ทิ้งสัตว์เลี้ยงไว้ในรถยนต์ผิดกฎหมายหรือไม่?

ทิ้งสัตว์เลี้ยงไว้ในรถยนต์ผิดกฎหมายหรือไม่?

ในทุกปีก็จะมีข่าวสัตว์เลี้ยงเสียชีวิตจากภาวะลมแดด และหลายกรณีที่เป็นข่าวก็เกิดจากการที่เจ้าของทิ้งสัตว์เลี้ยงไว้ในรถยนต์

บทความโดย อาจารย์ภาณุพงศ์ เฉลิมสิน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

                   หลายคนคิดว่าการให้สัตว์เลี้ยงอยู่ในรถเพียงครู่เดียวแค่ 15-20 นาทีคงไม่เป็นไร เดี๋ยวเปิดกระจกแง้มไว้ให้หน่อยก็คงอยู่ได้ ความประมาทแบบนี้เองที่ทำให้สัตว์เลี้ยงต้องมาจบชีวิตลง การที่สัตว์เลี้ยงตายจากการถูกทิ้งไว้ภายในรถส่วนมากไม่ได้เกิดจากการที่ขาดอากาศหายใจ แต่เกิดจากการที่อุณหภูมิภายในตัวรถนั้นสูงขึ้น

                   หากเจ้าของทิ้งสัตว์เลี้ยงไว้ในรถยนต์จะผิดกฎหมายหรือไม่? ตามพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557 “การทารุณกรรม” หมายความว่า การกระทำหรืองดเว้นการกระทำใด ๆ ที่ทำให้สัตว์ได้รับความทุกข์ทรมานไม่ว่าทางร่างกายหรือจิตใจ ได้รับความเจ็บปวด ความเจ็บป่วย ทุพพลภาพ หรืออาจมีผลทำให้สัตว์นั้นตาย มาตรา 20  ได้บัญญัติไว้ว่า ห้ามมิให้ผู้ใดกระทำการอันเป็นการทารุณกรรมสัตว์โดยไม่มีเหตุอันสมควร และมาตรา 31  บัญญัติว่าผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 20 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

                   ประเทศไทยได้ออกพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557  เพื่อป้องกันการทารุณกรรมสัตว์โดยฝีมือมนุษย์ เนื่องจากสัตว์เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความรู้สึกและเป็นองค์ประกอบสำคัญของสิ่งแวดล้อม จึงควรได้รับการคุ้มครองมิให้ถูกกระทำการทารุณกรรม และเจ้าของสัตว์ซึ่งนำสัตว์มาเลี้ยงจะต้องจัดสวัสดิภาพให้เหมาะสมตามประเภทและชนิดของสัตว์ ทั้งในระหว่างการเลี้ยงดู การขนส่ง การนำสัตว์ไปใช้งาน หรือใช้ในการแสดง 

                   ดังนั้น เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ในการป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ เพื่อให้สัตว์ได้รับการคุ้มครองตามธรรมชาติของสัตว์อย่างเหมาะสม

                   ในสหรัฐอเมริกาบางมลรัฐก็ได้ออกกฎหมายที่ห้ามมิให้ผู้ใดทิ้งสัตว์ไว้ในรถยนต์ที่จอดอยู่ให้ตกอยู่ในสถาวะอันตรายต่อชีวิต เช่น อุณหภูมิที่ร้อนจัดหรือเย็นจัด ขาดการระบายอากาศที่เพียงพอ หรือการไม่ให้อาหารหรือเครื่องดื่มที่เหมาะสมเป็นภัยคุกคามต่อสุขภาพหรือความปลอดภัยของสัตว์

                   บางมลรัฐครอบคลุมเฉพาะสุนัขและแมว ขณะที่รัฐอื่น ๆ ให้คำจำกัดความคำว่า "สัตว์" ให้กว้างขึ้น บทลงโทษสำหรับการทิ้งสัตว์ไว้โดยไม่มีใครดูแลในยานยนต์ภายใต้สภาวะที่เป็นอันตรายนั้นแตกต่างกันไปในแต่ละรัฐ บางมลรัฐกำหนดให้จ่ายค่าปรับ บางมลรัฐกำหนดโทษทางอาญาโดยมีค่าปรับตั้งแต่สองร้อยดอลลาร์สหรัฐถึงหลายพันดอลลาร์สหรัฐ บางมลรัฐอาจกำหนดโทษถึงจำคุก หรือในมลรัฐนิวแฮมป์เชียร์กำหนดให้ความผิดครั้งที่สองเป็นความผิดทางอาญา

                   มลรัฐที่มีกฎหมายดังกล่าวมักอนุญาตให้ช่วยเหลือสัตว์จากรถยนต์ได้โดยทำลายทรัพย์เพื่อเข้าไปในยานพาหนะเพื่อนำสัตว์ที่ติดอยู่ออกมา บางมลรัฐจำกัดการกู้ภัยสัตว์เลี้ยงให้สามารถกระทำได้เฉพาะนักดับเพลิงหรือเจ้าหน้าที่ตามที่กฎหมายระบุไว้เท่านั้น

                    เมื่อเร็วๆ นี้ ประมาณ 14 มลรัฐได้ออกกฎหมายที่อนุญาตให้บุคคลใด ๆ สามารถช่วยชีวิตสัตว์ที่ทุกข์ทรมานได้ และยกเว้นความผิดให้กับผู้ที่ช่วยเหลือสัตว์ที่ติดอยู่ในรถยนต์ ผู้ต้องการช่วยชีวิตสัตว์เลี้ยงที่ติดในรถยนต์ต้องปฏิบัติขั้นตอนตามกฎหมายจึงจะสามารถยกเว้นความผิดได้

                   ตัวอย่างเช่น กำหนดให้ต้องตรวจสอบให้แน่ใจก่อนว่ารถยนต์ถูกล็อคและการทำลายทรัพย์เป็นวิธีเดียวที่จะนำสัตว์ออกมา บุคคลนั้นต้องโทรแจ้งเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานท้องถิ่นก่อนเข้าไปช่วยเหลือสัตว์เลี้ยงหรือให้บุคคลนั้นอยู่ในที่เกิดเหตุจนกว่าเจ้าหน้าที่กู้ภัยจะมาถึง

                   สำหรับในประเทศไทยการให้ความช่วยเหลือสัตว์เลี้ยงที่ติดอยู่ในรถยนต์โดยทำให้รถยนต์ของผู้อื่นเสียหายก็มีความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ แต่กฎหมายอาจยกเว้นโทษทางอาญาเอาไว้ กล่าวคือ การกระทำความผิดด้วยความจำเป็นตาม ป.อ. มาตรา 67 มีภยันตรายที่จะต้องหลีกเลี่ยงและผู้กระทำเลือกหลีกเลี่ยงภยันตรายโดยวิธีกระทำการอันเป็นความผิดด้วยความคิดริเริ่มของตน แม้อาจทำอย่างอื่นได้ แต่การกระทำอย่างอื่นนั้นก็ยังทำความเสียหายแก่ผู้อื่นอยู่นั่นเอง

                   กรณีดังกล่าวอาจเทียบเคียงกับคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 231/2518 จำเลยทุบทำลายพนังคอนกรีตของโจทก์โดยทำเพียงให้ขาดเป็นช่อง 3 ช่อง เพื่อไม่ให้น้ำท่วมนาจำเลยเท่านั้น แม้จะเป็นความผิด ก็เป็นการกระทำด้วยความจำเป็นเพื่อให้ทรัพย์สินของตนเองพ้นจากภยันตรายที่ใกล้จะถึงและไม่สามารถหลีกเลี่ยงให้พ้นโดยวิธีอื่นได้ และไม่เกินสมควรแก่เหตุ จึงไม่ต้องรับโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 67

                   หากท่านบังเอิญไปพบเห็นสุนัขถูกทิ้งไว้ในรถตามลำพัง ขอความกรุณาอย่าเพิกเฉยหรือปล่อยผ่านไป ให้มองหาหรือสอบถามคนแถวนั้นก่อนว่าเห็นเจ้าของหรือสามารถตามหาเจ้าของรถได้หรือไม่ อาจจดจำทะเบียนรถ รุ่นรถ และยี่ห้อรถ เพื่อประโยชน์ในการประกาศตามหา

               แต่หากไม่สามารถติดตามเจ้าของได้ ให้ประสานเจ้าหน้าที่ เช่น เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย เจ้าหน้าที่กู้ภัย หรือเจ้าหน้าที่ตำรวจ ให้เข้ามาช่วยเหลือ หรือโทรไปยังหมายเลข 199 สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย หมายเลข 1644 สถานีวิทยุ สวพ.91 หรือหมายเลข 1677 สถานีวิทยุร่วมด้วยช่วยกัน หน่วยงานเหล่านี้สามารถเข้ามาให้ความช่วยเหลือหรือช่วยประสานงานเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องให้เข้ามาทำการช่วยเหลือได้.