'Jitasa.care' เมื่อประชาชนต้องดูแลกันเอง
ล่าสุดไทยถึงเป็นประเทศที่กำลังไต่ระดับสู่กลุ่มประเทศมีจำนวนผู้ป่วยติดโควิด-19 รายวันมากที่สุดในโลก ซึ่งแตะอยู่ที่ระดับเกือบ 16,000 กว่าคนต่อ
พูดได้ว่าโควิด-19 สายพันธุ์เดลตานี้ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อกลุ่มประเทศที่ประชากรส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับวัคซีนเช่นไทย อินเดียหรือบราซิลเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อประเทศที่เรียกได้ว่า ในทางทฤษฎีแล้วดูมั่นคงปลอดภัย เพราะประชากรได้เข้าสู่ภาวะคุ้มกันหมู่ (Herd immunity) อย่างสหรัฐ และอังกฤษ
สหรัฐที่เคยประกาศชัยชนะเหนือโควิด-19 ด้วยการเร่งฉีดวัคซีนคุณภาพ mRNA แก่ประชากรส่วนใหญ่ของสังคมจนกระทั่งรัฐบาลออกประกาศอนุโลมให้ไม่จำเป็นต้องใส่หน้ากากอนามัย ซึ่งก็ดูเหมือนว่าการดำเนินชีวิตกำลังจะเข้าสู่สภาวะปกติสุขอีกครั้ง จนกระทั่งเกิดการระบาดของสายพันธุ์เดลตา ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ในทั่วโลก และรวมถึงสหรัฐ เพิ่มขึ้นสูงอย่างมีนัยสำคัญ
ขณะนี้มีความกังวลในความสามารถเพื่อเอาชนะวัคซีนของสายพันธุ์เดลตา ถือเป็นไวรัสกลายพันธุ์ ตรวจพบครั้งแรกที่ประเทศอินเดีย ประกอบกับจำนวนเคสของผู้ป่วยใหม่ในสหรัฐที่พุ่งขึ้นสูงเกือบเท่าตัวจากผู้ป่วยใหม่ที่ระดับ 30,000 เพิ่มเป็น 60,000 คนต่อวัน ตอกย้ำการเป็นประเทศที่มีจำนวนผู้ป่วยใหม่มากที่สุดอันดับหนึ่งของโลก
สิ่งนี้ ทำให้รัฐบาลสหรัฐต้องทบทวนนโยบายและประกาศให้ประชาชนกลับมาใส่หน้ากากอนามัยอีกครั้ง โดยเฉพาะในพื้นที่ปิดและมีความเสี่ยงในการแพร่กระจายของไวรัสอันเนื่องมาจากความหนาแน่นของประชากร
เช่นเดียวกับประเทศอังกฤษที่มีจำนวนของผู้ป่วยติดเชื้อใหม่ในระดับ 20,000 คนต่อวันมาอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้ว่า อังกฤษจะเข้าสู่ภาวะภูมิคุ้มกันหมู่ด้วยวัคซีนเข็มแรกแล้วก็ตาม แต่ไม่สามารถกล่าวได้ว่า การฉีควัคซีนที่ไม่ครบโดสหรือเพียงหนึ่งเข็มนั้น จะสามารถป้องกันการแพร่ระบาดไวรัสได้อย่างรัดกุม
งานวิจัยล่าสุดของทางการอังกฤษและบริษัทยาในสหรัฐ ก็ต่างยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่า วัคซีนที่มีคุณภาพที่ใช้ในสองประเทศ ก็คือ ไฟเซอร์ และแอสตร้าเซนเนก้านั้น ถึงแม้จะมีประสิทธิภาพในการป้องกันโควิดสายพันธุ์อื่นๆอย่างดี แต่ประสิทธิภาพจะลดลงหากเป็นสายพันธุ์เดลตา
จะเห็นได้ว่าถึงการฉีดวัคซีนที่มีประสิทธิภาพด้วยเทคโนโลยี mRNA จะสามารถช่วยป้องกันภาวะการติดโรคโควิด-19 สายพันธุ์เดลตานี้ได้ แต่ภูมิคุ้มกันจะเพิ่มขึ้นก็ต่อเมื่อฉีดจนครบโดสเท่านั้น ไม่ต้องพูดถึงวัคซีนอื่นๆ อย่าง ซิโนแวค ยังไม่มีงานวิจัยที่ทั่วโลกยอมรับถึงความสามารถในการยับยั้งไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้ได้
การแพร่กระจายของโรคระบาดในทุกหย่อมหญ้า ไม่เพียงแต่สร้างความความยากลำบากให้กับคนไทยทุกคน ความโศกเศร้าเสียใจในการสูญเสียคนที่รักในครอบครัวที่เริ่มใกล้ตัวทุกคนเข้ามาในทุกขณะ ซึ่งไม่สามารถถูกบรรเทาไปได้ เช่นเดียวกับความหวังของคนไทยในการเอาชนะวิกฤติโรคระบาดในครั้งนี้ ก็ดูห่างไกลจากความเป็นจริงขึ้นเรื่อยๆ
ความร่วมมือในภาคประชาชนและเอกชน ถือเป็นอีกเครื่องมือหนึ่งสามารถช่วยประชาชนในภาวะวิกฤติได้ Jitasa.care ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของกลุ่มคนจิตอาสาที่ช่วยในการหาเตียงให้ผู้ป่วย แนะนำจุดตรวจโควิด จุดรับวัคซีน วัดเพื่อฌาปนกิจศพ หรือแม้กระทั่งการทำแผนที่ระบุจุดเสี่ยงที่มีผู้ป่วยโควิด ก็ถือเป็นเครื่องมือช่วยเหลือประชาชนให้ระวังตัว ตลอดจนช่วยลดช่องว่างในด้านการเข้าถึงระบบสาธารณสุขได้
แท้จริงแล้ว ความคิดริเริ่มที่ดีจนกลายมาเป็นแผนที่ระบุพื้นที่เสี่ยงของ Jitasa.care นี้ไม่ได้ทำยากและไม่ใช่ไอเดียใหม่เลย แผนที่ชี้แจงตำแหน่งความเสี่ยงเช่นนี้ ก็มีที่ไต้หวัน ตั้งแต่ช่วงที่โควิดเริ่มระบาดอย่างหนักในปีที่แล้ว เป็นไอเดียของรัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัลไต้หวัน ซึ่งรัฐบาลในหลายประเทศก็ได้นำไอเดียที่ดีนี้ไปใช้ยกเว้นในไทย
การบริหารงานที่ฉลาดรอบรู้ รวดเร็ว มีประสิทธิภาพ โปร่งใส รอบคอบโดยใช้ข้อมูลข้อเท็จจริงประกอบการตัดสินใจเท่านั้นจึงจะลดความบอบช้ำจากความเสียหายในชีวิตของคนไทย และเศรษฐกิจในครั้งนี้ได้ ถือเป็นทางออกเดียวของไทยเท่านั้น ณ ตอนนี้