เบื้องหลัง… จีนปรับกลยุทธ์บริหารเศรษฐกิจครั้งใหญ่
หลายคนคงสงสัยกันว่า ทำไมอยู่ดีๆ รัฐบาลจีนภายใต้ผู้นำอย่าง สี จิ้น ผิง จึงหันมาเอาจริงเอาจังกับบริษัทที่อยู่ในตลาดทุน
ถือว่าค่อนข้างที่จะเล่นบทแข็งกร้าวกับบรรดาบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ของจีนเอง ตรงนี้ ก่อนอื่นต้องมาทำความเข้าใจกับแนวทางการบริหารเศรษฐกิจจีนในยุคใหม่กันก่อน
ในวาระการเฉลิมฉลองพรรคคอมมิวนิสต์จีนครบรอบ 100 ปีเมื่อเร็วๆนี้ ทางการจีนได้ประกาศโร้ดแมปเศรษฐกิจจีนจะเติบโตด้วยกลยุทธ์แบบผสมผสานให้มีการหมุนเวียนของกิจกรรมทางเศรษฐกิจแนวคู่ขนาน หรือ แบบฟงหวิ๋น นั่นคือ ต้องมีความสมดุลระหว่างการหมุนเวียนของเศรษฐกิจภายในประเทศจีนและนอกประเทศจีน
‘การหมุนเวียนของเศรษฐกิจภายในประเทศจีน’ ประกอบด้วยองค์ประกอบ 2 ส่วน ได้แก่ 1. การค่อยๆขจัดการพึ่งพาชิ้นส่วนสำคัญและเทคโนโลยีชั้นสูงจากต่างประเทศ หรือที่ทางฝรั่งเรียกว่า Decoupling และ 2. การช่วยเหลือให้บริษัทของจีนเองเป็นเจ้าตลาดในอุตสาหกรรมหลักต่างๆในประเทศจีน ไม่ว่าจะผ่านการสนับสนุนทางการเงินหรือการออกกฎเกณฑ์ที่เอื้อต่อบริษัทในประเทศก็ตาม
อย่างไรก็ดี บริษัทในภาคเอกชนจีนก็ต้องอยู่ในกรอบหรือกฎเกณฑ์ที่รัฐบาลจีนวางไว้ โดยหลัก มีอยู่ 3 ข้อ ในส่วนนี้ คือ ข้อหนึ่ง ต้องไม่ปิดบังข้อมูล ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลในเชิงกลยุทธ์ขนาดไหนก็ตามต่อรัฐบาล และต้องไม่นำข้อมูลดังกล่าวมาใช้เพื่อความได้เปรียบเชิงการแข่งขันทางธุรกิจกับบริษัทอื่นๆของจีนเอง ข้อสอง ธุรกิจที่ทำอยู่ต้องไม่ขัดกับแนวทางการพัฒนาประเทศในในมิติของเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม และ ข้อสาม ภาคเอกชนต้องไม่วิจารณ์การทำงานหรือผลงานของรัฐบาลจีน
ด้าน ‘การหมุนเวียนของเศรษฐกิจภายนอกประเทศจีน‘ นั้น ทางการจีนต้องการใช้จุดแข็งของภาคเอกชนจีนดังกล่าว ไปหารายได้และสร้างอิทธิพลในเชิง Soft Power ต่อนานาประเทศ โดยที่ไม่เผยแพร่ข้อมูลที่ถือว่าเป็นผลเสียเชิงกลยุทธ์และความมั่นคงต่อหน่วยงานใดๆในต่างประเทศ ซึ่งนั่นคือ ข้อที่สี่ของสิ่งที่บริษัทในภาคเอกชนจีนต้องอยู่ในกรอบที่รัฐบาลวางไว้
และก็มาถึงการอธิบายเหตุผลที่รัฐบาลจีนดำเนินนโยบายที่ถือว่าค่อนข้างแข็งกร้าวต่อบรรดาธุรกิจบริษัทเทคโนโลยีจีนขนาดใหญ่ ไล่มาตั้งแต่
- การระงับการออกขายหุ้น Ant Financial ที่ตลาดหุ้นฮ่องกง ด้วยเหตุผลที่คาดกันว่า แจ็ค หม่า ของAlibaba ไปวิจารณ์การทำงานของทางการในประเด็นการกำกับสถาบันการเงินภาคเอกชนจีนว่าไม่ทันสมัย ในงานสัมมนาที่มีผู้ใหญ่ของรัฐบาลจีนร่วมเป็นวิทยากรด้วย
เหตุผล: แจ็ค หม่า แห่ง Alibaba ทำผิดกฎข้อสามของทางการจีน นั่นคือ ภาคเอกชนต้องไม่วิจารณ์การทำงานหรือผลงานของรัฐบาลจีน
- Meituan Danping ธุรกิจFood Delivery อันดับหนึ่งของจีน ที่รัฐบาลจีนขอให้เลิกการบังคับให้บรรดา rider เลือกใช้บริการ Meituan เพียงเจ้าเดียวเท่านั้น รวมถึงให้เปิดเผยข้อมูลอื่นๆที่เหมือนจะเปิดทางให้ตนเองได้เปรียบเหนือคู่แข่งจนกลายเป็นพฤติกรรมเหมือนธุรกิจผูกขาด
เหตุผล: Meituan Danping ทำผิดกฎข้อหนึ่งของทางการจีน นั่นคือ ต้องไม่ปิดบังข้อมูล ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลในเชิงกลยุทธ์ขนาดไหนก็ตามต่อรัฐบาล และต้องไม่นำข้อมูลดังกล่าวมาใช้เพื่อความได้เปรียบเชิงการแข่งขันทางธุรกิจกับบริษัทอื่นๆของจีนเอง
- Tencent นั้น เมื่อ 2-3 ปีก่อน ทางการจีนได้จำกัดชั่วโมงการเล่นเกมของเด็กๆชาวจีนที่ติดเกมของ Tencent กันอย่างงอมแงม นอกจากนี้ ล่าสุด ทางการจีนก็ได้สั่งให้ Tencent ไม่สามารถมีสิทธิ์ขาดแต่เพียงผู้เดียวในลิขสิทธิ์เพลงของ Tencent Music
เหตุผล: Tencent ทำผิดกฎข้อหนึ่งและข้อสองของทางการจีน โดยการที่ Tencent มีสิทธิ์ขาดแต่เพียงผู้เดียวในลิขสิทธิ์เพลงของ Tencent Music นั้น เป็นการทำผิดกฎข้อหนึ่ง นั่นคือ ต้องไม่ปิดบังข้อมูล ต้องไม่นำข้อมูลดังกล่าวมาใช้เพื่อความได้เปรียบเชิงการแข่งขันทางธุรกิจกับบริษัทอื่นๆของจีนเอง
และ การเล่นเกมของเด็กๆชาวจีนที่ติดเกมของ Tencent กันอย่างงอมแงมนั้น ถือเป็นการทำผิดกฎข้อสองของทางการจีน ธุรกิจที่ทำอยู่ไปขัดกับแนวทางการพัฒนาประเทศในในมิติของเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม เนื่องจากทำให้เยาวชนจะไม่สามารถพัฒนาเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพในตลาดแรงงาน
- ยักษ์ใหญ่อย่าง Didi ที่ออกไปทำIPO หุ้นที่ตลาดนิวยอร์ค เมื่อ 3 เดือนที่แล้ว ทว่ารัฐบาลจีนได้ประกาศทันควันว่า Didi ทำผิดกฎของรัฐบาลจีนที่ไม่ยอมเปิดเผยข้อมูลที่เก็บได้จากลูกค้าให้กับทางการ ตามที่เคยร้องขอไป จึงได้สั่งปรับและสั่งให้ถอดแอพพลิเคชั่น Didi ออกจาก App store ในประเทศจีน
เหตุผล: เป็นการทำผิดกฎข้อสี่ของทางการจีนของ Didi ที่เผยแพร่ข้อมูลที่ถือว่าเป็นผลเสียเชิงกลยุทธ์และความมั่นคงต่อหน่วยงานใดๆในต่างประเทศ โดยไม่ยอมเปิดเผยข้อมูลที่เก็บได้จากลูกค้าให้กับทางการ ตามที่เคยร้องขอไป
- จนกระทั่งเมื่อต้นเดือนนี้ ทางการจีนมีนโยบายที่ต้องการให้ธุรกิจติวเตอร์ทั้งหมดในจีน เปลี่ยนมาเป็นองค์กรที่ไม่แสวงหากำไร ส่งผลให้หุ้นธุรกิจติวเตอร์จีนร่วงลงอย่างรุนแรง
เหตุผล: ธุรกิจติวเตอร์ในจีน ทำผิดกฎข้อสองของธุรกิจติวเตอร์ทั้งหมดในจีน นั่นคือ ธุรกิจที่ทำอยู่ไปขัดกับแนวทางการพัฒนาประเทศในในมิติของเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม เนื่องจากทำให้การที่ค่าใช้จ่ายของครอบครัวชาวจีนต่อคอร์สติวต่างๆของนักเรียนจีนถือว่าสูงมากเมื่อเทียบกับรายได้เฉลี่ยของครอบครัวชาวจีน จึงทำให้คนจีนรุ่นใหม่ไม่อยากมีลูก จึงส่งผลให้แนวโน้มประชากรจีนลดลงมาเรื่อยๆ
การบังคับให้ธุรกิจติวเตอร์ทั้งหมดในจีน เปลี่ยนมาเป็นองค์กรที่ไม่แสวงหากำไร เพื่อที่จะช่วยครอบครัวคนจีนทั่วประเทศให้สามารถลดค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ รวมถึงไม่สร้างความกดดันให้กับเยาวชนจีนเรียนหนังสือเกินเวลาและหันมาทำกิจกรรมต่างๆให้มากขึ้น จะทำให้แนวโน้มดังกล่าวเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีได้
ในส่วนของเม็ดเงินการลงทุนกองทุนรวมจีนในตลาดทุนจีนนั้น หลังจากที่ถอยออกมาจากตลาดหุ้นจีนมาสักระยะ จากผลตอบแทนของดัชนีกองทุนหุ้นเทคโนโลยีจีนโดยเฉลี่ยลดลงราวร้อยละ 20 ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ล่าสุด เริ่มมีกองทุนรวม อาทิ KraneShares CSI China Internet ETF ซึ่งกองทุน BCAP-CTECH ในบ้านเราใช้เป็น Feeder Fund ในส่วนหนึ่ง เริ่มขยับเข้าซื้อมากที่สุดในรอบหลายเดือนที่ผ่านมา ดังรูป
คำตอบนี้ จะเป็นตัวกำหนดทิศทางของตลาดหุ้นจีนในช่วงต่อจากนี้ไป.
คำถามคือ ณ ถึงตรงนี้ ต้องมาติดตามต่อไปว่า ทางการจีนยังเห็นว่ามีจุดอ่อนใดที่เหลือของบริษัทต่างๆของจีน ซึ่งรัฐบาลจีนเห็นว่ายังผิดไปจากปรัชญาของการบริหารเศรษฐกิจที่เหมาะสมในระยะยาวของเมืองจีนหรือไม่?