ผังเมืองเป็นมิตร ชีวิตจะยืนยาว
สวัสดีครับ หนึ่งในปัญหาที่ปรากฎชัดเจนในช่วงที่มีการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่ผ่านมาคือความหนาแน่นของประชากรในตัว
แม้จะมีมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อไปสู่วงกว้างกว่าเดิม แต่เนื่องด้วยลักษณะที่อยู่อาศัยในปัจจุบันซึ่งบางแห่งเป็นอาคารหลายชั้น ห้องพักติดกัน มีการใช้สิ่งอำนวยความสะดวกส่วนกลางร่วมกัน การรักษาระยะห่างระหว่างลูกบ้านก็ย่อมเป็นเรื่องยาก จึงไม่แปลกที่เรามักได้ยินข่าวการค้นพบผู้ติดเชื้อเป็นกลุ่มผู้ใกล้ชิดกันหรือคลัสเตอร์ตามชุนชนต่างๆ ทั้งในไทยและต่างประเทศ
การที่หลายคนต้องใช้ชีวิตร่วมกันภายในสถานที่ซึ่งมีพื้นที่จำกัดเช่นนี้ นอกจากจะส่งผลลบต่อความพยายามในการจำกัดขอบเขตการระบาดของเชื้อแล้ว ยังส่งผลเสียต่อสภาพจิตใจของผู้ที่จำเป็นต้องอยู่แต่ในห้องพักส่วนตัว จากที่เคยอาศัยเพียงหลังเลิกงาน ก็กลับกลายเป็นต้องอยู่ข้างในทั้งวันและคืน อาจนำไปสู่ภาวะเครียดกว่าเดิม กระทั่งถึงจุดที่คนไม่น้อยตัดสินใจเดินทางกลับสู่ภูมิลำเนาเพื่อหนีจากความแออัดและความยากลำบากในการทำงานหาเลี้ยงชีพในเมืองใหญ่
ในเว็บไซต์ของ World Economic Forum นอกจากจะประกาศข่าวสารสำคัญเกี่ยวกับสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 แล้ว ล่าสุดยังได้เริ่มลงบทความต่างๆ ที่นำเสนอประเด็นเรื่องความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจช่วงวิกฤตโรคระบาด รวมถึงการปรับปรุงเมืองหลังจากนี้ให้น่าอยู่ ยั่งยืน และดีต่อคุณภาพชีวิตรอบด้านในระยะยาวด้วยการออกแบบผังเมืองใหม่ เช่น ย่านธุรกิจที่มีแต่สำนักงานหรือห้างร้านอาจต้องเผชิญกับความเสี่ยงต่อการสูญเสียรายได้หากเกิดวิกฤตอีก จึงควรออกแบบให้มีพื้นที่ใช้สอยประเภทอื่นๆ เพื่อให้ยังคงดึงดูดลูกค้าและสร้างรายได้หลายทาง
ตัวอย่างที่น่าศึกษาคือประเทศสิงคโปร์ซึ่งกำลังดำเนินการปรับภูมิทัศน์พื้นที่ขนาด 700 เฮคตาร์จากลานฝึกทหารเก่าให้เป็นเมืองที่มีทั้งส่วนที่พักอาศัย 42,000 แห่ง ส่วนสำนักงาน และส่วนผืนป่า อีกทั้งในป่าก็มีทั้งเส้นทางเดินและเลนปั่นจักรยานเพื่อให้ประชาชนได้สนุกกับกิจกรรมยามว่างใกล้ชิดกับธรรมชาติ โดยถนนสำหรับยานยนต์จะสร้างลอดใต้ทั้งเมืองเพื่อความปลอดภัยของมนุษย์ รวมถึงสัตว์ป่าในเขตอนุรักษ์ธรรมชาติของเมือง
ในขณะเดียวกัน เมืองบางแห่งเต็มไปด้วยอาคารบ้านช่องจนไม่เหลือพื้นที่ว่างแล้ว จึงต้องสร้างพื้นที่สีเขียวขึ้นมาเอง อาทิ เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคมที่ผ่านมา มีการเปิดตัวเกาะแห่งใหม่ในนครนิวยอร์กชื่อว่า Little Island เพื่อเป็นสวนสาธารณะสำหรับประชาชน เกาะมนุษย์สร้างนี้ตั้งอยู่เหนือแม่น้ำฮัดสันบนฐานท่าเรือเก่าและเชื่อมกับถนน West 13th Street และ West 14th Street จากฝั่งเมือง มีทั้งทางเดินที่ลัดเลาะผ่านต้นไม้และพุ่มไม้นานาชนิด ลานสำหรับกิจกรรมสร้างสรรค์ต่างๆ รวมถึงโซนอาหารและเครื่องดื่ม เรียกได้ว่ารองรับกิจกรรมยามว่างหลายรูปแบบเลยครับ
นอกจากพื้นที่สีเขียวอันอุดมไปด้วยต้นไม้เขียวชอุ่มแล้ว พื้นที่อีกแบบหนึ่งที่ควรมีใกล้เมืองคือพื้นที่สีน้ำเงิน (Blue Spaces) โดยน้ำเงินในที่นี้สื่อถึงแหล่งน้ำ เช่น เมืองหลายแห่งในสวีเดนอยู่ติดแหล่งน้ำ นอกจากจะเป็นสถานที่เดินเล่นที่ไม่ไกลสำหรับผู้คนและเป็นระบบนิเวศของนกและปลาหลากหลายสายพันธุ์แล้ว แหล่งน้ำเหล่านี้ยังกักเก็บน้ำจากพายุ ช่วยชะลอน้ำไว้ ทำให้น้ำฝนในเมืองไหลลงระบบท่อระบายน้ำได้ทัน ไม่สะสมจนท่วมเหมือนเมืองทั่วไปที่รับน้ำฝนเต็มที่แบบไม่มีแหล่งระบายน้ำ
หน่วยงานต่างๆ ในบางประเทศซึ่งมีเป้าหมายหรือแผนการปรับปรุงผังเมืองไปในทิศทางเดียวกันก็ได้ก่อตั้งกลุ่มเพื่อร่วมดำเนินงานและแบ่งปันองค์ความรู้ระหว่างกัน เช่น โครงการ NATURVATION (NATure-based URban innoVATION) เป็นโครงการระยะเวลาสี่ปีที่ประกอบด้วยพันธมิตร เช่น Newcastle City Council, Universitat Autònoma de Barcelona, PBL Netherlands Environmental Assessment Agency และหน่วยงานตามเมืองอื่นทั่วโลกที่ทำงานร่วมกับชุมชนและผู้มีส่วนได้เสียในการพัฒนาเมือง ภูมิศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ รวมถึงการศึกษานวัตกรรมเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต มีการติดตามและเก็บผลการทำงานในฐานข้อมูลเพื่อเป็นแนวทางสำหรับหน่วยงานอื่นที่สนใจ
จริงๆ แล้วการส่งเสริมให้มีพื้นที่ธรรมชาติข้างในหรือใกล้ตัวเมืองเป็นแนวคิดที่มีมาตั้งแต่ก่อนการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 แล้ว หลายประเทศเล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาทั้งเมืองและพื้นที่สีเขียวควบคู่กันไปอย่างยั่งยืน มิใช่เพียงเพื่อเพิ่มความสวยงามน่าเที่ยวอย่างเดียว หากแต่เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำเพื่อยกระดับการเติบโตทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมต่อไปอย่างมั่นคงในภายหน้าครับ