ติดโควิดไม่ต้องปิดโรงงานได้...ถ้าทุกฝ่ายรวมพลัง

ติดโควิดไม่ต้องปิดโรงงานได้...ถ้าทุกฝ่ายรวมพลัง

สวัสดีคุณผู้อ่านคอลัมน์ Think Forward ทุกท่านครับ เป็นอย่างไรกันบ้าง ผมอยากย้ำหลายๆ ครั้งว่าอย่าเพิ่งท้อกันนะครับ

คนไทยและคนทั้งโลกต้องผ่านวิกฤตโรคระบาดนี้ไปได้ ต้องสูญเสียให้น้อยที่สุด เพราะเราสูญเสียมามากพอแล้วจากตัวเลขผู้ติดเชื้อ สำหรับประเทศไทยสถิติผู้ติดเชื้อสูงสุดช่วงกลางเดือนสิงหาคมทะลุ 2.3 หมื่นราย และผู้เสียชีวิตสูงสุดทะลุ 300 ราย ผมขอแสดงความเสียใจกับผู้สูญเสียและผู้เจ็บป่วยทุกคน ล่าสุดปลายเดือนตัวเลขเริ่มลดลง ขอให้เป็นสัญญาณที่ดีครับ 

 

จากตัวเลขข้างต้นแน่นอนมีแรงงานในภาคอุตสาหกรรมรวมอยู่ด้วย ล่าสุดมีโรงงานอุตสาหกรรมโดนโจมตีแล้วกว่า 1,000 แห่ง ส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมอาหารเพราะใช้แรงงานเข้มข้น หลายแห่งต้องปิดชั่วคราวเพื่อดูแลแรงงาน และดำเนินมาตรการป้องกันทุกด้าน  

 

เรื่องนี้เร่งด่วนมาก ส.อ.ท. อยู่ระหว่างทำงานร่วมกับสมาชิกในการป้องกัน ดูแลรักษา ตรวจหาเชื้อเชิงรุก และจัดหาวัคซีนให้มากที่สุด เพราะหากปล่อยให้โรงงานมีแรงงานติดเชื้อโควิดไปมากกว่านี้เกิดผลกระทบวงกว้างแน่นอนครับ อาจทำให้เศรษฐกิจไทยบอบช้ำยิ่งขึ้นด้วย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อส่งออก เพราะเวลานี้ภาคการส่งออกคือความหวังหลักในการสร้างรายได้ให้ประเทศ

 

โดย มาตรการที่ ส.อ.ท.กำลังดำเนินการร่วมกับสมาชิกนั้น หากเป็นโรงงานขนาดใหญ่คงไม่เดือดร้อนนัก เพราะมีความพร้อม มีทรัพยากรมากพอ และมีสัดส่วนประมาณ 10% ของโรงงานทั่วประเทศที่มีมากกว่า 6 หมื่นแห่ง แต่ที่ผมเป็นห่วง คือ โรงงานกว่า 5 หมื่นแห่งที่เป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอี พวกเขาจะรับมือกับอย่างไร มีเงินทุนมั้ย สายป่านยาวพอหรือเปล่า เรื่องนี้ผมอยากให้ภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือพวกเขาเหล่านี้อย่างเร่งด่วนครับ

 

ล่าสุด ผม ผู้บริหาร ส.อ.ท. และสมาชิก ได้ร่วมกันจัดทำ "มาตรการควบคุมโควิดในภาคอุตสาหกรรม" เพื่อลดอัตราการเสียชีวิตและอาการรุนแรง พร้อมรักษากำลังการผลิตให้มากที่สุด ซึ่งโรงงานที่ดำเนินการอย่างถูกต้อง จะไม่ถูกปิด หากยังสามารถดำเนินการต่อได้โดยไม่แพร่กระจายเชื้อสู่ภายนอก ภายใต้คอนเซ็ปต์ "ติดโควิดไม่ต้องปิดโรงงาน" โดยผมได้ทำหนังสือส่งไปยังหน่วยงานรัฐ ทั้งกระทรวงมหาดไทย กระทรวงการคลัง กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงแรงงาน และสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อให้รับทราบ พิจารณาหรือแก้ไขรายละเอียดให้ตรงกัน หลังจากที่ผ่านมาภาครัฐได้กำหนดมาตรการป้องกันควบคุมพื้นที่เฉพาะ(Bubble and Seal) และโครงการตรวจรักษาควบคุมดูแล(Factory sandbox)

 

มาตรการ ส.อ.ท.มี 4 ด้าน อาทิ Bubble and Seal ต้องชัดเจน ปฏิบัติได้จริง การสุ่มตรวจหาผู้ติดเชื้อด้วยชุดตรวจ ATK อย่างสม่ำเสมอสัดส่วน 10% ของจำนวนพนักงานในทุก 14 วัน อยากให้รัฐบาลสนับสนุนค่าใช้จ่ายที่ประเมินราคาไม่เกิน 200 บาทต่อคนต่อชุด และให้พนักงานผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำสามารถกลับเข้ามาทำงานใน Bubble ในโรงงานตามปกติ หรือกรณีสถานประกอบการที่มีพนักงาน 300 คนขึ้นไป ขอเสนอให้กระทรวงสาธารณสุขสนับสนุนงบประมาณในการจัดตั้งการกักตัวในโรงงาน (Factory Quarantine) หรือ FQ และโรงพยาบาลสนามภายในโรงงาน(Factory Accommodation Isolation) หรือ FAI  โดยให้มีจำนวนเตียงไม่น้อยกว่า 5% ของจำนวนพนักงาน และเสนอให้กระทรวงแรงงานจัดตั้งโรงพยาบาลแม่ข่ายในแต่ละพื้นที่ประกันสังคม เพื่อให้บริการโรงงานในพื้นที่ ณ จุดเดียว 

 

สาเหตุที่ ส.อ.ท. ต้องเสนอมาตรการนี้ เพราะปัจจุบันรัฐออกมาตรการป้องกันโควิดในโรงงานก็จริง แต่กลับไม่มีความชัดเจนโดยเฉพาะต้นทุนค่าใช้จ่ายของเอกชน เท่าที่ทราบรัฐมีงบดูแลค่าใช้จ่ายผู้ป่วยอยู่แล้วจึงอยากให้นำมาช่วยโรงงานบ้าง เพราะเป้าหมายคือดูแลผู้ป่วย ป้องกันการแพร่ระบาด ประโยชน์เป็นของประชาชนคนไทย แต่เวลานี้โรงงานมีต้นทุนเพิ่มก็ไม่รู้จะเบิกจ่ายกับใคร

 

เรื่องนี้ ส.อ.ท. จะเร่งติดตามเพื่อขอคำตอบจากภาครัฐโดยเร็วสุด เพราะยิ่งช้าจะทำให้โรงงานต้องปิดตัวลง จนอาจทำให้เศรษฐกิจไทยพังลงได้ ขณะเดียวกันในนามคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ก็อยู่ระหว่างรอเข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อหารือประเด็นการแก้ปัญหาโควิด-19 ซึ่งจะรวมมาตรการควบคุมโควิดในภาคอุตสาหกรรมของ ส.อ.ท. และมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจไทย เพื่อประโยชน์ของประชาชนคนไทยทุกคนครับ หากท่านผู้อ่านหรือนักธุรกิจท่านใดอยากทราบข้อมูลด้านอุตสาหกรรมเพิ่มเติม สามารถแอดไลน์ของสภาอุตสาหกรรมฯ ได้ที่ @ftithailand หรือทักเข้ามาได้ที่ เฟซบุ๊กของผมตามลิงก์นี้ครับ www.facebook.com/ftichairman