ปรับกลยุทธ์ห่วงโซ่อุปทาน สร้างศูนย์กระจายสินค้าระดับอาเซียน
การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกหยุดชะงัก วิกฤติอุปทานทั่วโลกรวมถึงอุปสงค์เปลี่ยน
มาตรการปิดเมืองและการจำกัดการเดินทางเผยให้เห็นถึงความเปราะบางของห่วงโซ่อุปทานและระบบการผลิตของบริษัทข้ามชาติจำนวนมาก ดังนั้น ธุรกิจต่างๆ จึงควรหันมาพิจารณากลยุทธ์ห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกของตน
แม้ว่าการกระจายห่วงโซ่อุปทานนับเป็นกลยุทธ์ทางธุรกิจซึ่งต้องใช้เวลาในการดำเนินการ แต่บริษัทจำนวนมากก็ยังใช้ กลยุทธ์นี้ในการขยายฐานซัพพลายเออร์ไปยังที่ต่างๆ ซึ่งช่วยให้บริษัทตั้งอยู่ใกล้ตลาดผู้บริโภคหลักมากยิ่งขึ้น แม้จะมีการประกาศปิดพรมแดน แต่ธุรกิจก็ยังคงดำเนินการต่อไปได้
เพื่อให้บรรลุเป้าหมายนี้ บริษัทต่างๆ จึงควรพิจารณาจัดตั้งศูนย์กระจายสินค้าระดับภูมิภาค (RDCs) หนึ่งหรือสองแห่ง ที่อยู่ใกล้หรือในตลาดผู้บริโภคที่แท้จริง เพื่อใช้เป็นแผนสำรองหากห่วงโซ่อุปทานหยุดชะงักและเพื่อยกระดับศักยภาพ ในการกระจายสินค้า ผ่านการจัดส่งและเวลาในการตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่รวดเร็วยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ศูนย์กระจายสินค้าระดับภูมิภาคมีส่วนช่วยส่งเสริมให้บริษัทเสนอบริการเพิ่มมูลค่าต่างๆ เช่น การปรับเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์และการตรวจสอบการควบคุมคุณภาพเพื่อให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคและเงื่อนไขของแต่ละประเทศ
ประเทศในภูมิภาคอาเซียนมีคุณสมบัติที่ดีทั้งในด้านความคุ้มทุนและความสามารถในการแข่งขันสำหรับบริษัทที่กำลังต้องการกระจายห่วงโซ่อุปทานของตนเพื่อความยืดหยุ่นและการเติบโตทางธุรกิจ
หากพิจารณาประเทศต่างๆ ในภูมิภาคนี้ สิงคโปร์ มาเลเซีย และไทยถือเป็นตัวเลือกยอดนิยมในการจัดตั้งศูนย์กระจายสินค้าระดับภูมิภาคด้วยเหตุผลหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นความได้เปรียบทางด้านที่ตั้งเชิงยุทธศาสตร์ สิ่งอำนวยความสะดวกและโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสนับสนุนห่วงโซ่อุปทาน คุณภาพหรือความคุ้มทุนประสิทธิผลของแรงงาน ความง่ายในการดำเนินธุรกิจ รวมถึงนโยบายส่งเสริมของภาครัฐ
นอกจากนี้ ทั้งสามประเทศนี้ยังมีข้อดีอีกหลายประการสำหรับธุรกิจที่ต้องการได้รับประโยชน์จากการเติบโตของภูมิภาคอาเซียนและชนชั้นกลางที่กำลังขยายตัว ประการสุดท้าย การเลือกที่ตั้งศูนย์กระจายสินค้าขึ้นอยู่กับที่ตั้งของผู้บริโภคหลัก วิธีการขนส่งที่เลือกใช้ และความอ่อนไหวต่อต้นทุน
สิงคโปร์ – ศูนย์กลางบรรษัทระดับโลกประจำภูมิภาค
สิงคโปร์ถือเป็นศูนย์กลางเครือข่ายการขนส่งทางทะเลที่มีการจราจรคับคั่งที่สุดแห่งหนึ่งของโลก เชื่อมต่อท่าเรือกว่า 600 แห่งใน 123 ประเทศ สนามบินชางงีสิงคโปร์ถือเป็นสนามบินขนส่งสินค้าที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของทวีปเอเชีย แม้ว่าตลาดในประเทศจะมีขนาดเล็ก แต่สิงคโปร์กลับมุ่งมั่นเป็นศูนย์กลางการเปลี่ยนถ่ายสินค้าทางเรือ เชื่อมต่อเส้นทางเดินเรือระหว่างประเทศและเสนอบริการเพิ่มมูลค่าต่างๆ เช่น บริการรับเหมาด้านโลจิสติกส์ซึ่งมีโซลูชันแบบครบวงจรให้ลูกค้า
นอกเหนือจากการสร้างการเชื่อมต่อด้านโลจิสติกส์และความน่าเชื่อถือแล้ว สิงคโปร์ยังให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างนวัตกรรมด้านห่วงโซ่อุปทาน เช่น ศูนย์นวัตกรรมภาคพื้นเอเชียแปซิฟิกของ DHL ในสิงคโปร์มีสตูดิโอด้านการออกแบบที่เสาะหานวัตกรรมด้านโลจิสติกส์ เช่น แว่นตาอัจฉริยะสำหรับสายงานคลังสินค้า และโดรนสำหรับส่งสินค้าเร่งด่วน
นอกจากนี้ ระหว่างการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 รัฐบาลสิงคโปร์ยังออกแผนเชิงรุกเพื่อช่วยให้บริษัทโลจิสติกส์ดำเนินธุรกิจต่อไปได้ ด้วยการเปิดตัวคู่มือการวางแผนความต่อเนื่องทางธุรกิจ พร้อมมาตรการและการจัดการที่เหมาะสมสำหรับซัพพลายเออร์และลูกค้า
มาเลเซีย – โลจิสติกฮับที่หลากหลาย
สิ่งหลักที่ควรพิจารณาในการจัดตั้งศูนย์กระจายสินค้าระดับภูมิภาคในมาเลเซียคือความแตกต่างและข้อได้เปรียบของศูนย์กลางหลักสำคัญ 3 แห่งของประเทศ ได้แก่ กัวลาลัมเปอร์ ยะโฮร์ และปีนัง
สนามบินนานาชาติกัวลาลัมเปอร์เป็นสนามบินที่ใหญ่ที่สุดในมาเลเซีย ตั้งอยู่ใกล้กับท่าเรือแคลงและอยู่ตรงกลางระหว่างประเทศไทยและสิงคโปร์ จึงมีการขนส่งหลายรูปแบบให้เลือก ไม่ว่าจะเป็นทางอากาศ-ทางบก หรือทางน้ำ-ทางบก
ยะโฮร์เป็นรัฐที่ตั้งอยู่ใกล้สิงคโปร์มากที่สุด การดำเนินการศูนย์กระจายสินค้าระดับภูมิภาคยะโฮร์จึงได้รับประโยชน์จากค่าที่ดินและค่าแรงที่ต่ำกว่าประเทศอื่นของมาเลเซียพร้อมการเข้าถึงตลาดสิงคโปร์ นอกจากนี้ ทั้งสองประเทศยังสนับสนุนความร่วมมือทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนเพื่อการทำงานร่วมกันที่ดียิ่งขึ้น
ความน่าสนใจของปีนังอยู่ที่ฐานการผลิตสินค้าเทคโนโลยีและอิเล็กทรอนิกส์ที่มั่นคง พร้อมเครือข่ายซัพพลายเออร์ท้องถิ่นกว่า 3,000 ราย ครอบคลุมการผลิตแขนงต่างๆ เช่น ระบบควบคุมอัตโนมัติ อิเล็กทรอนิกส์ บรรจุภัณฑ์ พลาสติก วิศวกรรมความแม่นยำ งานโลหะ และการพัฒนาซอฟต์แวร์ จึงเห็นได้ชัดถึงความสามารถของรัฐปีนังในการดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และไฟฟ้า เครื่องจักรและอุปกรณ์ เครื่องมือวิทยาศาสตร์และเครื่องมือวัด ซึ่งคิดเป็นครึ่งหนึ่งของเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศทั้งหมดของประเทศ และเป็นอันดับสามในด้านเงินลงทุนในภาคการผลิต
นอกจากนี้ บริษัทด้านเทคโนโลยีและธุรกิจสุขภาพยังคงพร้อมใจกันเข้าไปจัดตั้งธุรกิจในปีนังเนื่องจากระบบนิเวศการลงทุนที่ให้การสนับสนุนผ่านสำนักงานส่งเสริมการลงทุนของประเทศ เช่น InvestPenang และ Penang Development Corporation
ความพยายามสำคัญที่จะช่วยผลักดันบทบาทของมาเลเซียในฐานะศูนย์กระจายสินค้าระดับภูมิภาคคือการพัฒนาเขตการค้าเสรีดิจิทัล (Digital Free Trade Zones หรือ DFTZs) โดยเล็งเห็นประโยชน์จากการเติบโตของเศรษฐกิจอินเทอร์เน็ตและพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดน
หนึ่งในองค์ประกอบของเขตการค้าเสรีดิจิทัลคือการพัฒนาแพลตฟอร์มบริการอิเล็กทรอนิกส์ในการจัดการการเดินพิธีการศุลกากรสินค้าและกระบวนการอื่นๆ ที่จำเป็นสำหรับการค้าข้ามพรมแดนอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับความน่าดึงดูดของมาเลเซียในฐานะศูนย์กลางส่งสินค้าระดับภูมิภาคสำหรับแบรนด์ระดับโลกในการเข้าถึงผู้ซื้อในภูมิภาคอาเซียน
ประเทศไทย – ความฝันด้าน (ยานยนต์) ไฟฟ้า
ประเทศไทย และโดยเฉพาะอย่างยิ่งกรุงเทพมหานคร ตั้งอยู่ใจกลางภูมิภาคลุ่มน้ำโขง จึงเป็นจุดเชื่อมต่อผู้ผลิตในอินโดจีนกับผู้บริโภคในภูมิภาคจีนตอนใต้
เพื่อยกระดับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในฐานะศูนย์กลางการผลิตและโลจิสติกส์ ประเทศไทยได้เปิดตัวเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor หรือ EEC) โดยจะปรับพื้นที่ 13,285 ตารางกิโลเมตรใน 3 จังหวัด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง ให้เป็นศูนย์กลางการผลิตที่เข้าถึงได้ทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ พร้อมทั้งยังเชื่อมต่อกับกัมพูชา เมียนมา และเวียดนาม ซึ่งถือเป็นตลาดที่กำลังเติบโตในอนาคตของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
นอกจากนี้ ไทยยังเป็นฐานการผลิตยานยนต์ที่สำคัญมาอย่างยาวนาน จึงอาจปรับข้อได้เปรียบของทรัพยากรที่มีคุณภาพสูงในการผลิตยานยนต์มาใช้เป็นศูนย์กระจายสินค้าระดับภูมิภาคสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ในภูมิภาคได้อีกด้วย
ไทยตั้งเป้าผลิตรถยนต์ไฟฟ้าให้ได้ราวร้อยละ 30 ของปริมาณรถยนต์ที่ผลิตทั้งหมดภายในปี 2030 เพื่อรับมือกับปัญหามลพิษทางอากาศ เพื่อส่งเสริมศักยภาพในการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า รัฐบาลไทยได้ประกาศมาตรการจูงใจต่างๆ เช่น ผู้ผลิตรถยนต์ประเภทปลั๊ก-อินไฮบริด (PHEV) จะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปีและผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (BEV) จะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี ในขณะที่ความต้องการรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้นและภาคอุตสาหกรรมเริ่มเติบโต บทบาทของประเทศไทยในฐานะศูนย์กระจายสินค้าระดับภูมิภาคสำหรับภาคอุตสาหกรรมเกิดใหม่นี้ก็น่าจะเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน
ติดตามอ่านบทความอื่นๆ สำหรับการดำเนินธุรกิจในอาเซียนได้ที่ https://www.uobgroup.com/uobgroup/index.page