ส่วนที่ขาดหายไปของการเรียกร้อง รัฐสวัสดิการ
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้เสรีภาพและความเสมอภาค มักจะเป็นสิ่งที่ถูกเน้นถึงอยู่เสมอในกระแสการเรียกร้องทางการเมือง รวมถึงเรื่องสวัสดิการที่มีจุดมุ่งหมายอยู่ที่การทำให้เกิด รัฐสวัสดิการ ขึ้นในไทย
บทความโดย...
ตะวัน วรรณรัตน์ ภาควิชาสังคมศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ ม. ศิลปากร
นรชิต จิรสัทธรรม คณะเศรษฐศาสตร์ ม.ขอนแก่น
แน่นอนว่าทั้งเสรีภาพและความเสมอภาคเป็นพื้นฐานที่สำคัญที่จะทำให้สังคมมีความน่าอยู่ อย่างไรก็ตามทั้งเสรีภาพและความเสมอภาคมักจะเน้นไปที่ปัจเจกบุคคล กล่าวคือเป็นเสรีภาพของปัจเจกบุคคลที่จะต้องมีอิสระในด้านความคิด ความเชื่อทางศาสนา การศึกษาหาความรู้ รวมถึงในเรื่องอื่นๆ อีกหลายเรื่อง และเป็นความเสมอภาคของปัจเจกบุคคลที่จะต้องเท่าเทียมกันในทางสิทธิ กฎทางหมายและในระยะหลังนี้ข้อเรียกร้องมักจะรวมไปถึงความเสมอภาคทางโอกาสโดยมีนัยความเสมอภาคทางโอกาสจะช่วยแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำที่อยู่ในขั้นวิกฤติของสังคมไทยได้
ในขณะที่คำสำคัญอีกคำหนึ่งที่มักจะถูกเน้นถึงน้อยกว่าคือ "ภราดรภาพ" ซึ่งเป็นแม้จะเริ่มตั้งต้นที่ปัจเจกบุคคลเหมือนสองคำแรกแต่ภราดรภาพจะเน้นไปที่การคิดถึงคนอื่นๆที่เป็นเพื่อนร่วมโลกร่วมสังคมนอกเหนือไปจากการคิดถึงตัวเอง
คำว่าภราดรภาพมีความหมายว่าอย่างไรสามารถพิจารณาได้จากสิ่งที่ฐาปนันท์ นิพิฎฐกุลและโกวิทย์ วงศ์สุรวัฒน์ได้เคยกล่าวถึงไว้
ฐาปนันท์ นิพิฏฐกุลได้กล่าวถึงเรื่องภราดรภาพไว้ในตอนหนึ่งของปาฐกถาปรีดี พนมยงค์ประจำปี พ.ศ. 2549 มีความตอนหนึ่งว่า “นี่ก็เป็นแนวคิดที่อาจารย์ปรีดีได้รับอิทธิพลมา ท่านเคยอธิบายไว้ว่า "มนุษย์เกิดมาเพื่ออยู่ร่วมกันดังกล่าวแล้ว มนุษย์จำต้องช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ในประเทศหนึ่ง ถ้ามนุษย์คนหนึ่งต้องรับทุกข์ เพื่อนมนุษย์อื่นก็รับทุกข์ด้วย จะเป็นโดยทางตรงหรือทางอ้อมก็ตาม เหตุฉะนั้นเพียงแต่มีความอิสระและมีความเสมอภาคจึงยังไม่เพียงพอ จึงยังต้องมีการช่วยเหลือกันฉันพี่น้องด้วย”
เช่นเดียวกับที่โกวิทย์ วงศ์สุรวัฒน์เขียนถึงเรื่องภราดรภาพไว้ในบทความสั้นๆชื่อภราดรภาพกับความหมายที่แท้ในมติชนออนไลน์เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2562 ความตอนหนึ่งว่า “...ถ้าเรามีภราดรภาพอย่างกว้างขวางแล้ว เราก็จะมองทุกคนในสังคมเหมือนญาติพี่น้อง ซึ่งการกระทำกับคนเหมือนกับว่าไม่ใช่คน เช่น การมีโสเภณีเด็กก็จะหมดไป เพราะเขาเป็นน้องเรา เราจะทำกับเขาได้ลงคออย่างไร หรือใครจะเอายาเสพติดมาขายให้กับน้องของตนเองได้เล่า
สังคมก็น่าอภิรมย์มากขึ้น เมื่อเราเห็นพี่น้องของเราตกทุกข์ได้ยาก อาศัยอยู่ใต้สะพาน อยู่ตามสลัมน้ำครำ เราต้องช่วยกันคนละไม้คนละมือ...”
นอกจากนี้โกวิทย์ยังเน้นด้วยว่าต้องระมัดระวังมิให้ใช้ภราดรภาพในความหมายแคบเพราะจะทำให้หมายถึงการเล่นพรรคเล่นพวก และกีดกันคนที่ไม่ใช่พรรคพวกเดียวกันให้ออกไปจากพื้นที่ของการแบ่งปันผลประโยชน์
ประเด็นที่ฐาปนันท์และโกวิทย์กล่าวถึงร่วมกันคือ เรื่องของการรับรู้ความทุกข์ยากของเพื่อนมนุษย์คนอื่น และเมื่อรับรู้แล้วก็ต้องการช่วยเหลือแก้ไข เพื่อให้เพื่อนมนุษย์คนนั้นหลุดพ้นจากปัญหาและความทุกข์ยากที่ประสบพบเจออยู่
"รัฐสวัสดิการ" ที่อยู่ในกระแสการเรียกร้องนั้นก็เรียกร้องกันเพราะต้องการให้รัฐเข้ามาดูแลช่วยเหลือดูแลแก้ปัญหาให้กับปัจเจกบุคคลตั้งแต่ “จากครรภ์มารดาสู่เชิงตะกอน” ใช่หรือไม่ และในเมื่องบประมาณที่รัฐเอามาทำการช่วยเหลือนั้นก็จะต้องมีที่มาจากการจัดเก็บภาษีจากประชาชนที่เป็นเพื่อนร่วมสังคม
คำถามสำคัญจึงมีอยู่ว่าการจะก่อกำเนิดรัฐสวัสดิการขึ้นในสังคมไทยนั้น จะก่อกำเนิดขึ้นด้วยการบังคับให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหรือด้วยการสร้างความยินยอมพร้อมใจให้คนในสังคมไทยที่อยู่ดีกินดีแล้วได้ตระหนักถึงความทุกข์ยากของผู้คนอีกมากมายที่ยังตกระกำลำบากอยู่ และเต็มใจที่จะมีส่วนร่วมในการช่วยกันประคับประคองเพื่อนร่วมสังคมให้มีชีวิตอยู่ได้อย่างปกติสุขและมีศักดิ์ศรี ก็ดังที่โกวิทย์เขียนไว้ว่า “เมื่อเราเห็นพี่น้องของเราตกทุกข์ได้ยาก อาศัยอยู่ใต้สะพาน อยู่ตามสลัมน้ำครำ เราต้องช่วยกันคนละไม้คนละมือ”
การช่วยเหลือดังกล่าวนี้ หาได้เป็นการช่วยเหลืออันเนื่องมาจากจิตคิดสงสารแต่เพียงเท่านั้น แต่การช่วยเหลือเกื้อกูลกันนี้มีฐานคิดมาจากความคิดว่า “มนุษย์ที่เกิดมาย่อมต้องเป็นเจ้าหนี้และลูกหนี้ต่อกัน" เพราะ “คนจนนั้นฝูงชนทำให้จนก็ได้ หรือคนที่รวยเวลานี้ไม่ได้รวยเพราะแรงงานของตนเลย”
ดังนั้นการช่วยเหลือเกื้อกูลกันจึงมิได้ทำในนามของการบริจาคดังที่ผู้คนจำนวนมากในสังคมไทยมักกระทำกัน แต่กระทำผ่านการเก็บภาษีก้าวหน้าในระดับสูงเพื่อนำมาเป็นงบประมาณให้รัฐจัดสวัสดิการให้อย่างถ้วนหน้า
จากที่กล่าวมานี้จะเห็นได้ว่าภราดรภาพเป็นแนวคิดสำคัญสำหรับการก่อร้างสร้างรัฐสวัสดิการที่มั่นคง แต่การบ่มเพาะความคิดเรื่องภราดรภาพยังไม่ค่อยจะมีพื้นที่ในสังคมไทยมากนักเมื่อเทียบกับการกล่าวถึงเรื่องความเสมอภาคและเสรีภาพ
ไม่เพียงแค่เรื่องภราดรภาพเท่านั้น ยังมีประเด็นอื่นๆอีกมากมายที่ต้องช่วยกันผลักดันและสร้างให้เกิดขึ้น หากต้องการปูเส้นทางสู่การเป็นรัฐสวัสดิการ เช่น เรื่องความเป็นมืออาชีพในการทำงาน
การเป็นมืออาชีพในการทำงานในที่นี้ไม่ได้หมายถึงการเป็นผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญในงานที่ตนทำเท่านั้น แต่ยังหมายถึงการทำงานด้วยความรัก ด้วยความตั้งใจอย่างเต็มกำลังความสามารถ
หากสามารถทำให้ผู้คนในสังคมยึดถือค่านิยมเช่นนี้ ไม่เพียงเราจะไม่เห็นภาพของสื่อที่มุ่งแต่จะขายข่าวโดยไม่สนใจความถูกต้องรอบด้านของข้อมูล ไม่เพียงเราจะไม่เห็นอาจารย์และนักวิจัยรวมถึงมหาวิทยาลัยที่มุ่งแต่จะปั้มบทความเพื่อตีพิมพ์ในวารสารที่สนใจแต่เลขอิมแพ็คแฟคเตอร์โดยไม่ได้ให้ความสนในอิมแพ็คที่มีต่อสังคมจริงๆ
แต่เราจะสามารถโต้แย้งกับนักเศรษฐศาสตร์สายที่โปรตลาดได้อย่างเต็มปากเต็มคำว่า ไม่จำเป็นที่จะต้องห่วงไปเลยว่าคนตกงานจะไม่รีบหางานทำหากได้เงินช่วยเหลือจากรัฐ เพราะคนตกงานเหล่านั้นล้วนแล้วแต่มีความเป็นมืออาชีพที่มีความมุ่งมั่นอยากทำงานที่ตนรักอย่างเต็มความสามารถ.