อาวุธปืนสามมิติ: เทคโนโลยีใหม่กับมุมมองทางกฎหมาย
ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีในปัจจุบันเข้าถึงทุกๆ วงการ รวมไปถึงการพัฒนาของอุตสาหกรรมการพิมพ์ การผลิตสิ่งทอและการจัดทำภาพและสื่อสามมิติต่างๆ
บทความโดย ดร.ณัชชา สุขะวัธนกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
หนึ่งในเทคโนโลยีที่เป็นกระแสและได้รับความสนใจเป็นอย่างมากในช่วงสองถึงสามปีที่ผ่านมา อีกทั้งยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ทั้งในประเทศและต่างประเทศคือ การผลิตปืนจากเครื่องพิมพ์สามมิติรวมถึงเทคโนโลยีการพิมพ์สามมิติ (Three D; 3D Printing Technology) อื่น ๆ และประเด็นแง่มุมทางกฎหมายอีกด้วย
หากจะกล่าวถึงการพิมพ์สามมิตินั้นสามารถอธิบายได้ว่าคือการผลิตแบบเพิ่มเนื้อพื้นผิวสัมผัส เป็นการสร้างวัตถุสามมิติที่เป็นของแข็งจากไฟล์ต้นแบบดิจิทัล ทำได้โดยใช้กระบวนการเติมแต่งเพิ่มเข้าไปทีละชั้นพื้นผิว วัตถุจะถูกสร้างขึ้นโดยการวางชั้นวัสดุที่ต่อเนื่องกันจนกว่าวัตถุจะถูกสร้างขึ้นเป็นเค้าโครง แต่ละชั้นเหล่านี้สามารถมองเห็นได้เป็นส่วนตัดขวางบาง ๆ ของวัตถุดังกล่าว
เรียกได้ว่าเป็นการผลิตในรูปแบบที่ตรงกันข้ามกับการผลิตแบบลดทอนซึ่งก็คือการตัดและเจาะชิ้นส่วนของโลหะหรือพลาสติกด้วยเครื่องสกัด ถือได้ว่าเป็นการปฏิวัติวงการการพิมพ์ภาพและวัสดุต่าง ๆ ก็ว่าได้ เหตุเพราะการพิมพ์สามมิติจะช่วยให้สามารถสร้างรูปทรงที่ซับซ้อนโดยใช้วัสดุที่น้อยกว่าวิธีการผลิตในรูปแบบเดิมได้
จากผลสำรวจในหลาย ๆ ประเทศในปัจจุบัน วงการการพิมพ์สามมิติกำลังเปลี่ยนโฉมรูปแบบการผลิตด้วยเทคโนโลยีการผลิตที่รวดเร็วขึ้นไปสู่ในภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น และมีการคิดค้นการดูแล บำรุงรักษาและซ่อมแซมเครื่องพิมพ์สามมิติให้มีการใช้งานได้อย่างต่อเนื่องร่วมด้วย รวมถึงมีอัตราการผลิตได้สูงขึ้น มีการคาดการณ์กันว่าตลาดการพิมพ์สามมิติทั่วโลกจะสูงถึง 4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี พ.ศ. 2569 ซึ่งจะสามารถเปลี่ยนวิถีชีวิต การทำงาน และความนิยมของผู้คนในอนาคตไปเป็นอย่างมาก
การพิมพ์ 3D ครอบคลุมเทคโนโลยีและวัสดุหลายรูปแบบ เนื่องจากการพิมพ์สามมิติถูกใช้ในเกือบทุกอุตสาหกรรมที่หลากหลายและมีการใช้งานที่แตกต่างกัน ตัวอย่างเช่น สินค้าอุปโภคบริโภค (แว่นตา รองเท้า การออกแบบ หรือเฟอร์นิเจอร์) ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (เครื่องมือการผลิต ต้นแบบ หรือชิ้นส่วนที่ใช้งานได้จริง) ผลิตภัณฑ์ทันตกรรมขาเทียม แบบจำลองขนาดสถาปัตยกรรม การสร้างฟอสซิลขึ้นใหม่ จำลองโบราณวัตถุ การสร้างหลักฐานทางพยาธิวิทยาทางนิติเวชขึ้นใหม่ อุปกรณ์ประกอบฉากภาพยนตร์ และอาวุธยุทโธปกรณ์
จะเห็นได้ว่ามีการนำเทคโนโลยีชนิดนี้มาใช้ทั้งในวงการสังคมศาสตร์ วิทยาศาสตร์ การแพทย์และวงการบันเทิง ทั้งนี้ในเชิงของกฎหมายยังพบช่องว่างและอุปสรรค์ของการนำเทคโนโลยีชนิดนี้มาใช้ ประการแรกในด้านของกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา เช่น การลอกเลียนแบบ การทำซ้ำในไอเดียและรูปแบบของผลิตภัณฑ์ กฎหมายสิทธิมนุษยชน เช่น ความยินยอมของผู้บริโภค ความยินยอมของญาติและผู้มีส่วนได้เสียในการทำซ้ำพยานหลักฐานในคดีต่าง ๆ กฎหมายซึ่งกำกับดูแลคุณภาพ มาตรฐานและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ที่ผลิตโดยเทคโนโลยีการพิมพ์สามมิติ และกฎหมายอาญารวมถึงพระราชบัญญัติอาวุธปืน
สำหรับกรณีของการใช้ผลิตอาวุธปืน เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายที่ถูกลงมาก โดยเหตุที่เครื่องพิมพ์สามมิติทำให้ผู้ใช้สามารถผลิตสิ่งที่ต้องการขึ้นมาด้วยตัวเองโดยไม่ต้องมีใบอนุญาต ขอเพียงแต่มีไฟล์แบบพิมพ์ที่สามารถดาวน์โหลดจากทางออนไลน์ได้ก็เพียงพอแล้ว ปืนสามมิติซึ่งถูกผลิตขึ้นจึงถือเป็นอาวุธที่น่ากลัว และมีความเสี่ยงเพราะสามารถผลิตเองได้ในบ้าน ไม่มีเลขประจำปืน ไม่มีการตรวจสอบการครอบครองปืน
นอกจากนี้ยังพกพาง่าย ตัวปืนผลิตจากวัสดุที่ไม่สามารถถูกตรวจพบจากเครื่องตรวจจับอาวุธ หากเปิดเสรีมากเกินไปอย่างในประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศออสเตรเลียก็อาจทำให้เกิดผลเสียได้ ดังเช่นกรณีที่เทคโนโลยีปืนสามมิติถูกหลายรัฐในประเทศสหรัฐอเมริกาต่อต้านอย่างหนักสำหรับการนำมาใช้ผลิตและจำหน่ายปืน เนื่องด้วยความกังวลในคดีกราดยิงในโรงเรียนและสถานที่สาธารณะบ่อยครั้ง
อีกทั้งในบางประเทศอย่างประเทศญี่ปุ่น เทคโนโลยีปืนสามมิติสร้างความไม่พอใจอย่างหนักให้กับหลายฝ่าย ซึ่งกล่าวว่าปืนสามมิติไม่ต่างอะไรกับ “ปืนผี” หรือ “ปืนเถื่อน” เพราะไม่มีการลงทะเบียนทำให้ยากแก่การตรวจสอบแกะรอย และยังเป็นการส่งเสริมการค้าอาวุธอย่างผิดกฎหมายอีกด้วย
สำหรับประเทศไทยประเด็นนี้กลายเป็นข้อถกเถียงซึ่งสร้างความกังวลให้เหล่านักประดิษฐ์ในเมืองไทย รวมถึงผู้นำเข้าจัดจำหน่าย "เครื่องพิมพ์ 3 มิติ" หลังมีการกําหนดให้เครื่องพิมพ์ 3 มิติเป็นสินค้าที่ต้องปฏิบัติตามมาตรการของกระทรวงพาณิชย์ ขณะเดียวกันก็มีความกังวลว่าเครื่องพิมพ์ 3 มิติ จะกลายเป็นเครื่องมือผลิตวัตถุผิดกฎหมายและวัตถุอันตราย เช่น อาวุธปืน ทำให้จำเป็นต้องจัดระเบียบการนําเครื่องพิมพ์ 3 มิติ เข้ามาในราชอาณาจักร
จึงเป็นประเด็นที่อาจต้องมีการวิเคราะห์ต่อยอดไปว่าการจำกัดสิทธิและการใช้งานเทคโนโลยีชนิดนี้จะต้องแลกกับการสูญเสียโอกาสในการพัฒนางานสร้างสรรค์ตามนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลของรัฐบาลหรือไม่ โดยพิจารณาจากกฎหมายที่มีอยู่ในขณะนี้ ประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้เครื่องพิมพ์สามมิติเป็นสินค้าที่ต้องปฏิบัติตามมาตรการจัดระเบียบในการนำเข้าในราชอาณาจักร พ.ศ. 2559 และประกาศกรมการค้าต่างประเทศ เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการนำเครื่องพิมพ์สามมิติเข้ามาใน เพื่อความสงบเรียบร้อยและความปลอดภัยของสาธารณชนอีกด้วย
ประเด็นอาวุธปืนสามมิติจึงมีประเด็นปัญหาทางด้านกฎหมายเมื่อพิจารณาร่วมกับแนวความคิดในการปรับปรุงกฎหมายอาวุธปืน การกำหนดบทนิยาม ความผิดจากการใช้งาน การกำหนดบทลงโทษและฐานความผิด ปัญหาทางกฎหมายด้านการจัดจำหน่าย การควบคุม ติดตามทะเบียนปืน รวมถึงเรื่องการชำระภาษี ซึ่งแม้ว่าเทคโนโลยีที่ทันสมัยชนิดนี้ในปัจจุบันจะเป็นประโยชน์อย่างมาก แต่หากไม่ได้จัดให้มีการดำเนินการให้สอดคล้องกันทุกฝ่ายแล้วจะเป็นอุปสรรคยิ่งกว่าสำหรับประเด็นอาวุธปืนสามมิตินี้.