สื่อสารอย่างสร้างสรรค์ ช่วยกันลดความขัดแย้ง

สื่อสารอย่างสร้างสรรค์ ช่วยกันลดความขัดแย้ง

ปีที่ผ่านมานี้การแสดงความเห็นที่รุนแรงในสื่อสาธารณะมีมากขึ้นทำให้ความขัดแย้งในสังคมไทยขยายออกไปเป็นวงกว้าง ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าห่วงใยมาก

ผู้เขียน สายธาร หงสกุล กลุ่มนโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล

 ประเทศไทยเคยผ่านวิกฤติมาหลายครั้ง การสร้างความปรองดองในชาติ ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นได้ง่าย ต้องใช้เวลา การสร้างความเข้าใจในกลุ่มต่างๆที่มีความคิดเห็นต่างหรือผลประโยชน์หลากหลาย ต้องยึดความยุติธรรมรวมทั้งอาศัยความอะลุ่มอล่วยไม่ให้ฝ่ายใดได้เปรียบหรือเสียเปรียบเกินไป

 การสื่อสารเป็นส่วนสำคัญในกระบวนการนั้นเพื่อเสริมสร้างความเข้าใจ การสื่อสารที่ผิดพลาดอาจสร้างความบาดหมางทำให้ความขัดแย้งขยายวงกว้างขึ้นไปอีก บทความนี้ขอนำข้อเสนอแนะที่จะส่งเสริมให้การสื่อสารดำเนินไปทางสร้างสรรค์ลดความขัดแย้งอันอาจนำไปสู่ความแตกแยกมากล่าวไว้ แม้ต้นตอของความขัดแย้งจะไม่หมดไปโดยสิ้นเชิง 

การสื่อสารที่ดีจะทำให้มีความเข้าใจผู้อื่นดียิ่งขึ้น การรู้จักมองต่างมุมจะนำไปสู่การรู้จักเคารพสิทธิ์ผู้อื่น ความเห็นใจและเมตตาต่อกันและกัน และเป็นพื้นฐานของการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ 

ความจริงใจ การให้เกียรติ และความมีมารยาทในการสื่อสาร  จุดเริ่มต้นสำคัญของการสื่อสารคือการทำให้คู่สนทนารู้สึกถึงความจริงใจและการให้เกียรติซึ่งกันและกัน สร้างบรรยากาศของการสนทนาที่เอื้อต่อการแลกเปลี่ยนความคิด เริ่มจากหาจุดร่วมแล้วค่อยๆขยายไป แม้ถึงจุดที่ไม่สามารถตกลงกันได้ ก็ยอมรับได้ว่าตกลงที่จะไม่เห็นด้วย การค่อยๆขยายพื้นที่ร่วมย่อมดีกว่าการขยายความขัดแย้ง 

เรียนรู้ที่จะรับฟังความเห็นต่างอย่างอารยะ เปิดใจให้กว้าง อย่าด่วนตัดสินผู้อื่น ตระหนักว่าการที่ผู้อื่นมีความเห็นไม่เหมือนเรานั้น  ไม่ได้แปลว่าผู้นั้นเป็นคนไม่ดีหรือไม่ฉลาด ประสบการณ์ชีวิตของแต่ละคนไม่เหมือนกัน การได้แลกเปลี่ยนพูดคุยกันนั้น จะทำให้เราเข้าใจว่า ทำไมเขาจึงมีความคิดหรือข้อสรุปที่ไม่เหมือนเรา การแลกเปลี่ยนประสบการณ์และมุมมองช่วยให้เรามองปัญหาหลายแง่มุม อาจนำไปสู่วิธีแก้ปัญหาแบบร่วมมือกันได้ 

การใช้โซเชียลมีเดียและเทคโนโลยีอย่างมีสติและใช้ปัญญา การมีเทคโนโลยีใหม่หลายชนิดในการสื่อสารนั้นเป็นดาบสองคม ข้อดีของเทคโนโลยีช่วยให้การรับข้อมูลและการสื่อข่าวสารถึงคนจำนวนมากได้เร็วขึ้น กว้างขึ้น และสะดวก แต่ข้อเสียก็มีหลายประการ 

นอกเหนือจากประเด็นข่าวปลอมเฟคนิวส์แล้ว การใช้อัลกอริทึมของโซเชียลมีเดียที่เลือกสรรข่าวสารข้อมูลให้ผู้ใช้ มักทำให้เราได้รับข่าวสารจากฝ่ายที่มีความคิดเหมือนเรา เป็นการตอกย้ำความคิดแนวเดียวกัน อาจทำให้เรามีอคติหนักขึ้น ไม่สามารถประเมินความเป็นจริงได้อย่างถูกต้อง สร้างความเข้าใจที่ผิด และเกิดอาการเอียงหนักขึ้น 

 ทางออกหนึ่งคือพยายามเข้าถึงสื่อที่หลากหลาย แม้จะมาจากฝั่งที่เราไม่เห็นด้วย การรับข้อมูลข่าวสารที่หลากหลายนี้จะทำให้เราเกิดความเข้าใจสถานการณ์ที่แท้จริง ได้ภาพรวมที่สมดุล และอาจช่วยลดอคติลง 

การแสดงความเห็นในโซเชียลมีเดียที่มีการตั้งค่าเป็นสาธารณะควรระมัดระวังเป็นพิเศษ ทั้งผู้ตั้งกระทู้และผู้ออกความเห็น ที่ผ่านมาจะเห็นว่ามีปรากฏการณ์”ทัวร์ลง”เกิดขึ้นบ่อย มีการด่าทอ ละเมิดสิทธิ์ ไล่ล่าบุลลี่ ขยายความขัดแย้งเป็นวงกว้างขึ้นไป หลายครั้งนำไปสู่การฟ้องร้องทางกฎหมาย เสียทั้งเวลาและทรัพยากรของคู่กรณีและของสังคม 

ผู้ใช้โซเชียลมีเดียพึงตระหนักว่าทุกคนมีความรับผิดชอบต่อส่วนรวม การแสดงความคิดเห็นต้องอยู่ในกรอบของความเหมาะสมตามกฎเกณฑ์สังคมและไม่ผิดกฎหมาย ต้องระวังไม่ให้โทสะบังปัญญา 

การเสนอข่าวและแสดงความคิดเห็นผ่านโซเชียลมีเดียนั้นขาดผู้ทำหน้าที่กลั่นกรองและรับผิดชอบในบทบาทบรรณาธิการ ซึ่งต่างจากสื่อหลักที่บรรณาธิการมีหน้าที่รับผิดชอบพิจารณาความเหมาะสมและแง่มุมทางกฎหมายก่อนเผยแพร่ การสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดียที่ขาดการยั้งคิดจึงทำให้ความขัดแย้งในสังคมกระจายไปได้เร็วและไกลมาก มีส่วนสร้างความแตกแยกในสังคมที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ บางครั้งนำไปสู่การไม่เคารพกฎหมาย การใช้ความรุนแรงทำลายทรัพย์สินสาธารณะ  

ข้อเสียของโซเชียลมีเดียข้อนี้แม้จะเป็นที่ตระหนักแต่ยังไม่มีข้อเสนอวิธีแก้ไขที่เป็นบรรทัดฐาน ดังนั้นสิ่งที่เราทำได้ในปัจจุบันคือการระมัดระวังด้วยตัวเราเอง รู้จักยั้งคิด มีสติและใช้ปัญญาไตร่ตรองทั้งการเผยแพร่ข่าวสารความเห็น และการรับฟัง คิดถึงผลลัพธ์ที่จะตามมาทั้งแง่บวกแง่ลบ ช่วยกันเสริมสร้างมาตรฐานการใช้โซเชียลมีเดียแบบอารยะ ไม่สนับสนุนผู้ที่เรียกร้องความรุนแรง ละเมิดสิทธิ์ผู้อื่น

 การให้พื้นที่แสดงความเห็นหลากหลายในสื่อหลัก ในส่วนของสื่อหลักนั้นแนวโน้มปัจจุบันมีการเลือกสรรข่าวนำเสนอแบบชี้นำโน้มเอียงไปทางที่สื่อเห็นด้วย ซึ่งทำให้ความน่าเชื่อถือของสื่อหลักลดลง สิ่งที่ขาดหายไปคือสื่อที่สามารถนำเสนอความเห็นที่หลากหลาย เพื่อประชาชนจะได้ฟังความหลายๆด้านเพื่อประกอบการตัดสินใจด้วยตนเอง แม้แต่การดีเบตอภิปราย ปัจจุบันยากมากที่จะมีการนำสองฝั่งความคิดมาพูดคุยกันแบบอารยะ โดยผู้ดำเนินรายการไม่ถือหางข้างใดข้างหนึ่ง พื้นที่ตรงกลางนี้มีความสำคัญยิ่งที่จะช่วยลดความขัดแย้งแตกแยกในสังคม เป็นสิ่งที่ควรได้รับการสนับสนุนอย่างเร่งด่วน

 ภาครัฐเปิดโอกาสรับฟังความเห็นและการมีส่วนร่วมจากกลุ่มต่างๆกว้างขวางมากขึ้น รัฐควรจัดให้มีกลไกส่งเสริมการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น จากกลุ่มต่างๆทั้งผู้สนับสนุนและผู้ไม่เห็นด้วย โดยเฉพาะให้โอกาสคนรุ่นใหม่มีส่วนร่วม การเข้าถึงประชาชนให้กว้างขึ้น เพื่อรับฟังความคิดเห็นและพิจารณาข้อเสนอของประชาชนอย่างจริงใจ เพื่อนำมาระดมความคิดในการวางแผนนโยบายหรือออกแบบมาตรการ  น่าจะนำไปสู่ความรู้สึกมีส่วนร่วมในการกำหนดอนาคตของชาติ ช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่ดีขึ้น

 การประชาสัมพันธ์เป็นการนำเสนอสิ่งที่รัฐต้องการสื่อ ซึ่งไม่เพียงพอ การสนทนากับประชาชนที่จะสัมฤทธิ์ผลจะต้องมีทั้งการฟังและการพูด เป็นการสื่อสารสองด้าน  การสร้างบทสนทนาระหว่างรัฐและประชาชน อาจทำได้หลายรูปแบบ เช่นเวทีอภิปราย จัดสัมมนา การสัมภาษณ์ หรือช่องทางใหม่ๆ เช่น คลับเฮ้าส์

 นอกจากนี้การให้ข้อมูลข่าวสารที่โปร่งใส ไม่สับสน ทันเหตุการณ์ และการแสดงความเห็นอกเห็นใจจากภาครัฐต่อประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากภาวะโรคระบาด และปัญหาเศรษฐกิจ จะช่วยสร้างขวัญกำลังใจกับประชาชนที่กำลังเผชิญปัญหาในภาวะปัจจุบัน  

 ประเทศไทยกำลังประสบปัญหารุมล้อมหลายด้าน ความสามัคคีในชาติเป็นสิ่งสำคัญยิ่งที่จะช่วยให้เราฝ่าฟันอุปสรรคไปได้  ความเห็นที่แตกต่างและข้อขัดแย้งในสังคมเป็นปรากฏการณ์ที่มีมาทุกยุคทุกสมัยและเกิดขึ้นในทุกประเทศ ประสบการณ์ที่ผ่านมาบอกเราว่าความแตกต่างไม่จำเป็นต้องนำไปสู่ความแตกแยก

 สังคมที่สงบสุขไม่จำเป็นที่ทุกคนจะมีความเห็นตรงกันในทุกเรื่อง แต่เป็นสังคมที่สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติแม้จะมีความแตกต่าง การให้พื้นที่แสดงความคิดเห็น การเคารพสิทธิ์รู้จักให้เกียรติผู้อื่น ความเสมอภาค การเคารพกฎหมายและกฎเกณฑ์ในสังคม และการสื่อสารที่สร้างสรรค์ เป็นองค์ประกอบสำคัญที่จะนำไปสู่สังคมที่อยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ.