ยุคนี้คำว่า 'พร้อมแล้ว' ก็ยังไม่พอ
การขนส่งที่ล่าช้ามีวี่แววว่าจะบานปลายออกไป และกลายเป็นปัญหาที่ลุกลามใหญ่โตขึ้นได้หากไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ดีพอ
ในโลกของธุรกิจ เป็นเรื่องธรรมดาที่ต้องมีวิกฤติแวะเวียนเข้ามาทักทาย ท้าทายความสามารถอยู่หลายๆ ครั้ง เพียงแต่ว่าครั้งล่าสุดนี้กับ “โควิด-19” มาแบบฉับพลัน โดยไม่ส่งสัญญาณเตือน
ซ้ำร้ายสถานการณ์ที่ยืดเยื้อทำให้ผลกระทบที่เกิดขึ้นสร้างแรงสั่นสะเทือนไปในวงกว้างหลายภาคส่วน กลายเป็นไฟล์ทบังคับที่ทำให้ธุรกิจต้องเร่งปรับตัว เปลี่ยนกลยุทธ์ ถึงไม่พร้อม ก็ต้องพร้อมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ดิจิทัลเทคโนโลยีและ “ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น” กลายมาเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยเปิดทางให้สามารถอยู่รอด ทว่าปัญหาคือการนำมาใช้จริงอาจ “ไม่ง่าย” ขณะเดียวกัน “ผลลัพธ์” ที่ได้อาจไม่สวยงามดังที่คาดหวัง
หนึ่งในปัญหาของธุรกิจวันนี้ “ไม่ใช่ไม่พร้อม” เพราะหลายรายสามารถเดินหน้าเข้าสู่โลกดิจิทัลได้เกินครึ่งตัวหรือเต็มตัวไปแล้ว หลายรายสามารถก้าวข้ามจุดที่เรียกว่า “เลวร้ายที่สุด” มาได้ จากการเรียนรู้ในสนามจริงเมื่อปีที่ผ่านมา ทว่าด้วย “สถานการณ์ที่ผันผวน” ควบคุมได้ยาก “การกระจายวัคซีนยังทำได้ล่าช้า” “ทางเลือกมีอยู่น้อย” ทำให้มีความเสี่ยงที่ไม่คาดฝันเกิดขึ้นได้เสมอ
กระแสที่เกิดขึ้นและน่าเป็นห่วงอย่างมากขณะนี้คือ “ปัญหาโลจิสติกส์” ที่มีวี่แววว่าจะบานปลายออกไปและกลายเป็นปัญหาที่ลุกลามใหญ่โตขึ้นได้หากไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ดีพอ
ล่าสุด “ไปรษณีย์ไทย” ออกมาประกาศอย่างเป็นทางการว่า มีความจำเป็นต้องปิดให้บริการรับฝากชั่วคราว หรืองดนำจ่ายชั่วคราว หรือนำจ่ายล่าช้าในบางพื้นที่ รวมทั้งปิดทำการที่ทำการไปรษณีย์ที่อยู่ในห้างสรรพสินค้าชั่วคราว ตามคำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19)
ทั้งได้ระงับการฝากส่งผลไม้สด ต้นไม้ กล้าพันธุ์ไม้ และของเน่าเสียง่ายเป็นการชั่วคราว ซึ่งหากใครที่ซื้อสินค้าออนไลน์อยู่เป็นประจำจะทราบว่าปัญหาล่าช้ามีมาสักพักแล้ว เพราะร้านค้าของดส่งสินค้าผ่านไปรษณีย์ไทยเนื่องจากบางสาขาปิดทำการ
ก่อนหน้านี้ “แฟลชเอ็กซ์เพรส” มีปัญหาพนักงานติดโควิดและต้องปิดศูนย์กระจายพัสดุวังน้อย ซึ่งผลกระทบกระจายไปในวงกว้างถึง 14 จังหวัดในภาคกลาง รวมถึงกรุงเทพมหานครบางเขต
แม้ผู้ให้บริการจะออกมารับผิดชอบ เยียวยาแล้วในบางส่วน แต่ก็คงทำอะไรมากไปกว่านั้นไม่ได้ เพราะนอกจากปัญหาการจัดส่งที่ยังค้างคา ยังมีปัญหาภายใน พนักงานต้องกักตัวไม่มีคนทำงาน และยังกลับเข้าไปทำงานในพื้นที่ไม่ได้จนกว่าจะได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการควบคุมโรค
คำถามคือ หลังจากนี้พ่อค้าแม่ขายจะทำอย่างไร ที่เสียหายไปแล้วก็คงต้องทำใจยอมรับสภาพ ชดใช้ ชดเชยให้ลูกค้ากันไป แต่โอกาสที่ “ขายได้ ก็เหมือนขายไม่ได้” เพราะปัญหาการจัดส่งยังคงค้างคา และเป็นไปได้ว่าอาจต้อง “เสียโอกาส” ไปอีกสักพักใหญ่ๆ เรื่องนี้จะมีทางออกอย่างไร
แน่นอนว่าความเสียหายที่ตามมาแน่ๆ แบบไม่ต้องคาดเดาคือ "การสูญเสียรายได้ของผู้ประกอบการ" โดยเฉพาะรายย่อยที่ทรัพยากรมีน้อย ต้นทุนมีอยู่ไม่มาก ทั้งรายเก่าที่ขายของได้น้อยลง คนตกงานที่ออกไปค้าขาย รวมถึงพนักงานเงินเดือนที่หารายได้เสริม
ที่พอจะทำได้วันนี้ก็คงมีเพียงไปใช้บริการผู้ให้บริการขนส่งรายอื่นๆ ที่ยังพอให้บริการได้อยู่ ก็ได้แต่หวังว่าจะไม่เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยลักษณะนี้ขึ้นอีก ธุรกิจออนไลน์มีธุรกิจขนส่งเป็นตัวเชื่อม ขายของได้แต่ส่งไม่ได้ทุกอย่างก็จบ...