เคล็ดลับการพัฒนา “คุณหมอผู้นำ”
เปิดเคล็ดลับ "คุณหมอผู้นำ" พญ.โศรยา ธรรมรักษ์ ผอ.รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร และนพ.ประภาส อุครานันท์ ผอ.รพ.พระศรีมหาโพธิ์
บทความโดย | พรทิพย์ อัยยิมาพันธ์ ผู้ก่อตั้งและประธานบริหาร PacRim Group
email : [email protected]
ดิฉันมีความยินดีและประทับใจเป็นอย่างยิ่งที่มีโอกาสได้พบปะและทำความรู้จักกับ พญ.โศรยา ธรรมรักษ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร จ.ปราจีนบุรี และนายแพทย์ประภาส อุครานันท์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ จ.อุบลราชธานี
“คุณหมอผู้นำ” ทั้งสองท่านที่กรุณาให้เกียรติมาเป็นแขกรับเชิญพิเศษในงานสัมมนาสดออนไลน์ “Leading Culture Transformation for Healthcare” ที่ “แพคริม” จัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้
และในโอกาสนี้ดิฉันต้องขอขอบคุณ คุณหมอ พยาบาล และบุคลากรในโรงพยาบาลและวงการสาธารณสุขทุกท่านที่ได้เสียสละและอุทิศตนเพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ในการต่อสู้กับโควิด-19 ในปัจจุบันและที่ผ่านมาอีกครั้งหนึ่ง ด้วยความจริงใจและชื่นชมอย่างที่สุด
คุณหมอโศรยา และคุณหมอประภาสได้สะท้อนมุมมองหรือมีแนวคิดที่คล้ายคลึงกันอย่างน้อย 4 ด้านที่เกี่ยวข้องกับคุณสมบัติของความเป็นผู้นำในแวดวงสาธารณสุขและการแพทย์ดังนี้
1.ผู้นำที่ดีจะมีความต้องตระหนักรู้ (Self-awareness) ถึงข้อแตกต่างระหว่างการเป็นแพทย์ที่เก่งกับการเป็นผู้นำที่ดี และมีใจที่เปิดกว้าง พร้อมรับที่จะเรียนรู้และพัฒนาทักษะ (High Learning Agility) ในการเป็น “คุณหมอผู้นำ”
2. ผู้นำที่ดีจะต้องทำตนเป็นแบบอย่าง มีความอ่อนน้อม ถ่อมตน ให้เกียรติผู้อื่น สร้าง Trust (Modeling, Humility, Respect Others, Inspire Trust)
3. ผู้นำที่ดีจะต้องมีความเชื่อมั่นและให้ความสำคัญกับการพัฒนาคน เพื่อสร้างผู้นำรุ่นใหม่และปูพื้นฐานสำหรับอนาคต
4. ผู้นำที่ดีจะต้องกล้าตัดสินใจในเรื่องยากๆ ได้ทันเวลา โฟกัสในสิ่งที่สามารถควบคุมได้ (Circle of Influence) เพื่อแสวงหาแนวทางแก้ไข หรือฟันฝ่าอุปสรรคท่ามกลางข้อจำกัดและความท้าทายต่างๆ
- ถ่อมตน เปิดใจเรียนรู้ต่อเนื่อง : คุณสมบัติของ "คุณหมอผู้นำ"
ในงานสัมมนาครั้งนี้ซึ่งมีผู้นำและผู้บริหารจากแวดวงสาธารณสุขกว่า 100 ท่านจากทั่วประเทศตอบรับคำเชิญจาก "แพคริม" และให้เกียรติเข้าร่วม
คุณหมอประภาสกล่าวอย่างถ่อมตัวว่า “แม้ตนเองจะเป็นจิตแพทย์ที่ได้ทำการรักษาคนไข้มา 30 ปีแล้ว แต่เมื่อต้องมาบริหารคนและองค์กร กลับพบว่ายังต้องมีการเรียนรู้จิตวิทยาในการทำงานและการเป็นผู้นำอีกมาก ซึ่งหลังจากได้มีโอกาสเข้าไปรับการฝึกอบรม ทำให้ได้รับความรู้ใหม่ๆ รวมทั้งหลักการและเครื่องมือ ที่ผ่านการวิจัยมาอย่างดี เช่น Speed of Trust ® ซึ่งเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ผู้นำสามารถนำเอาไปใช้สร้างความไว้วางใจในทีมงาน และขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ในการสร้างวัฒนธรรมองค์กรให้ประสบความสำเร็จอย่างเป็นขั้นตอน“
นอกจากนี้ท่านยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า “ต้องคิดว่าเรายังไม่เก่ง ทุกคนมีจุดอ่อน หากเราเปิดรับฟัง เราก็จะพบจุดอ่อนของเรามากขึ้น”
คุณหมอประภาส ได้สะท้อนให้เราเห็นถึงคุณสมบัติของผู้นำที่ดี คือการมีความอ่อนน้อม ถ่อมตน (Humility) และทำตนเป็นแบบอย่างในด้านของการเป็นผู้ที่เรียนรู้และปรับปรุงตนเองอย่างต่อเนื่อง
เช่นเดียวกับ แพทย์หญิงโศรยา ซึ่งท่านถ่อมตัวตลอดเวลาว่า “ตัวเองไม่ใช่คนเก่ง จึงต้องหากำลังเสริม” และโชคดีที่ รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศรมีคนเก่งและผู้นำอยู่ “ทุกหย่อมหญ้า” ผนวกกับการทำงานในแบบ “มองตาก็รู้ใจกัน” จึงทำให้สามารถฝ่าวิกฤตที่กำลังเกิดขึ้น และขับเคลื่อนเป้าหมายต่างๆ ออกมาได้เป็นผลสำเร็จ และในช่วงเวลาวิกฤตนี้เองที่ทำให้ค้นพบความแข็งแกร่งของผู้นำในแต่ละทีมขององค์กร
- สร้าง Trust : อีกหนึ่งคุณสมบัติสำคัญของ “คุณหมอผู้นำ”
อย่างไรก็ตามในยามวิกฤต พญ.โศรยาแนะว่าองค์กรคงไม่สามารถทำงานในแบบเดิมๆ ได้ ดังนั้นการปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมจึงเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้นำซึ่งจะต้องสามารถ “สร้าง Trust” ให้กับทีมงานเพื่อให้สามารถคิด สื่อสาร และผลักดันงานต่างๆ ให้ออกมาได้อย่างรวดเร็ว และทันต่อสถานการณ์
“ดิฉันจะพูดในทุกการประชุม ทุกๆ วันว่า เราเป็นส่วนหนึ่งของ Journey เราจะ Go to The Moon แม้ว่าจะมีอุปสรรค ถ้าเราตั้ง Purpose ว่าเราต้องทำให้ได้ เหมือนกับพระเจ้าตาก คือต้องชนะอย่างเดียวเท่านั้น”
จึงไม่ต้องแปลกใจเลยว่า รพ.อภัยภูเบศรภายใต้การนำของ พญ.โศรยา จึงสามารถพลิกฟื้นจากการขาดทุนประมาณ 50 ล้านบาทเมื่อคุณหมอเข้ารับตำแหน่งเมื่อประมาณ 2 ปีก่อน มาเป็นตัวเลขกำไรในปัจจุบัน ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการตัดสินใจตัดงบประมาณส่วนหนึ่งมาใช้เพื่อการสร้างผู้นำและพัฒนาบุคลากร (แม้ในยามขาดทุน) โดยคุณหมอให้เหตุผลว่า “เพราะคิดว่าถ้าคนของเราเข้าใจ ถ้าเราได้ทีมเวิร์กที่ดีพอ เรื่องของเงินจะกลับมาเอง”
คุณหมอโศรยาเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่โดดเด่นของผู้นำที่มีแพชชั่นและความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าในการพัฒนาผู้นำรุ่นต่อไปเพื่อสร้างผลลัพธ์ที่ดีขึ้นให้กับโรงพยาบาลและนำพาองค์กรให้สามารถก้าวขึ้นไปสู่อีกระดับหนึ่งได้ในอนาคต
สุดท้ายนี้ดิฉันอยากจะฝากข้อคิดแก่ท่านผู้อ่านคอลัมน์ "Tip to Top" ใน กรุงเทพธุรกิจ ว่า การสร้างวัฒนธรรมองค์กรเปรียบเสมือน Journey หรือการเดินทาง ซึ่งต้องมีการขับเคลื่อนและลงมือทำอย่างต่อเนื่อง โดยจะต้องเริ่มจากความเชื่อ (Belief) ของผู้นำและทีมงานก่อนว่าเราสามารถทำได้ จากนั้นจึงเป็นหน้าที่ของผู้นำที่จะต้อง Inspire, Empower และสร้างทีมที่มีความเข้าใจ มองเห็นเป้าหมายตรงกัน และมีความไว้วางใจในกันและกัน (High-trust Culture) สามารถปลดปล่อยศักยภาพสูงสุดของคน รวมทั้งมีการปรับระบบ โครงสร้างและกระบวนการต่างๆ ให้สอดคล้องกับกลยุทธ์และเป้าหมายที่เราต้องการจะไปให้ถึง
นอกจากนี้เรายังได้เรียนรู้จากคุณหมอผู้นำทั้งสองท่านว่าวิกฤตคือ “ ช่วงเวลาที่ดีที่สุด “ ในการค้นหาและพัฒนาผู้นำที่แท้จริง เป็นโอกาสในการค้นพบและสร้างสรรค์ความสำเร็จใหม่ๆ ที่เราอาจจะไม่เคยทำได้มาก่อน รวมทั้งเป็นโอกาสในการสร้างวัฒนธรรมใหม่ เพื่อการเรียนรู้และเติบโตอย่างต่อเนื่อง
---------------------------------------------------------------------------------------
เกี่ยวกับผู้เขียน :
พรทิพย์ อัยยิมาพันธ์ เป็นผู้ก่อตั้งและประธานบริหาร PacRim Group (www.pacrimgroup.com) ตัวแทนแต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทยของ FranklinCovey และบริษัทที่ปรึกษาชั้นนำของโลก เรามุ่งมั่นในการเป็นพันธมิตรที่ไว้วางใจได้ (Trusted Partner) ในการช่วยขับเคลื่อนอัตราเร่งของการเปลี่ยนแปลงและสร้างผลลัพธ์ให้เกิดขึ้นอย่างยั่งยืน ด้วยโซลูชันและหลักสูตรหลากหลาย เช่น Leadership & Talent Development, Culture Transformation, Translate Strategies to Execution, Innovation, 7 Habits, Speed of Trust ฯลฯ ท่านผู้อ่านสามารถติดต่อดิฉันได้ที่ [email protected]