ค้นหา "โมเดลแก้จน" : จน แต่จะไม่จนตลอดไป
ความจน ยังเป็นปัญหาสำคัญของประเทศ โดยเฉพาะวิกฤตโควิด-19 ยิ่งตอกย้ำให้เห็นภาพนี้ชัดเจนขึ้น เราเห็นความทุกข์ยากของคนจนที่ต้องตกงาน ไม่มีเงินเก็บไม่มีเงินออม การค้นหา "โมเดลแก้จน" จึงเป็นหนึ่งในความพยายามสำคัญที่จะแก้ไขปัญหา
ผู้เขียน : ประกาย ธีระวัฒนากุล / ดวงกมล แก่นสาร
ความยากจน มีแนวโน้มที่จะเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาประเทศไทยในระยะต่อไปหากไม่ได้รับการแก้ไขที่ตรงกับความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย โดยเฉพาะความยากจนของแรงงานภาคเกษตร แรงงานภาคเกษตรมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 30 ของกำลังแรงงานรวมในปี 2563 กำลังแรงงานมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องสวนทางกับอายุเฉลี่ยของแรงงาน ส่งผลให้ผลิตภาพแรงงานต่ำ ดังรายงานของธนาคารโลกระบุว่า ปัจจัยที่มีผลให้ความยากจนเพิ่มขึ้น ในช่วงปี 2558 – 2560 ได้แก่ ค่าแรง รายได้จากภาคเกษตร และ เงินส่งกลับครัวเรือน
ในปี 2559 - 2561 ครัวเรือนไทยรู้สึกว่ามีสภาพชีวิตความเป็นอยู่แย่ลง แม้ว่าในปี 2562 ข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนของสภาพัฒน์จะรายงานสถานการณ์ความยากจนของไทยในภาพรวมดีขึ้นจากในช่วงเวลาที่ผ่านมา โดยมีจำนวนและสัดส่วนคนจนที่ลดลง แต่เนื่องจากภัยแล้งที่ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรตั้งแต่ก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19 ประกอบกับเกษตรกรส่วนใหญ่ประสบปัญหาเรื่องการไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตัวเองและภาระหนี้สิน ผลผลิตราคาตกต่ำ รายได้ไม่พอกับค่าใช้จ่ายและต้นทุนการผลิต เกิดเป็นวงจรความยากจนซ้ำซาก ภาคเกษตรไม่สามารถรองรับการเคลื่อนย้ายแรงงานจากภาคการผลิตอื่น การค้นหา "โมเดลแก้จน" จึงเป็นหนึ่งในความพยายามสำคัญที่จะแก้ไขปัญหาความยากจน
โครงการบวร (บ้าน-วัด-โรงเรียน) เป็นหนึ่งในโครงการที่น่าสนใจที่ได้นำมาใช้เป็นโมเดลแก้จน ตัวอย่างเช่น โครงการบวร (บ้าน-วัด-โรงเรียน)ในเขตปฏิรูปที่ดิน อำเภอชุมตาบง จังหวัดนครสวรรค์ โดยสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ผสมผสานระหว่างการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมเข้าด้วยกัน เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนหลายมิติของประเทศไทย (Multidimensional Poverty Index: MPI) ประกอบด้วยด้านการศึกษา การใช้ชีวิตในแบบที่ดีต่อสุขภาพ ความเป็นอยู่ และความมั่นคงทางการเงิน
กลไกการแก้จนของโครงการบวร ผ่านบ้าน วัด โรงเรียน ของกรณีตัวอย่างนี้ดำเนินการโดยบ้าน หรือตัวเกษตรกรเอง การแก้จนจะเกิดขึ้นไม่ได้หากตัวคนนั้นเองไม่พร้อมจะเปลี่ยนแปลง
ความสำเร็จของโครงการบวรเริ่มต้นจากการปรับกระบวนทัศน์ของเกษตรกรให้เปลี่ยนไปสู่การทำเกษตรกรรมยั่งยืน ภาครัฐเองก็ต้องปรับบทบาทและรูปแบบในการส่งเสริมเกษตรกร โดยทาง ส.ป.ก. ซึ่งมีภารกิจหลักในการส่งเสริมและจัดสรรที่ดินให้แก่เกษตรกรที่ไม่มีที่ดินทำกินได้มีที่ดินตามกฎหมายการปฏิรูปที่ดิน ได้ปรับรูปแบบการทำงานหันไปเน้นการมีส่วนร่วมของเกษตรกรในการพัฒนาที่ดิน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมให้เป็นพื้นที่วนเกษตรเพื่อให้เกิดความสมดุลของระบบนิเวศในแปลงเกษตร
นอกจากนี้ หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการศึกษาในพื้นที่ได้ทำงานอย่างจริงจังและต่อเนื่องร่วมกันในการส่งเสริมการพัฒนาตลอดห่วงโซ่การผลิต การถ่ายทอดองค์ความรู้และสนับสนุนให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนแนวคิดการทำเกษตรแบบดั้งเดิมไปสู่การทำเกษตรแบบผสมผสานและปลูกพืชระบบเกษตรอินทรีย์ที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน ส่งเสริมการแปรรูปผลผลิตและวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ขยายช่องทางตลาดรวมทั้งการทำการตลาดออนไลน์ ตลอดจนการส่งเสริมการรวมกลุ่มเพื่อสร้างความเข้มแข็งของเกษตรกรในพื้นที่ สิ่งเหล่านี้ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
วัด จุดเด่นที่สำคัญของโครงการบวร คือ การมีส่วนร่วมของสถาบันทางศาสนาซึ่งเป็นการใช้จุดแข็งด้านสังคมและวัฒนธรรมของไทย สำหรับคนไทยแล้ว วัดเป็นแหล่งที่พึ่งพิงทางจิตใจและเป็นสถานที่พบปะกันของคนในชุมชนท้องถิ่น กรณีนี้ได้อาศัยวัดช่วยให้มีการส่งเสริมการสร้างเครือข่ายและการร่วมกลุ่มที่เข้มแข็งยิ่งขึ้น ตลอดจนการให้คำแนะนำและส่งเสริมการปรับแนวคิดการทำเกษตรกรรมในชุมชน รวมทั้งเอื้อพื้นที่ภายในวัดให้เป็นพื้นที่เรียนรู้และกระจายสินค้าชุมชนเป็นครั้งคราวตามความเหมาะสม
โรงเรียน การมีส่วนร่วมของโรงเรียนเป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบสำคัญ โรงเรียนได้สร้างยุวเกษตรกร โดยจัดชั่วโมงเรียนให้เกิดการฝึกฝนการทำการเกษตรและผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรตามความสมัครใจของผู้เรียน ซึ่งเป็นการปลูกฝังค่านิยมในการสืบทอดการทำเกษตรแบบผสมผสาน อันจะนำไปสู่การแก้ปัญหาแรงงานสูงอายุในภาคเกษตรอีกด้วย
บวร จึงเป็นโมเดลหนึ่งที่สามารถนำไปขยายผลในการแก้ไขปัญหาความยากจนหลายมิติของเกษตรกรในชุมชนท้องถิ่น ตลอดจนส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนครอบคลุมด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ปัญหาความยากจนในแต่ละพื้นที่มีความเฉพาะแตกต่างกันออกไป ภาครัฐจึงมีบทบาทอย่างมาก ต้องปรับบทบาทการทำงาน ส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาความยากจนในพื้นที่ รวมทั้งมุ่งเน้นการทำงานร่วมกับภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างจริงจังและต่อเนื่อง
สังคมและกลไกของประเทศที่ดีจะช่วยสนับสนุนให้คนหลุดพ้นจากความจน โมเดลการแก้จนจึงเป็นเรื่องที่ต้องร่วมกันค้นหา ทดลอง หาทางออก เป็นหนทางในการแก้จน
คนเกิดมาจนไม่ได้ผิด และถึงจะจน ก็ไม่จำเป็นจะต้องจนตลอดไป อย่าให้ความจนที่ติดตัวบางคนมาต้องส่งต่อไปยังลูกหลาน โดยเฉพาะภาคเกษตรที่อยู่คู่มากับประเทศไทย อนาคตเกษตรกร อนาคตไทยต้องดีกว่าเดิม.