ภาคประชาชน เรียกร้องรธน.สังคมนิยมประชาธิปไตยสร้างรัฐสวัสดิการ
ภาคประชาชน เรียกร้องสร้างรัฐสวัสดิการเป็นรูปธรรม อัด นายกฯอ้างกฎหมายขัดขวางเจตนารมณ์ประชาชนไม่ได้ เสนอ ร่างรัฐธรรมนูญสังคมนิยมประชาธิปไตยเปิดทางปฏิรูปโครงสร้าง
คณะกรรมาธิการสวัสดิการสังคม สภาผู้แทนราษฎร จัดเวทีเสวนาหัวข้อ "รัฐไทยจะอยู่อย่างไร เมื่อมีรัฐสวัสดิการ" โดยนายนิมิตร์ เทียนอุดม ตัวแทนเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ กล่าวว่า สิทธิประโยชน์ของประชาชนไม่เคยอยู่ในความสนใจของรัฐ แต่รัฐบาลจะให้สิ่งเหล่านี้ก็ต่อเมื่อพรรคการเมืองต้องการหาเสียงเท่านั้น โดยไม่ได้มองว่าเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนที่ควรได้รับ ทำให้รัฐสวัสดิการหรือระบบบำนาญถ้วนหน้าไม่สามารถเกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะในปี 2557 การเคลื่อนไหวของภาคประชาชนเพื่อผลักดันเรื่องนี้ไม่อาจทำได้เต็มที่ เพราะการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนถูกจำกัดอย่างมาก ประกอบกับ การเลือกตั้งถูกทอดเวลาออกไปนานส่งผลให้การรณรงค์ของภาคประชาชนมีปัญหาอีก
นายนิมิตร์ กล่าวว่า เมื่อเกิดการเลือกตั้งภาคประชาชนก็พยายามผลักดันเรื่องนี้ผ่านคณะกรรมาธิการชุดนี้ เพื่อให้เกิดเป็นรูปธรรม อย่างไรก็ตาม การเสนอร่างกฎหมายเรื่องนี้ติดตรงที่เป็นกฎหมายการเงินที่ต้องให้นายกฯให้ความรับรองก่อนเข้าสภา ทั้งๆที่ร่างกฎหมายนี้เสนอโดยประชาชนมากกว่าหมื่นรายชื่อ ตามกฎหมายให้อำนาจนายกฯรับรองเท่านั้นไม่ใช่การให้ความเห็นชอบ เพราะสุดท้ายต้องให้สภาเป็นผู้ตัดสิน ด้วยเหตุนี้ทำให้ภาคประชาชนต้องถอยทวงถามรัฐบาลอยู่เป็นระยะ
"เส้นทางของรัฐสวัสดิการและบำนาญถ้วนหน้า ภาคประชาชนต้องร่วมกันลุกขึ้นเรียกร้อง เพื่อให้การจัดและเขย่าระบบภาษีใหม่ ซึ่งระบบนี้จะทำให้ยุติการส่งต่อความยากจนแบบเรื้อรัง เพราะถ้ารอแต่รัฐบาลย่อมไม่อาจเกิดขึ้นได้"
ด้านนายษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี อาจารย์ประจำวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ถ้าพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม บอกว่าประเทศไทยไม่เงินทำรัฐสวัสดิการนั้นไม่เป็นความจริง เพราะที่ผ่านมาคนไทยถูกจัดเก็บภาษีจำนวนมหาศาล ดังนั้น การเอาเงินคืนประชาชนในรูปบำนาญเป็นเรื่องเล็กน้อยมาก
"วันนี้ที่คนไทยส่วนใหญ่ไม่มีเงินเก็บนั้นไม่ใช่เพราะใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่าย วันนี้ขอพูดแทนคนรุ่นใหม่นับแสนนับล้านคน ถ้าเราดูตามสื่อกระแสหลักอาจจะเห็นแต่ความโกรธและความก้าวร้าวของเขา แต่นักศึกษาที่ประท้วงวันนี้มีสิ่งที่ต้องการ คือ ประเทศนี้โหดร้ายกับคนรุ่นพ่อรุ่นแม่แต่ได้เงินบำนาญเดือนละ 600บาท พวกเขาไม่ได้ต่อสู้เพื่อตัวของเขาเอง แต่ต้องการการปฏิรูปสังคม สังคมนี้ทำให้พ่อแม่เขาเหนื่อยเหลือเกิน ในทางกลับกันคนรวยเพียง 1%กลับมีอำนาจมากมายโดยไม่เคยใช้ชีวิตด้วยเงิน 300 บาทต่อวัน แต่กลับก่อกำแพงสูงขึ้นขังประชาชนไว้อีกด้านของกำแพงโดยไม่สนใจการสร้างรัฐสวัสดิการ"
นายษัษฐรัมย์ กล่าวว่า สังคมนิยม คือ หัวใจใหญ่ของการสร้างรัฐสวัสดิการ ถ้าเราต้องการให้รัฐธรรมนูญที่ทำให้รัฐสวัสดิการเกิดขึ้นได้จะต้องเป็นรัฐธรรมนูญแบบสังคมนิยมประชาธิปไตยอย่างสวีเดน นอร์เวย์ เดนมาร์ค ฟินแลนด์ เพื่อเป็นหลักประกันความมั่นคงให้กับชีวิตของประชาชน ไม่ใช่รัฐธรรมนูญแบบเสรีนิยมทางเศรษฐกิจสร้างความมั่งคั่งให้แค่คนบางกลุ่มเท่านั้น
"เมื่อเราพูดถึงรัฐสวัสดิการมักคิดว่าเป็นไปไม่ได้ แต่เราสามารถเปลี่ยนแปลงให้เกิดรัฐสวัสดิการได้ด้วยการกดดันต่อสู้และผลักดัน งบประมาณ 3.2 ล้านล้านบาท ถ้าสร้างรัฐสวัสดิการจะใช้เงิน 1.3 ล้านล้านบาทหรือคิดเป็นเงิน 40% เท่านั้น ที่สำคัญพรรคการเมืองต้องนำเรื่องการปฏิรูปโครงสร้างที่เหลื่อมล้ำให้เป็นวาระทางการเมือง" นายษัษฐรัมย์ กล่าว