The Citizen คือ คำตอบของภาครัฐที่ดีในอนาคต
The Citizen ต้นแบบแพลตฟอร์มการมีส่วนร่วมของประชาชน คือ คำตอบของภาครัฐที่ดีในอนาคต ประตูไปสู่มิติใหม่ของภาครัฐไทยที่เอื้อให้เกิดพลเมืองที่มีส่วนร่วม กับภาครัฐที่เปิด (Open Government) มาร่วมประสานบูรณาการการทำงาน
มหาวิกฤติโควิด-19 ได้เปิดบาดแผลที่เป็นมานานแล้วของระบบบริหารจัดการของภาครัฐไทยในหลายมิติ หากเปรียบภาครัฐไทยในศตวรรษที่ 21 เป็นสมาร์ทโฟน ก็พอจะกล่าวได้ว่าคงเป็นสมาร์ทโฟนที่พอใช้งานได้ แต่ก็ทำงานด้วยระบบปฏิบัติการเวอร์ชั่นเก่าล้าสมัย เมื่อจะดาวน์โหลดติดตั้งแอปพลิเคชั่นใหม่ก็เนื้อที่ไม่พอหรือใช้งานฟังก์ชั่นบริการอะไรก็ค่อนข้างเชื่องช้า สมาร์ทโฟนใช้งานพื้นฐานได้ แต่เมื่อมองไปทั่วโลก ประชาชนก็จะเห็นภาครัฐประเทศอื่นๆ เป็นสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ล่าสุด และสงสัยว่าอีกนานแค่ไหน ภาครัฐไทยจะอัพเกรดปรับรุ่นให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่แสนฉับไวในโลกดิจิทัลใหม่นี้สักที
การปฏิรูปภาครัฐจึงเป็นวาระที่สำคัญที่สุดวาระหนึ่งที่ควรดำเนินการอย่างจริงจังในอนาคต โดยหนึ่งในประเด็นที่จะเป็น “จุดคานงัด” (Leverage Point) ก็คือการเปิดการมีส่วนร่วมกับประชาชนผ่านนวัตกรรมประชาธิปไตย (Democratic Innovation) เพื่อให้ประชาชนมีช่องทางและแพลตฟอร์มในการร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมสร้างกับภาครัฐ ทั้งในระดับโครงการ ระดับนโยบาย ระดับงบประมาณ และระดับการตัดสินใจ เพื่อให้ประเทศได้ใช้โอกาสจากความรู้ความสามารถของประชาชน หรือภูมิปัญหามหาชน (wisdom of crowds) มาร่วมกับพัฒนาประเทศ
ดังนั้น เพื่อส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมประชาธิปไตย (Democratic Innovation) ข้างต้น สถาบันอนาคตไทยศึกษา (Thailand Future Foundation) ได้ร่วมกับสำนักงาน ก.พ.ร. และหน่วยงานหลายแห่ง ช่วยกันคิดต้นแบบนวัตกรรมการส่งเสริมประชาชนให้มีส่วนร่วม (Active Citizen) ในอนาคตขึ้น เพื่อเป็นต้นแบบ (prototype) สำหรับเริ่มต้นการเปิดการมีส่วนร่วมกับประชาชน
เราได้ศึกษารากเหง้าแห่งปัญหาอันเปรียบเสมือนชั้นใต้สุดของภูเขาน้ำแข็งโดยมองว่าต้นตอของปัญหาของระบบจัดการภาครัฐเกิดจากกระบวนทัศน์ที่ภาครัฐยังไม่ได้มองผลประโยชน์ของประชาชนเป็นผลลัพธ์ที่แท้จริง หากแต่ยังให้ความสำคัญกับกรอบและกระบวนการตามกฎหมายจำนวนมากที่ล้าสมัย ซึ่งแช่แข็งประเทศไทยให้ยังอยู่ในโลกแบบเก่า
ประชาชนถูกกีดกันออกไปจากสมการการบริหารจัดการและการตัดสินใจของภาครัฐ และทั้งที่ประเทศไทยก็ถือว่ามีข้าราชการที่เก่งและมีความรู้ความสามารถจำนวนมาก แต่กระบวนทัศน์และกฎระเบียบล้าสมัยดังกล่าวก็ไม่เอื้ออำนวย อีกทั้งเป็นอุปสรรคที่ทำให้ข้าราชการที่มีความสามารถและตั้งใจดีไม่สามารถขับเคลื่อนงานดีๆ ได้อย่างรวดเร็วเหมือนภาคเอกชน
ดังนั้น หากเราจะผลักดันให้เกิดการปฏิรูประบบบริหารจัดการภาครัฐได้นั้น จุดตั้งต้นสำคัญ คือ การเปิดพื้นที่ให้มี “ประชาชน” เข้ามาอยู่ในสมการ กล่าวคือ ต้องสร้างพื้นที่และกระบวนการให้เกิดการเชื่อมผสานให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมกับภาครัฐได้ในทุกมิติ
การจะทำให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม ภาครัฐเองต้องเปิดกว้าง จริงใจและสร้างพื้นที่การเชื่อมผสานขึ้นมา ซึ่งในช่วงวิกฤต เราจะเห็นว่าประชาชนจำนวนมากมีความอยากช่วยเหลือสังคมและมีศักยภาพสูง ได้ลุกขึ้นมาลงมือทำ พัฒนาโซลูชั่นเพื่อช่วยเหลือประชาชนจำนวนมากและทำได้อย่างรวดเร็ว เรามีอาสาสมัครจำนวนมากที่ไม่นิ่งดูดาย เข้าไปทำสิ่งที่มีประโยชน์ต่างๆ โดยไม่จำเป็นต้องมีค่าตอบแทน ดังนั้น เราจึงคิดพัฒนาต้นแบบแพลตฟอร์มการมีส่วนร่วมของประชาชนขึ้นมาชื่อว่า “The Citizen”
“The Citizen” มุ่งทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการรวมบทบาทของประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมกับภาครัฐ และเร่งรัดภาครัฐให้เกิดการเปิดพื้นที่และข้อมูลให้เกิดการมีส่วนร่วมมากขึ้น กล่าวคือ The Citizen จะเป็นประตูไปสู่มิติใหม่ของภาครัฐไทยที่เอื้อให้เกิดพลเมืองที่มีส่วนร่วม (Active Citizen) กับภาครัฐที่เปิด (Open Government) มาร่วมประสานบูรณาการการทำงาน โดยมี “ประชาชน” เป็นหัวใจแห่งการขับเคลื่อน ผ่าน Feature สำคัญของแพลตฟอร์ม The Citizen ประกอบด้วย “4C” ได้แก่
(1) “Citizen Profile” เก็บและประมวลข้อมูลที่ประชาชนต้องการมีส่วนร่วมในฐานข้อมูลอย่างเป็นระบบ ซึ่งผู้ใช้งานสามารถค้นหาคุณสมบัติของอาสาสมัครหรือประชาชนรวมถึงช่วงเวลาที่สะดวกในการทำงานกับสาธารณะได้ง่ายและตรงกับความต้องการ
(2) “Citizen Participation” ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมในรูปแบบต่างๆ กับหน่วยงานรัฐ ไม่ว่าจะเป็นการเสนอความเห็น ยื่นเรื่องร้องเรียน การเป็นอาสาสมัคร การโหวต เสนอโครงการและนโยบาย ซึ่งสามารถติดตามความคืบหน้าของการมีส่วนร่วมได้ผ่านแพลตฟอร์ม
(3) “Citizen Map” แสดงผลการยื่นข้อเสนอโครงการหรือข้อร้องเรียนจากประชาชนบนแผนที่ ซึ่งสร้างความโปร่งใสและความรับผิดชอบของผู้ที่เกี่ยวข้อง
(4) “Citizen Credit” ประชาชนที่มีส่วนร่วมจะได้รับเครดิตเพื่อแลกของรางวัล อาทิ ส่วนลดค่าธรรมเนียมภาษี ส่วนลดค่ารักษาพยาบาล หรือนำรางวัลไปบริจาคเพื่อการกุศล ซึ่งจะดึงดูดการมีส่วนร่วมจากประชาชนได้มากขึ้นผ่านระบบแรงจูงใจเป็นสำคัญ
“The Citizen” จะเป็นคำตอบสำคัญสู่การยกเครื่องระบบบริหารจัดการภาครัฐไทย อย่างไรก็ตาม หนึ่งข้อสำคัญที่ต้องพึงระวังคือ The Citizen ควรเป็นระบบกลางดั่งประตูหลักสู่การเชื่อมต่อภาครัฐ มิใช่ 1 กรม 1 แพลตฟอร์ม หากแต่ต้องเป็นเสมือนแพลตฟอร์ม Gov.uk ของรัฐบาลอังกฤษที่เป็นศูนย์กลางรวมบริการและข้อมูลภาครัฐทั้งหมดแทนที่กว่า 2,000 แพลตฟอร์มภาครัฐเดิมเข้าด้วยกัน เป็นแพลตฟอร์มเดียวครอบจักรวาล มีให้เลือกใช้บริการตั้งแต่ครรภ์มารดาสู่เชิงตะกอน ครอบคลุมทุกสิ่งอย่าง
เราเชื่อว่าหาก “The Citizen” ถูกนำไปปฏิบัติ จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของประเทศ จะทำให้ภาครัฐไทยพลิกโฉมไปสู่ภาครัฐที่ทันสมัย คล่องตัว เปิด น่าเชื่อถือ และยึดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลง สอดรับกับโลกในศตวรรษที่ 21 ซึ่งมีโอกาส ความท้าทายและความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในโลกใหม่นี้อีกมาก และภาครัฐไทยจะมีทีมไทยแลนด์ 67 ล้านคนเป็นพลังสำคัญในการรับมือกับโลกอนาคต.