตลอดหนึ่งปีครึ่งที่ผ่านมา อาทิ ความต้องการซื้อบ้านอยู่อาศัยและรถยนต์ เป็นต้น

ทำให้ภาคธุรกิจอุตสาหกรรมต้องเร่งเพิ่มกำลังการผลิตจนนำไปสู่ปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางในที่สุด เพราะสินค้าคงคลังที่สำรองไว้มีเหลืออยู่น้อยเต็มที ซึ่งก็จะกดดันให้ราคาต้นทุนวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางปรับตัวสูงขึ้นจนกลายเป็นแรงกดดันต่อภาวะเงินเฟ้อในที่สุด

ผลกระทบของเงินเฟ้อต่อเศรษฐกิจไทยยังไม่ชัดเจนนักในตอนนี้ แต่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกจะส่งผลดีต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยแน่นอน ซึ่งก็เห็นได้จากการฟื้นตัวของภาคการส่งออกไทยในปีนี้ที่คาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 10-15% และสิ่งที่ภาครัฐควรจะต้องช่วยเพิ่มเติมก็คือ การลดความเสี่ยงของการระบาดใหม่ในกลุ่มคลัสเตอร์โรงงานให้ได้ดีกว่าเดิม

โดยเริ่มจากการเร่งฉีดวัคซีนให้กับแรงงานในโรงงานต่าง ๆ ให้ทั่วถึงเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ที่เอื้อต่อการผลิตสินค้าส่งออกให้ได้ต่อเนื่อง และหากจะเกิดการระบาดเพิ่มในกลุ่มโรงงานก็ตาม ภาครัฐและเจ้าของโรงงานก็ควรต้องช่วยกันรับภาระเรื่องการจ่ายค่าแรงให้กับแรงงานทุกคนที่ต้องหยุดงานเพื่อกักรักษาตัว ทั้งนี้ก็เพื่อไม่ให้แรงงานเหล่านั้นต้องดิ้นรนหนีไปแพร่เชื้อโรคในพื้นที่อื่นโดยไม่จำเป็น

ที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยก็ไม่ได้พึ่งพาเพียงแค่เรื่องการส่งออกเท่านั้น แต่เรายังต้องพึ่งพารายได้ที่มาจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาใช้บริการปีละจำนวนมาก ๆ แต่ในยามไม่ปกติที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ลดหายไปเป็นจำนวนมาก การเริ่มฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกจะไม่ช่วยให้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นได้เท่าเดิมโดยอัตโนมัติ

 ถ้าหากว่าประชาชนในประเทศนี้ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้ได้ทันกับโอกาสที่กำลังมาถึง และตัวชี้วัดแรกที่เราจะเห็นกันในไม่ช้านี้ว่าจะสำเร็จหรือไม่ ก็คือกรณี “ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์นั่นเอง วิธีที่ภาครัฐควรรีบทำเพื่อลดการสูญเสียโอกาสในเรื่องนี้ ก็คือการเร่งนำเข้าวัคซีนทางเลือกในจำนวนที่มากพอเพื่อฉีดให้กับคนไทย และหากจะมีวัคซีนเหลือเกินพอแล้ว เราก็ยังนำไปฉีดให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับทุกฝ่ายได้ จึงนับเป็นการลงทุนที่คุ้มยิ่งกว่าคุ้ม

อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้ก็ยังคงไม่เพียงพอที่จะช่วยฟื้นเศรษฐกิจไทยได้ เพราะไม่อาจชดเชยกับการลงทุนของภาคเอกชนจากทั้งในและนอกประเทศที่หดหายไป ดังนั้น หากภาครัฐไม่สร้างความเชื่อมั่นให้ภาคเอกชนเพิ่มเติมด้วยการ () ตัดลดรายจ่ายที่ไม่เร่งด่วนเพื่อนำไปให้กับเรื่องที่มีความเร่งด่วนมากกว่า และ () ปรับเรื่องการเสนอตัวเพื่อเข้าร่วมลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ของภาคเอกชน ให้เกิดการแข่งขันจริงที่เป็นธรรมและโปร่งใสแล้ว  ก็ยากที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนเอกชนในเรื่องการแก้ปัญหาให้ได้ผลจริง

ที่ผ่านมามาตรการแจกเงินของรัฐในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การแจกเงินแบบให้เปล่าที่จำแนกตามกลุ่มอาชีพ หรือโครงการคนละครึ่ง เป็นต้นนั้น ช่วยได้เพียงบรรเทาความเดือดร้อนบางส่วนจากมาตรการล็อกดาวน์เท่านั้น แต่ไม่มีผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจมากนัก เพราะประชาชนทั่วไปต่างทราบดีว่า มาตรการเหล่านี้เป็นเพียงมาตรการชั่วคราวเท่านั้น พวกเขาจึงต้องเก็บเงินเยียวยาส่วนใหญ่เอาไว้ก่อน (หากเก็บได้) เพื่อเตรียมรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินหากมีการระบาดระลอกใหม่

เหตุการณ์ทำนองนี้เคยเกิดขึ้นแล้วในสหรัฐเมื่อครั้งที่ได้ออกมาตรการเยียวยาสองรอบแรกในสมัยประธานาธิบดีทรัมป์ เพราะมีตัวเลขผลการศึกษาที่ยืนยันได้ว่า เงินช่วยเหลือเยียวยาที่จ่ายให้กับชาวอเมริกันในสองรอบแรกนั้นกลับไม่ได้ถูกนำไปใช้จ่ายเพิ่ม เพราะต้องการเก็บไว้เป็นเงินออมเพื่อรับมือกับความไม่แน่นอนในอนาคตแทน ซึ่งหมายความว่า “ผลของตัวคูณตามแนวคิดเศรษฐศาสตร์สำนักเคนส์ ไม่เป็นจริงกับกรณีนี้

แต่พลันที่สหรัฐเริ่มดำเนินการฉีดวัคซีนได้อย่างทั่วถึงมากขึ้น ประธานาธิบดีไบเดนก็ได้เร่งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ควบคู่กันไปด้วย ปรากฏว่าเที่ยวนี้ ประชาชนอเมริกันที่เริ่มมีความเชื่อมั่นต่อแนวทางการแก้ปัญหาโควิดด้วยวัคซีนมากขึ้นแล้ว พวกเขาจึงยอมนำเงินออมออกมาใช้จ่ายมากขึ้น ทั้งนี้ก็เพื่อชดเชยกับความต้องการบริโภคที่ถูกเก็บอั้นไว้นาน ส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐฟื้นตัวได้โดยเร็ว  

จึงไม่น่าแปลกใจว่า เหตุใดเมื่อครั้งที่รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจของไทยได้ออกมาชี้ชวนให้คนไทยที่พอมีเงินออม ให้ช่วยชาติด้วยการใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้นนั้น จึงไม่มีใครเชื่อหรือปฏิบัติตามคำเชิญชวน ทั้งนี้ เพราะความเชื่อมั่นนั้นสำคัญกว่าคำพูด ดังนั้นหากรัฐบาลต้องการจะกระตุ้นเศรษฐกิจให้ได้ผล ก็ต้องสร้างความมั่นใจให้กับอนาคตของเศรษฐกิจไทยก่อน โดยมีสิ่งที่ควรทำคือ ควรแก้ปัญหาวัคซีนไม่พอด้วยการปลดล็อก ”วัคซีนทางเลือกอย่างจริงจังรวดเร็ว หลังจากนั้น ภาครัฐควรเร่งปรับแผนงานที่มีอยู่แล้วเพื่อแก้ปัญหาเรื่องภาระหนี้ของครัวเรือนยากจนให้ได้ผลจริง และแก้ปัญหาเรื่องการขาดสภาพคล่องของผู้ประกอบการรายเล็กรายน้อยให้ได้จริงด้วย โดยผลงานทั้งหมดนี้จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวกลับมาได้

เมื่อเกิดความเชื่อมั่นแล้ว ประเทศไทยก็จะมีโอกาสได้เห็นสัญญาณการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่รวดเร็ว โดยอาจเริ่มตั้งแต่ไตรมาสแรกของปี 2565 แทนที่จะเป็น 2566.