จีนจับมือเอกชนร่วมแก้จน

จีนจับมือเอกชนร่วมแก้จน

ถ้าแก้ปัญหาปากท้องไม่ได้ ปัญหาอื่นๆ ก็อย่าไปพูดถึง  เราคงเคยได้ยินคำพูดทำนองนี้กันบ่อยๆ  เพราะเรื่องปากท้อง ความยากจน เป็นปัญหาสำคัญจริงๆ

ปัญหาปากท้องและความยากจน เป็นหนึ่งในเป้าหมายสำคัญที่แต่ละประเทศพยายามแก้ไขเพื่อให้พลเมืองมีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น  แต่ความยากของการแก้จนของหลายๆประเทศก็คือ นโยบายของภาครัฐที่ออกไปค่อนข้างกว้างๆ เลยทำให้ไม่สามารถแก้ไขปัญหาความยากจนของประชาชนทุกคนได้  เพราะปัญหาความจนของประชาชนแต่ละคน แต่ละกลุ่มก็มีปัญหาที่แตกต่างกันไป พื้นฐานและศักยภาพ รวมถึงต้นทุนของคนก็ต่าง  อีกทั้งยังมีความแตกต่างอันเนื่องจากสภาพท้องถิ่นที่ต่างกันไปด้วย จึงทำให้ความจริงแล้วการแก้จนต้องการนโยบายที่แตกต่างกัน  อย่างไรก็ดีลำพังศักยภาพและขนาดของภาครัฐก็ทำให้ไม่อาจแก้ไขปัญหาความยากจนของทุกคนได้อย่างตรงจุด

แนวคิดในการแก้จนแบบมีส่วนร่วมจึงสำคัญและเป็นสิ่งที่ทำได้  หรือพูดง่ายๆว่า ภาคเอกชนหรือภาคประชาสังคมสามารถมีส่วนร่วมกับภาครัฐในการแก้ไขปัญหาความยากจนได้ภายในคอนเซ็ปต์ Public-Private-Voluntary-Initiative หรือ PPVI ซึ่งเป็นความร่วมมือโดยสมัครใจของภาคสังคมในการแก้ไขปัญหาสาธารณะ

หากมองไปยังจีนซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศขนาดใหญ่ที่มีความพยายามแก้ไขปัญหาความยากจนมาโดยตลอด  เราจะเห็นได้ว่า ผู้มีบทบาทสำคัญไม่ได้มีเพียงภาครัฐของจีนเท่านั้น หากแต่ภาคเอกชนต่างก็มีส่วนร่วมในการดำเนินงานเพื่อแก้ปัญหาสังคมในลักษณะของ PPVI

ตัวอย่างที่น่าสนใจของบทบาทของภาคเอกชนในการช่วยบรรเทาความยากจนในจีนสามารถเห็นได้จากภาคพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ หรือ อีคอมเมิร์ซ  เราจะเห็นได้ว่าแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซของจีนต่างมีส่วนร่วมในการสร้างงาน สร้างอาชีพ และบรรเทาปัญหาความยากจนในชุมชน ไม่ว่าจะเป็นโครงการหมู่บ้านเถาเป่า หรือโครงการความช่วยเหลือของ Jin Dong Group ที่มีโครงการช่วยเหลือชุมชนผ่านการช่วยเหลือในด้านต่างๆ

โครงการหมู่บ้านเถาเป่า (Taobao Villages) เป็นโครงการต้นแบบของ Alibaba Group ในการใช้
อีคอมเมิร์ซในการแก้ไขปัญหาความยากจน
โครงการดังกล่าวเป็นความร่วมมือกับภาครัฐที่จัดการสนับสนุนการฝึกอาชีพ และสนับสนุนในเรื่องเฉพาะทางต่างๆ เพื่อให้ประชาชนในชุมชนผลิตและจำหน่ายสินค้าผ่านแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซในจีนอย่าง Taobao Marketplace ซึ่งผลที่เห็นอย่างเป็นรูปธรรมเกิดขึ้นในหลายเมือง เช่น  Pengxiang ในมณฑล Hebei ซึ่งเป็นฐานการผลิตอะไหล่จักรยานที่ใหญ่ที่สุดในจีน และหมู่บ้านเถาเป่ารวมประมาณ 18 หมู่บ้าน โดยโครงการดังกล่าวส่งผลให้การขายอะไหล่จักรยานใน Pengxiang มียอดขายออนไลน์ประมาณ 1.6 พันล้านหยวน ซึ่งคาดว่ากว่า 1,320 ครัวเรือน ได้ถูกแก้ปัญหาความยากจนผ่านโครงการนี้

ในขณะเดียวกัน อีกฟากยักษ์ใหญ่ของอีคอมเมิร์ซในจีนอย่าง Jin Dong Group หรือ JD ก็มีโครงการเพื่อไขปัญหาความยากจน โดยร่วมมือกับสภารัฐกิจสาธารณรัฐประชาชนจีน (State Council) ภายใต้กรอบความตกลงความร่วมมือด้านยุทธศาสตร์การบรรเทาความยากจนแบบตรงจุดผ่านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-Commerce Targeted Poverty Alleviation Strategy Cooperation Framework Agreement) เมื่อ ค.ศ. 2016 โดยโครงการของ JD นับเป็นโครงการตัวอย่างที่สำคัญของจีน ที่มีการช่วยเหลือผู้ยากจนในชุมชนอย่างครบวงจร ผ่านมาตรการต่างๆ อาทิ

  • การแจกจ่ายเมล็ดพันธุ์พืชและปุ๋ย สัตว์เศรษฐกิจ เช่น ไก่ แกะ พร้อมทั้งอาหารสัตว์ ตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ ให้แก่ครอบครัวที่ยากจน เพื่อสร้างอาชีพให้แก่ครัวเรือน และรับซื้อในราคาตลาดที่สูงกว่าราคาที่ครัวเรือนสามารถขายได้ก่อนเข้าร่วมโครงการ เพื่อจำหน่ายบนแพลตฟอร์มของ JD
  • การให้สินเชื่อภาคการเกษตรดอกเบี้ยต่ำให้แก่ครัวเรือนที่ขาดแคลนเงินทุนในการประกอบอาชีพ
  • การสร้างงานสร้างอาชีพ โดยร่วมมือกับหน่วยงานภาคประชาชนและ NGOs เช่น China Foundation for Poverty Alleviation และองค์การระหว่างประเทศ เช่น UNDP ในการฝึกอมรมทักษะผู้ประกอบการและการฝึกงาน รวมถึงการสร้างงานโดยการรับสมัครพนักงานจากชุมชนเพื่อเป็นบุคลากรขององค์กร

        ทั้งโครงการของ Alibaba Group และ JD Group ต่างสะท้อนให้เห็นถึงบทบาทของอีคอมเมิร์ซที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของครัวเรือนที่มีฐานะยากจน ทำให้ช่วยเพิ่มยอดขายของสินค้าจากพื้นที่ยากจนผ่านช่องทางออนไลน์ สร้างโอกาสทางการค้าผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ และยังเป็นการแสดงให้เห็นถึงบทบาทในเชิงสร้างสรรค์ของภาคเอกชนในการเติมเต็มภาครัฐในการแก้ไขปัญหาสังคม

ผลลัพธ์ของความร่วมมือภาครัฐและภาคเอกชนในรูปแบบ PPVI ในการแก้ไขปัญหาความยากจนจีนจึงถือเป็น Win-Win Solution ที่ทุกภาคส่วนได้ประโยชน์ ภาคประชาชนมีรายได้ที่เพียงพอต่อการดำรงชีพจากการสร้างงานในชุมชน ภาครัฐได้รับการแบ่งเบาภารกิจทำให้สามารถตอบสนองต่อสังคมในพื้นที่อื่นๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และในขณะเดียวกันภาคเอกชนที่ให้ความช่วยเหลือนั้นก็ได้ทั้งผลประโยชน์ทางสังคมและผลประโยชน์ทางการตลาดจากการดำเนินงานเพื่อสังคม

ด้วยศักยภาพด้านอีคอมเมิร์ซของไทยที่เพิ่มมากขึ้น ประกอบกับความพร้อมของภาคธุรกิจที่จะช่วยเหลือภาครัฐในรูปแบบต่างๆ การส่งเสริมชุมชนฐานรากผ่านอีคอมเมิร์ซในลักษณะเดียวกับกรณีตัวอย่างของจีนก็เป็นอีกหนึ่งกลไกสำคัญในการแก้ไขปัญหาความยากจนได้ เศรษฐกิจฐานรากสำคัญกับเศรษฐกิจไทย และการแก้จนเกิดขึ้นได้ถ้าร่วมใจและจับมือกัน.

บทความโดย

ประกาย ธีระวัฒนากุล

ณิชาพรรณ อัศวสุรนาท

สถาบันอนาคตไทยศึกษา (Thailand Future Foundation)
Facebook.com/thailandfuturefoundation