เอสเอ็มอีรุ่นใหม่กับการเตรียมตัวเป็นนักสร้างนวัตกรรม
มีหลายคนเชื่อว่า การสร้างนวัตกรรมเรียนรู้กันไม่ได้ เป็นเรื่องของความอัจฉริยะหรือความสามารถเฉพาะตัว
หรือไม่ก็เป็นเรื่องของโชคชะตาหรือการมีดวงดีของแต่ละบุคคลที่ไม่เหมือนกัน
แต่ข้อเท็จจริงที่ปรากฏขึ้นแทบจะทั่วโลกก็คือ บรรดามหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกต่างๆ ต่างก็เปิดให้มีการเรียนการสอนในสาขาวิชานวัตกรรมกันอย่างเต็มรูปแบบ
บางมหาวิทยาลัย มีชื่อเสียงมาอย่างยาวนานแล้วในเรื่องของการสร้างนิสิตนักศึกษาของตนให้จบออกมาเป็นนักธุรกิจนวัตกรรม หรือแม้กระทั่งยังเรียนไม่จบ ก็สามารถหันมาจับเส้นทางเดินจนกลายเป็นนักธุรกิจนวัตกรรมที่มั่งคั่งร่ำรวย จนเป็นแบบฉบับในฝันของคนรุ่นใหม่ให้ชื่นชมมากมายและอยากเลียนแบบ
ความสับสนและเชื่อมั่นว่าการสร้างนวัตกรรมเป็นเรื่องของโชคและดวง โดยเฉพาะในบริบทของประเทศไทยก็คือ ปัจจุบันคือ มีผู้ใช้คำว่า “นวัตกรรม” อย่างกว้างขวาง ในความหมายที่ผู้พูดต้องการให้เป็นไปตามความต้องการของตนเองเพื่อทำให้ตนเองมีความสำคัญ หรือมีความโดดเด่นกว่าคนอื่น จนทำให้คำว่า “นวัตกรรม” กลายเป็นเรื่องธรรมดาที่ยกขึ้นมาอ้างกันได้ง่ายๆ ทุกวัน จนกลายเป็นความรู้สึกว่า เป็นเรื่องที่ไม่น่าสนใจเรียนรู้อย่างจริงจัง
ความเข้าใจเกี่ยวกับนวัตกรรม อาจต้องเริ่มจากการแยกแยะความหมายระหว่างคำว่า “ความคิดสร้างสรรค์” กับ “การสร้างนวัตกรรม”
โดย “นวัตกรรม” ไม่ใช่เป็นเรื่องเฉพาะแค่การเกิดความคิดเท่านั้น “นวัตกรรม” ต้องมีการสร้าง(สรรค์) หรือ การประดิษฐ์คิดค้น เพื่อทำให้ความคิดสร้างสรรค์นั้นกลายมาเป็นสิ่งที่จับต้องได้อย่างเป็นรูปธรรม และสามารถส่งต่อคุณค่าไปยังผู้อื่นและคนหมู่มากได้ต่อไป
ส่วน “ความคิดสร้างสรรค์” หากไม่ได้ทำให้เกิดขึ้นจริงได้ ก็จะเป็นเพียงความคิดเท่านั้นเอง ไม่ถือว่าเป็นนวัตกรรม
คำนิยามของ “นวัตกรรม” จึงต้องมีความชัดเจน และเอสเอ็มอีรุ่นใหม่จะต้องรับรู้ถึงคำนิยามนี้ เพื่อเป็นแรงบันดาลใจหรือแรงขับตันต่อเป้าหมายอาชีพหรือการดำรงค์ชีพของเยาวชนต่อไปในอนาคต
ในความหมายเชิงกว้าง “นวัตกรรม หมายถึงการใช้ความรู้มาสร้างสรรค์ให้เกิดสิ่งใหม่ (ที่ไม่เคยมีมาก่อน) ที่มีคุณค่าหรือมีประโยชน์สูงขึ้นต่อผู้คนหมู่มากได้อย่างประสบความสำเร็จและได้รับการยอมรับ” ดังนั้น หากเยาวชนจะต้องศึกษาและเรียนรู้ถึงวิธีการ “สร้าง” สิ่งที่ “คิดสร้างสรรค์” ไว้ให้เป็นรูปธรรมขึ้นมาด้วย
“สิ่งใหม่” ที่จะถือได้ว่าเป็น “นวัตกรรม” จะต้องดูจาก “คุณค่า” หรือ “ผลกระทบ” ที่เกิดขึ้นจากการสร้างสรรค์นั้นๆ ในปัจจุบัน ในปัจจุบัน คุณค่าของนวัตกรรมจะแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ “คุณค่าในเชิงพาณิชย์” ซึ่งหมายถึง การสร้างผลกำไรหรือผลตอบแทนจากนวัตกรรมกลับมาให้กับผู้สร้างนวัตกรรมเป็นตัวเงิน เป็นความเติบโตของธุรกิจ หรือ เป็นความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจที่เหนือกว่าคู่แข่ง และ “คุณค่าในเชิงสังคม” ซึ่งหมายถึง การสร้างผลกระทบที่ทำให้สังคมดีขึ้นกว่าในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นในด้านชีวิตความเป็นอยู่ที่สะดวกสบายมากขึ้น การคมนาคม โทรคมนาคม สังคมข่าวสาร หรือ การทำให้สภาวะสิ่งแวดล้อมของโลกดีขึ้น การลดมลพิษ หรือการฟื้นฟูสภาพอากาศ
พื้นฐานเบื้องต้นที่จะนำไปสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรม เห็นจะหนีไม่พ้นพื้นฐานความรู้ในสาขาวิทยาศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นวิทยาศาสตร์กายภาพ (Physical sciences) วิทยาศาสตร์ชีวภาพ (Biological Sciences) ฯลฯ ที่จะทำให้เข้าใจถึงข้อเท็จจริง และกฎเกณฑ์ที่เกิดในธรรมสำหรับการศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับนวัตกรรมเชิงพาณิชย์ที่ต้องเน้นไปที่การสร้างทักษะเชิงตรรกะและเทคโนโลยี
ส่วนอีกด้านหนึ่งได้แก่ วิชาวิทยาศาสตร์สังคม (Social sciences) วิทยาศาสตร์การเมือง (Political sciences) ฯลฯ หากต้องการเรียนรู้ต่อยอดเพื่อเป็นนักสร้างสรรค์นวัตกรรมเชิงสังคม และมีพื้นฐานของความเข้าใจความเป็นไปของมนุษย์ รวมถึงทักษะด้านมนุษยสัมพันธ์ หรือ Soft skill
จะเห็นได้ว่า “นวัตกรรม” ไม่ใช่เป็นเรื่องที่ใครนึกอยากจะทำก็ทำได้โดยง่าย หรือเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจาก “โชคช่วย” แต่เป็นเรื่องที่สามารถศึกษา เรียนรู้ และฝึกฝนเพื่อให้เกิดเป็นทักษะและความเชี่ยวชาญขึ้นได้ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของคนรุ่นใหม่ที่จะศึกษาหาความรู้เรื่องของนวัตกรรมได้อย่างเป็นกิจลักษณะ
นอกจากนี้ ยังมีนักวิจัยจำนวนมากที่ทำการศึกษาเพื่อรวบรวมองค์ความรู้ด้านนวัตกรรมในสถาบันวิจัยต่างๆ จนเป็นที่มาขององค์ความรู้และทฤษฎีนวัตกรรม ต่างๆ มากมาย ที่มีการนำมาใช้ เช่น คำว่า “Disruption” ก็มาจากทฤษฎี Disruptive Innovation, ทฤษฎี Open Innovation, ทฤษฎี Business Model Innovation ฯลฯ เป็นต้น
ที่ถูกนำมาใช้ในทุกวันนี้ จนอาจเลยกรอบของความหมายของทฤษฎีในเชิงวิชาการ