เทียบการจัดการ 'โควิด-19' ในประเทศต่างๆ
การระบาดของโควิด-19 ที่เกิดขึ้นระลอกแล้วระลอกเล่า ส่งผลกระทบอย่างมากต่อทุกภาคส่วนทั้งในและต่างประเทศ
ไทยเองไม่ใช่ประเทศแรกและประเทศเดียวที่จำต้องปิดเมืองหรือหยุดกิจกรรมทางธุรกิจและอื่น ๆ ในบางประเภทเพื่อป้องกันการพบปะเดินทางของผู้คนภายใต้สมมติฐานที่ว่า จะช่วยลดการแพร่ระบาดของเชื้อโรค
ไม่ว่าจะเป็นประเทศในยุโรป อาทิ อังกฤษ เยอรมัน ฝรั่งเศส หรือประเทศในเอเชียอย่างญี่ปุ่น ไต้หวัน อินเดียเองก็ประสบปัญหาในการแพร่ระบาดซ้ำหรือการระบาดของโควิดสายพันธ์ใหม่ ๆ ที่กลายพันธ์และควบคุมการแพร่ระบาดได้ยากกว่าเดิม
เมื่อการกลายพันธ์ุและการแพร่ระบาดนั้นควบคุมได้ยาก ดังนั้นการบริหารสถานการณ์ในภาวะวิกฤติ จึงมีความสำคัญอย่างมาก และถือเป็นบททดสอบความสามารถในการบริหารงานและภาวะผู้นำของรัฐบาลในประเทศนั้น ๆ
ตัวอย่างการบริหารบ้านเมืองภายใต้ภาวะวิกฤติการแพร่ระบาดของโรคในหลายประเทศนั้น สามารถนำมาเป็น case study หรือกรณีศึกษาให้กับประเทศไทยเรา เพื่อไม่ให้เราพบเจอกับข้อผิดพลาดที่ประเทศอื่น ๆ เคยเจอ หรือแม้กระทั่งแนวทางการจัดการแก้ปัญหาเพื่อที่ไทยสามารถนำมาปรับใช้เพื่อลดข้อผิดพลาดและลดเวลาจากการลองผิดลองถูก
นิวซีแลนด์ถือเป็นหนึ่งประเทศที่ได้รับการยกย่องเรื่องของการบริหารจัดการโควิด-19 ได้อย่างดี โดยเฉพาะเรื่องของการสื่อสารระหว่างรัฐกับประชาชน
นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ไม่เพียงแต่ได้รับการยกย่องในฝีมือการบริหารประเทศท่ามกลางการแพร่ระบาด แต่สิ่งที่ประทับใจคนมากที่สุดคือการสื่อสารที่กระชับ เข้าใจง่ายและเห็นอกเห็นใจประชาชน ดีจนกระทั่งเมื่อมีการเลือกตั้งครั้งใหม่ เธอก็สามารถนำพรรคชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลายกลับเข้ามาบริหารประเทศต่อได้
เช่นเดียวกับไต้หวันที่ได้รับการยกย่องว่าได้นำเทคโนโลยีเข้ามาเป็นเครื่องมือช่วยในการบริหารจัดการควบคุมการแพร่ระบาด แอพพลิเคชั่นต่าง ๆ ตั้งแต่การระบุตำแหน่งและติดตามตัวผู้ติดเชื้อ การบ่งบอกจำนวนความหนาแน่นของสถานที่ชุมนุมชนต่างๆ
ยังไม่รวมถึงความรวดเร็วในการจัดการปัญหาอย่างทันท่วงทีตั้งแต่แรกเริ่มวิกฤติจนกระทั่งถึงการควบคุมบังคับใช้กฎหมายที่เคร่งครัด ก็ถือเป็นหนึ่งตัวอย่างที่ดี
การบริหารงานของรัฐบาลอังกฤษก็เป็นอีกกรณีหนึ่งที่ได้รับเสียงวิจารณ์อย่างมากในช่วงต้น เหตุเพราะการปิดเมืองที่ยาวนานและความไร้สามารถในการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 แต่รัฐบาลอังกฤษก็เข้าใจดีถึงการแก้ไขปัญหาที่ตรงจุด ซึ่งก็คือการกระจายวัคซีนที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลที่ดีและความรวดเร็วในการกระจาย
ดังนั้น อังกฤษที่ต้องเรียกได้ว่าประสบกับภาวะการแพร่กระจายของโควิด-19 อย่างหนักในช่วงก่อนหน้านี้ ได้เร่งกระจายวัคซีนที่ดีสู่ประชาชนจนทำให้สังคมอังกฤษในตอนนี้อยู่ในภาวะมีภูมิคุ้มกันหมู่แล้ว ประชาชนก็สามารถเริ่มกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุข
เช่นเดียวกับสหรัฐ ซึ่งถือได้ว่าเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุด โดยเฉพาะที่มหานครนิวยอร์กที่มีการแพร่กระจายของเชื้อโควิด-19 อย่างหนัก รัฐบาลใหม่ของสหรัฐไม่เพียงเข้าใจถึงปัจจัยแห่งความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาซึ่งคือวัคซีนที่ดีและเร็ว แต่ยังสามารถจัดการฉีดวัคซีนได้เร็วกว่าเป้าหมายภายในระยะเวลาเพียง 100 วันหลังจากการเข้ามาบริหารประเทศ ถือเป็นการคืนชีวิตที่ปกติคืนความสุขให้กับประชาชนได้อย่างแท้จริง
จะเห็นได้ว่าการหยุดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้อย่างดีที่สุดคือ การมีวัคซีนที่ดีและความรวดเร็วในการกระจายวัคซีน เช่นเดียวกับการบริหารงานที่มีประสิทธิภาพและการสื่อสารที่ดีระหว่างรัฐกับประชาชน