การระบาดของ COVID-19 จะพาเศรษฐกิจไทยเข้าสู่วิกฤติได้หรือไม่?
การระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่นี้รุนแรงกว่าครั้งก่อนๆ อย่างมาก แต่คำถามทางเศรษฐกิจนั้นมักจะถามเพียงว่ารัฐบาลจะมีมาตรการคุมเข้มอีกนานเท่าไหร่
รัฐบาลจะมีมาตรการคุมเข้มทางเศรษฐกิจไปอีกนานเท่าไหร่และคาดว่าวัคซีน (ที่มีคุณภาพ) จะจัดส่งมาถึงประเทศไทยในปริมาณที่เพียงพอได้เมื่อใด ทั้งนี้โดยเกือบทุกคนที่เกี่ยวข้องในวงการเศรษฐกิจและการลงทุนจะประเมินกันอย่างง่ายๆ ว่า ปีหน้าเศรษฐกิจก็จะต้องฟื้นตัวเพราะ ณ เวลานั้นจะมีการฉีดวัคซีนในจำนวนที่เพียงพอที่จะทำให้คนไทยได้รับภูมิคุ้มกันหมู่และเศรษฐกิจก็จะสามารถฟื้นตัวได้ เนื่องจากรัฐบาลจะคลายมาตรการควบคุมเข้มทางเศรษฐกิจภายในปลายปีนี้เป็นอย่างช้า
แนวคิดดังกล่าวนั้นผมก็คาดหวังว่าจะเกิดขึ้น ดังนั้น รัฐบาลจึงขอความร่วมมือให้ประชาชนอดทนต่อไปอีก (“รออีกไม่นาน”) แล้วทุกอย่างก็จะต้องดีขึ้นเอง แต่ผมประเมินว่าพัฒนาการของการะระบาดของ COVID-19 และผลกระทบต่อเศรษฐกิจนั้นอาจเดินหน้าไปในทิศทางที่นำไปสู่ความตกต่ำอย่างรุนแรงภายใน 3-4 เดือนข้างหน้าจนเข้าขั้นวิกฤติก็เป็นได้
หากมองกลับไปดูการระบาดของ COVID-19 รอบแรกในต้นปีที่แล้วก็จะพบว่า ตั้งแต่การพบเชื้อครั้งแรกเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2020 ถึงวันที่ 30 พฤศจิกายนของปีเดียวกัน (ก่อนการระบาดระลอก 2 ที่เริ่มต้นเดือนธันวาคม 2020) นั้นมีผู้ป่วยสะสมรวมกันเพียง 3,998 คนและมีผู้เสียชีวิตเพียง 60 คน จะเห็นได้ว่าการติดเชื้อและเสียชีวิตในช่วง 10 เดือนดังกล่าวน้อยกว่าการติดเชื้อและการเสียชีวิตที่เกิดขึ้นเป็นรายวันในขณะนี้
ในปี 2020 นั้น สามารถพูดได้ว่ารัฐบาลควบคุมการระบาดได้อย่างทันท่วงที สามารถคาดการณ์แนวโน้มของปัญหาและออกมาตรการมาสยบปัญหาก่อนที่สถานการณ์ที่เลวร้ายจะเกิดขึ้น (ahead of the curve) ระบบสาธารณสุขทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะมีผู้ป่วยที่ต้องดูแลจำนวนสูงสุดเพียง 1,451 คนเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2020 (ตรงกันข้ามกับวันนี้ที่มีผู้ป่วยที่ระบบสาธารณสุขต้องดูแลกว่า 137,000 คน)
หากจะตำหนิรัฐบาลในปี 2020 ก็ต้องตำหนิว่าใช้มาตรการคุมเข้มทางเศรษฐกิจที่เข้มข้นอย่างมากและเยียวยาไม่เพียงพอ ทำให้จีดีพีติดลบมากถึง 6.1% เท่ากับความสูญเสียทางเศรษฐกิจสูงถึง 1 ล้านล้านบาท
สถานการณ์วันนี้ตรงกันข้ามกับปีที่แล้วกล่าวคือ รัฐบาลดำเนินนโยบายตามสถานการณ์ (behind the curve) ที่นับวันการระบาดของ COVID-19 จะรุนแรงมากขึ้นจากการที่ฉีดวัคซีนได้ไม่เพียงพอ ที่จะชะลอการระบาดที่เร่งตัวอย่างรุนแรงของสายพันธุ์เดลต้า (ฉีดวัคซีนเพียง 240,000 เข็ม ต่อวัน จากเป้าหมายที่ 500,000 เข็ม ต่อวัน)
การตรวจคัดกรอง (test) หาผู้ติดเชื้อได้เพียง 80,000 ต่อราย ไม่เพียงพอที่จะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้ต้องอนุมัติการใช้ Rapid Antigen Test อย่างเร่งรีบ (ทั้งๆที่ควรแจกจ่าย Test Kit ดังกล่าวให้ประชาชนตั้งแต่ต้นปีนี้)
ผลที่ตามมาคือการค่อยๆ เพิ่มมาตรการควบคุมทางเศรษฐกิจที่ไม่สามารถทำได้เข้มข้นเพียงพอที่จะชะลอการระบาดของ COVID-19 เพราะตอนนี้การระบาดกระจายออกไปทั่วประเทศและในกรุงเทพฯ พบการระบาดกว่า 130 คลัสเตอร์แล้ว ดังนั้น ระบบสาธารณสุขจึงกำลังถูกท่วมเพราะต้องดูแลผู้ติดเชื้อกว่า 137,000 คนและมีผู้ติดเชื้อสุทธิเพิ่มขึ้นวันละ 4,000-5,000 คน
ณ วันนี้จึงต้องประเมินว่าสถานการณ์ใน 3-4 เดือนข้างหน้าจะพัฒนาไปในทิศทางใด ซึ่งอาจมีความเป็นไปได้ประมาณ 3 ทางดังนี้
1.กรณีที่ดี คือมาตรการควบคุมทางเศรษฐกิจและสาธารณสุขประสบความสำเร็จในการทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลงเหลือ 2,000-3,000 คนต่อวัน ทำให้ระบบสาธารณสุขพอรับมือได้บ้างและเศรษฐกิจขับเคลื่อนต่อไปได้เพราะการส่งออกเป็นหลัก
ดังนั้น เมื่อประเทศไทยเริ่มได้รับวัคซีนในปริมาณที่เพียงพอในไตรมาส 4 ก็ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลงเหลือไม่ถึง 500 คนต่อวันอย่างรวดเร็วและสามารถคลายมาตรการควบคุมต่างๆ ทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวและสามารถขยายตัวได้ 3-4% ในปีหน้าเทียบกับการขยายตัวได้ไม่ถึง 1% ปีนี้
2.กรณีที่ไม่ดี คือมาตรการควบคุมทางเศรษฐกิจและสาธารณสุขต้องเพิ่มความเข้มข้นมากขึ้นเป็นลำดับและเป็นไปอย่างยืดเยื้อเพราะควบคุมการะระบาดให้ลดลงไม่ได้ ส่งผลกระทบให้จีดีพีติดลบในปีนี้ รัฐบาลต้องกู้เงินเพิ่มขึ้นเพื่ออีกมาก ที่สำคัญคือการระบาดครั้งนี้จะมิได้กระทบเฉพาะภาคการบริการและจำกัดการบริโภคเป็นหลัก แต่กระทบการผลิตในโรงงานต่างๆ และภาคการก่อสร้างอย่างมีนัยสำคัญ ทำให้การส่งออกขยายตัวน้อยมากและค่าเงินบาทอ่อนลงเกินคาด
ในกรณีนี้มีธุรกิจต้องปิดตัวลงและปลดคนงานเป็นจำนวนมาก ภาคการผลิตของไทยเสียหาย ทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้อย่างเชื่องช้าในปีหน้า แม้ว่าจะมีการฉีดวัคซีนอย่างทั่วถึงได้ในที่สุด
3.กรณีที่เลวร้ายที่สุด ซึ่งเป็นไปได้แต่ไม่มีใครต้องการให้เกิดขึ้นคือภาคการผลิตและครัวเรือน ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างหนักเพราะการระบาดของเดลต้าเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด ทำให้การผลิตต้องชะงักงันอย่างกว้างขวาง คนตกงานเป็นจำนวนมากเพราะธุรกิจปิดตัว
การที่ภาคครัวเรือนและเอสเอ็มอีที่อ่อนแออยู่แล้วก็ได้รับผลกระทบเพิ่มเติมอีก ทำให้หนี้เสียในระบบเพิ่มขึ้นอย่างมาก ส่งผลกระทบให้ขาดความมั่นใจและระบบการเงินตึงตัว เศรษฐกิจหดตัวอย่างรุนแรงทับซ้อนวิกฤติทางสาธารณสุข ส่งผลให้รัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทยต้องใช้นโยบายทางการเงินฉุกเฉินเพื่อพยายามระงับสถานการณ์ไม่ให้ลุกลามและไม่ให้กระทบต่อเสถียรภาพของระบบการเงินของประเทศโดยรวม
จะเห็นได้ว่ากรณีที่เลวร้ายที่สุดดังกล่าวนั้นเกิดขึ้น เพราะมาตรการของรัฐไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ แต่เดินตามปัญหาจนกระทั่งตามไม่ทันซึ่งเกรงว่าอาจเกิดขึ้นได้ ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของการระบาดของสายพันธุ์เดลต้าซึ่งไม่มีใครทราบได้ว่าจะรุนแรงมากเพียงใดในกรณีที่มีวัคซีนไม่เพียงพอ เพราะในกรณีของประเทศอังกฤษนั้นแม้ว่าจะมีการฉีดวัคซีนอย่างเพียงพอแล้ว ก็ยังพบว่ามีผู้ติดเชื้อรายใหม่วันละกว่า 30,000 คนครับ.