เมื่อ EIA ไม่ได้รับความไว้วางใจ ก็ต้องใช้ SEA แทน (ตอนที่ ๔)

เมื่อ EIA ไม่ได้รับความไว้วางใจ ก็ต้องใช้ SEA แทน (ตอนที่ ๔)

ตอนที่ ๔ ของชุดบทความนี้ จะพูดถึงการนำ SEA ไปใช้ประโยชน์ การ(ไม่)บังคับให้ภาคเอกชนทำ SEA และประโยชน์ที่มีต่อผู้บริหารระดับสูงทั้งรัฐและเอกชน

          ในการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ที่อาจมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้มาก เจ้าของโครงการจะต้องทำการศึกษาและประเมินผลกระทบนั้นโดยใช้กระบวนการ EIA หรือ Environmental Impact Assessment แต่มาในระยะหลังรายงาน EIA เริ่มได้รับความเชื่อมั่นและยอมรับจากประชาชนในพื้นที่น้อยลง จึงได้มีการพัฒนาเครื่องมือใหม่ที่เรียกว่า SEA หรือ Strategic Environmental Assessment หรือการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ขึ้นมาแทนที่

162549022077

ทำอย่างไรจึงจะทำให้ SEA ใช้ประโยชน์ได้จริง

        กระบวนการ SEA ในไทยเริ่มต้นโดย สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๖ โดยเน้นมองที่ศักยภาพและขีดจำกัดเฉพาะของทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่เป็นฐานคิด ว่าควรให้มีโครงการพัฒนาประเภทใดบ้างเกิดขึ้นได้ในพื้นที่หนึ่งๆ  มาจนถึงประมาณปี พ.ศ. ๒๕๖๐ ที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้เริ่มเห็นความสำคัญของ การป้องกันไว้ดีกว่าแก้ และได้พยายามใช้เครื่องมือ SEA มาช่วยในการจัดการโดยพิจารณาทั้ง ๓ ขา (เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม) แบบ SD (Sustainable Development) แทนการพิจารณาเฉพาะด้านทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมดังที่ สผ. เคยได้ใช้เป็นแนวทางในการทำ SEA (แบบเดิมๆ)มาก่อน เพื่อนำมาจัดทำเป็นผลผลิตในระดับแผน (Plan, P2) และแผนงาน (Programme, P3)

        สิ่งที่เราคิดว่ารัฐต้องทำต่อไปจากนี้คือ

๑) รัฐและรัฐบาลต้องมองให้ออกว่าหากไม่ทำ SEA เช่นที่ว่านี้แล้วอาจจะเกิดการลอกเลียนแบบและประท้วงที่เป็น New Normal ไปทั่ว และโครงการระดับโครงการ(Project, P4) จะเกิดขึ้นไม่ได้ อันเป็นผลเสียมหาศาลต่อประเทศ ดังนั้นรัฐและรัฐบาลจะต้องออกเป็นนโยบาย SEA ของรัฐที่ทำได้จริง และลงมือปฏิบัติจริง 

๒) รัฐและรัฐบาลต้องสนับสนุนงบประมาณในการทำ SEA ให้แก่หน่วยงานที่ต้องรับผิดชอบในการทำนโยบาย(Policy, P1), แผน(Plan, P2) แผนงาน(Programme, P3) ทั้งในระดับภาพรวมของพื้นที่และในระดับสาขา(sector)หรือประเด็น(issue)ของการพัฒนา  

๓) รัฐและรัฐบาลต้องสนับสนุนบุคลากรที่มีศักยภาพมาเพิ่มขีดความสามารถ(capacity building)ในด้าน SEA ขององค์กรของรัฐ

๔) ในขณะเดียวกันหน่วยงานรัฐต่างๆก็ต้องเร่งเก็บข้อมูลทั้งปฐมภูมิและทุติยภูมิ เพื่อวิเคราะห์ให้เป็น Big Data สำหรับนำไปใช้วิเคราะห์ผ่านกระบวนการ SEA เพื่อทำเป็นนโยบายและแผนระดับ P1, P2, P3 ต่อไป และ

๕) องค์กรของรัฐโดยเฉพาะหน่วยงานผู้กำหนดทิศทางของประเทศต้องเร่งสร้างและพัฒนาตัวเองให้เป็นผู้เชี่ยวชาญด้าน SEA เพื่อที่จะกำหนดอนาคตของประเทศได้อย่างถูกต้องและถูกทิศทางต่อไป

เมื่อ SEA ลงตัวแล้ว EIA ยังจำเป็นอยู่หรือไม่

        SEA เป็นเครื่องมือที่ใช้สำหรับวางแผนภาพใหญ่ของยุทธศาสตร์ เป็นกรอบการพัฒนาแบบกว้างๆ มิใช่งานรายละเอียดทางเทคนิควิศวกรรมรวมทั้งมิได้มองลงลึกในระดับโครงการที่จะมาลงในพื้นที่ ผลผลิต P1, P2, P3(โดยเฉพาะ P3)จึงอาจตอบโจทย์ได้ไม่หมด การที่จะตอบโจทย์ให้ได้เบ็ดเสร็จยังจำต้องทำในระดับโครงการหรือ Project (P4) ซึ่งการปรึกษาหารือในรายละเอียดของผลกระทบของโครงการต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมยังจะต้องมี ซึ่งนั่นต้องทำผ่านเครื่องมือหรือกระบวนการ EIA แบบที่เคยทำกันมาแต่เดิม แต่ถ้ามีการพูดคุยในระดับต้นทางมาก่อนจน P1, P2, P3 ค่อนข้างจะลงตัวแล้ว ปัญหาการประท้วงในขั้นตอน P4 (Project) ก็ไม่ควรเกิด และ EIA จะเป็นเพียงเครื่องมือปกติที่ใช้หรือทำสำหรับการประกันคุณภาพหรือ Quality Assurance (QA) ของมาตรการต่างๆ ในการลดผลกระทบเหล่านั้นเท่านั้น ซึ่งงานเหล่านี้จะง่ายขึ้นและเร็วขึ้น รวมทั้งใช้งบประมาณน้อยลงกับได้ประโยชน์คุ้มค่ามากขึ้น ทั้งแก่ภาครัฐและภาคเอกชน

162549024591

ภาคเอกชนต้องทำ SEA ด้วยไหม

        อย่างที่กล่าวมาแล้วว่า SEA เป็นเพียงเครื่องมือที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลและนำมาซึ่งผลผลิตในการวางแผนระดับนโยบาย(P1) แผน(P2) และแผนงาน(P3)  ซึ่งโดยนัยยะแล้วย่อมหมายถึงการกำหนดทิศทางของประเทศนั่นเอง สมมติเช่น รัฐไทยมีนโยบายจะเป็นประเทศเกษตรอินทรีย์โลก ประเทศไทยจะใช้ยานพาหนะไฟฟ้า(EV)ในปี พ.ศ. ....  ภาคเหนือจะเป็นภาคการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมและธรรมชาติ สังคมไทยจะเป็นสังคมไร้ขยะพลาสติกในปี พ.ศ. .... ฯลฯ

          ซึ่งเมื่อมี P1, P2, P3 ออกมาชัดเจนเช่นนั้นแล้ว ภาครัฐก็จะมีทั้งงบประมาณ กำลังคน และการจัดการที่จะมุ่งไปทางนั้น และภาคธุรกิจเอกชนก็จะเพียงยึดสิ่งนั้นเป็นกรอบในการวางแผนธุรกิจของแต่ละคนว่าจะเดินต่อไปอย่างไร

        โดยสรุปในส่วนนี้คือสำหรับความคิดเรา SEA ควรต้องเป็นหน้าที่และภารกิจของภาครัฐ มิใช่ของภาคธุรกิจเอกชน แต่หากเอกชนรายใดมีโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ที่อาจมีผลกระทบมาก เช่น โครงการของ ปตท. โครงการ One Bangkok โครงการเขตอุตสาหกรรมของเอกชน ฯลฯ จะนำแนวคิดของ SEA ไปใช้พูดคุยปรึกษาหารือหาคำตอบแต่เนิ่นๆ ไม่ให้เกิดความขัดแย้งตามมา แบบนี้ก็เป็นข้อเสนอที่น่าสนใจ

        นอกจากนี้ ถึงแม้ว่า SEA ไม่ใช่ภารกิจภาคบังคับของภาคเอกชน แต่ในการทำ SEA ของภาครัฐ ภาคีหนึ่งที่ขาดไม่ได้ในการปรึกษาหารือหรือแลกเปลี่ยนข้อมูลความคิดเห็น คือ ภาคธุรกิจเอกชน นอกเหนือไปจากภาคราชการ ภาควิชาการ ภาคประชาชน อันเรียกรวมๆกันว่า จตุภาคี’.

        สำหรับตอนต่อไปที่เป็นตอนที่ ๕ จะเป็นตอนที่กล่าวถึงหน่วยงานใดบ้างที่ควรต้องทำ SEA

ผู้เขียนร่วม ขวัญชนก ศักดิ์โฆษิต สำนักการวางผังและพัฒนาเมือง กรุงเทพมหานคร

หมายเหตุ : บทความนี้เป็นความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียน มิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับหน่วยงานแต่อย่างใด