โอกาสการลงทุนจากกองทุนดัชนี (Passive Fund)
กองทุนดัชนี (Index Fund) หรือ Passive Fund คือ กองทุนที่ถูกออกแบบมาโดยให้ผลตอบแทนเคลื่อนไหวใกล้เคียงกับดัชนีตลาดที่ต้องการลอกเลียนแบบ
ซึ่งปกติการลงทุนของกองทุนรวมดัชนีจะประกอบไปด้วยสินทรัพย์ทุกตัวในตลาดนั้น ๆ เช่น กองทุน SET50 Index ก็จะประกอบไปด้วยการลงทุนในหุ้นทั้ง 50 ตัวทั้งหน้าหุ้น และน้ำหนักการลงทุนที่ประกอบขึ้นเป็นดัชนี SET50 Index โดยผู้จัดการกองทุนจะเป็นผู้ทำหน้าที่บริหารจัดการให้ราคาของกองทุนดัชนีเคลื่อนไหวในทิศทางใกล้เคียงกับดัชนีให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เช่น หากดัชนี SET50 Index ปรับเพิ่มขึ้นหรือลดลง +/- 5% กองทุนดัชนีก็ควรเคลื่อนไหวเพิ่มขึ้นหรือลดลงในระดับเดียวกันก็จะถือว่าการบริหารจัดการกองทุนมีประสิทธิภาพ ดังนั้นเป้าหมายของผู้จัดการกองทุนในการบริหารกองทุนดัชนีจึงมีความแตกต่างกับกองทุนอีกประเภทที่ผู้จัดการกองทุนจะพยายามบริหารจัดการให้ผลตอบแทนสูงกว่าผลตอบแทนตลาด ซึ่งกองทุนประเภทนี้จะถูกเรียกว่า การลงทุนเชิงรุก หรือ Active Fund นั่นเอง โดยการลงทุนประเภท Index Fund นี้มีจุดเด่นหลายประการที่ทำให้นักลงทุนเพิ่มความนิยม ได้แก่
ต้นทุนที่ต่ำกว่ามาก โดยปกติกองทุน Index Fund จะมีต้นทุนการบริหารต่ำกว่ากองทุน Active Fund ที่มีสัดส่วนค่าใช้จ่ายอาจสูงถึง 1-2 % ส่วนหนึ่งเนื่องจากการลงทุนของกองทุนดัชนีที่แทบจะเหมือนกับดัชนีที่ลอกเลียนแบบ จึงอาจไม่ต้องใช้บุคลากรจำนวนมากเพื่อทำการวิเคราะห์และทบทวนหลักทรัพย์ที่เข้าลงทุน ผู้จัดการกองทุนเพียงปรับเปลี่ยนการลงทุนเมื่อหลักทรัพย์ถูกนำเข้าและถอดออกจากดัชนีเป็นต้น ซึ่งค่าใช้จ่ายที่ลดลงก็จะส่งผลให้เกิดผลตอบแทนที่สูงขึ้น โดยเฉพาะหากเป็นการลงทุนระยะยาวจะยิ่งช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายไปได้มาก
ความสะดวกและความง่ายในการติดตาม เนื่องจากการลงทุนในกองทุนรวมนักลงทุนมักไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลของสินทรัพย์ที่ลงทุนทั้งหมด ซึ่งโดยปกติบริษัทจัดการกองทุนก็มักจะเปิดเผยเฉพาะ 5 ถึง 10 อันดับแรกที่กองทุนลงทุนอยู่เท่านั้น ต่างกับกองทุนดัชนีที่นักลงทุนจะรู้แน่นอนว่ากองทุนลงทุนอะไรอยู่ตามดัชนีที่เราเลือกลงทุน ขณะที่การติดตามผลการดำเนินงานก็ง่ายเนื่องจากผลตอบแทนของกองทุนก็จะเคลื่อนไหนไปตามดัชนีอ้างอิง
มีความหลากหลาย นอกเหนือจากดัชนีตลาดในประเทศ เช่น SET Index หรือ SET50 Index แล้ว นักลงทุนสามารถกระจายการลงทุนไปในตลาดหุ้นสำคัญ ๆ ของโลกได้ทั้งในตลาดหุ้นประเทศพัฒนาแล้ว และตลาดหุ้นประเทศเกิดใหม่ เช่น สหรัฐฯ ยุโรป ญี่ปุ่น และจีน รวมถึงลงลึกในรายกลุ่มอุตสาหกรรม เช่น เทคโนโลยี พลังงาน พาณิชย์ และธนาคาร เป็นต้น
นักลงทุนบางส่วนขาดความเชื่อมั่นในการบริหารกองทุนแบบ Active เนื่องจากผลการดำเนินงานมีความผันผวน เช่น ในบางปีผู้จัดการกองทุนอาจสร้างผลตอบแทนได้ดีกว่าดัชนีเทียบวัดมาก แต่ในทางกลับกันก็สามารถทำผลตอบแทนน้อยกว่าดัชนีเทียบวัดมาก ๆ ได้เช่นกัน ในระยะยาวบางกองทุนอาจมีผลตอบแทนที่ต่ำกว่าดัชนีเทียบวัด จึงทำให้มีนักลงทุนบางส่วนไม่ต้องการมีความเสี่ยงในด้านนี้จึงให้ความสนใจลงทุนในกองทุนประเภท passive หรือกองทุนดัชนีแทน
ซึ่งจากการศึกษาพบว่าผลตอบแทนของกองทุนดัชนีสามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีกว่ากองทุน Active Fund โดยจากรายงานของ Morningstar ได้ศึกษาผลตอบแทนของกองทุนกว่า 4,400 กองทุน ในประเทศสหรัฐฯ ซึ่งมีสินทรัพย์รวมกันกว่า 14 ล้านล้านดอลลาร์ สรอ. หรือคิดเป็นประมาณ 67% ของกองทุนทั้งหมดในสหรัฐฯ พบว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมามี Active Fund เพียง 8-14% เท่านั้นที่สามารถสร้างผลตอบแทนชนะตัวชี้วัดหรือดัชนีที่ตัวเองแข่งขันอยู่ ด้วยเหตุนี้ความนิยมในกองทุนรวมดัชนีจึงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จากความสม่ำเสมอของผลตอบแทนที่สูงกว่าในระยะยาว
อย่างไรก็ดีในภาวะตลาดหุ้นเข้าสู่แนวโน้มขาลงนั้นกองทุนดัชนีมีอาจมีผลตอบแทนที่ผันผวนสูง เนื่องจากผู้จัดการกองทุนจะยังคงเน้นการบริหารกองทุนให้ผลตอบแทนเคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกันกับดัชนี และไม่ได้มีการปรับสัดส่วนเพิ่มการถือเงินสด ซึ่งแตกต่างกับผู้จัดการกองทุนประเภท Active Fund ที่สามารถจะเพิ่มเงินสดในกองทุนเพื่อลดความผันผวนของผลตอบแทนได้
ดังนั้น การลงทุนผ่านกองทุนดัชนีก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกลงทุนที่ดีเช่นกัน ซึ่งเหมาะกับนักลงทุนที่ต้องการเริ่มลงทุน และนักลงทุนที่มีประสบการณ์ลงทุนอยู่แล้วที่ต้องการกระจายการลงทุนไปยังตลาดหุ้นต่างประเทศที่เราไม่คุ้นเคย และไม่สามารถติดตามผลประกอบการของหุ้นรายตัวได้ทั่วถึง โดยที่นักลงทุนยังสามารถหาจังหวะซื้อ/ขาย ทำกำไรเองได้ตามทิศทางตลาด อย่างไรก็ตาม การลงทุนประเภทใดก็ตาม ควรพิจารณาถึงความเสี่ยงที่รับได้เป็นส่วนประกอบที่สำคัญในการลงทุน