5 จุดเปลี่ยนทางการเงิน 'กับดักความจน' สู่ 'หนทางรวย'

5 จุดเปลี่ยนทางการเงิน 'กับดักความจน' สู่ 'หนทางรวย'

เปิด 5 แนวคิดที่นำไปสู่ 'กับดักความจน' และแนวคิดที่ทำให้ใครก็เข้าใกล้ 'หนทางรวย' ได้เมื่อเปลี่ยนมุมมอง

ความสำเร็จในชีวิตส่วนใหญ่เริ่มต้นที่แนวคิด เช่นเดียวกับเป้าหมายทางการเงิน ที่ต้องอาศัยแนวความคิดในการขับเคลื่อนตัวเองไปสู่เป้าหมายทางการเงินในแบบของตัวเอง

แนวคิดที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้มีทั้งแนวคิดที่จะทำให้หลายคนติดกับความจนไปรู้จบ พร้อมเสนอแนวคิดที่จะนำไปสู่หนทางรวย เมื่อเริ่มลงมือปฏิบัติอย่างจริงจัง

157976745262

  • เงินในอนาคตก็เงินเรา VS เงินอนาคตไม่มีในโลก

สาเหตุความเชื่อและพฤติกรรมการใช้เงินอนาคตเป็นกับดักความจน เพราะการจินตนาการถึงเงินเดือนหน้า เดือนถัดๆ ไป โบนัสที่คาดว่าจะได้ในอนาคต ฯลฯ มาเป็นเหตุผลสนับสนุนในการใช้จ่าย โดยที่ยังไม่มีเงินอยู่ในกระเป๋าหรือในบัญชี ทำให้ใช้เงินโดยขาดความระมัดระวัง โดยเฉพาะเงินอนาคตจากบัตรเครดิต ที่หยิบใช้ได้สะดวกสบายที่ทำให้พลั้งมือใช้เงินได้ง่ายๆ

เงินอนาคตไม่มีในโลกตราบใดที่ยังไม่มีเงิน อยู่ในมือต้องไม่ใช้จ่ายไปล่วงหน้า
โดยเฉพาะกับของที่ไม่จำเป็น

การใช้เงินอนาคตจนเกินเงินปัจจุบัน เกินรายได้ ท้ายที่สุด เมื่อใช้เงินจำนวนที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตตั้งแต่วันนี้ เมื่ออนาคตมาถึง ก็จำเป็นต้องนำเงินที่มีไปชดใช้เงินอนาคต ไม่เหลือเงินไว้ใช้ แล้ววังวนนี้จะเกิดขึ้นวนเวียนไม่รู้จบ 

คนที่ไม่อยากตกอยู่ในวังวนที่นำไปสู่กับดักความจน จึงต้องมองในมุมตรงกันข้ามคือเงินอนาคตไม่มีในโลกตราบใดที่ยังไม่มีเงิน อยู่ในมือต้องไม่ใช้จ่ายไปล่วงหน้า โดยเฉพาะกับของที่ไม่จำเป็น ก่อนที่จะซื้อต้องหันมองเงินในกระเป๋า และพยายามบริหารจัดการเงินที่มีอยู่ให้เหมาะสมกับค่าใช้จ่ายที่จำเป็นก่อนใช้จ่ายไปกับของที่อยากได้ การพิจารณาศักยภาพทางการเงินของตัวเองอยู่เสมอจะช่วยให้มีสติในการใช้จ่ายมากขึ้น ลดโอกาสให้การก่อหนี้ที่ไม่จำเป็น ดังนั้น ลองจินตนาการถึงผลเสียในอนาคต ก่อนที่จะใช้เงินในอนาคต (ที่ไม่มีอยู่จริง)

157976788115

  •  Sale ต้องซื้อ VS Sale จุดระเบิดต่อมยั้งคิด

กลยุทธ์การลดราคาวนเวียนอยู่ไม่รู้จบตั้งต้นปียันปลายปี กระตุ้นความอยากซื้อได้ไม่น้อย จิตวิทยาของการซื้อสินค้าราคาพิเศษ คือความรู้สึกคุ้มค่ากว่าการซื้อแบบปกติ ยิ่งซื้อยิ่งคุ้ม 

ในความเป็นจริงแล้ว ความคุ้มค่าจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อ สินค้าราคาโปรโมชันนั้นๆ เป็นของจำเป็น หรือเกิดประโยชน์ในชีวิต (จริงๆ) แต่ในทางกลับกัน หากสินค้าโปรโมชันที่กำลังจะซื้อ เป็นของที่คล้ายกับที่มีอยู่เดิม หรือเป็นของที่ซื้อเพื่อตอบสนองแค่ความอยากเงินที่ทุ่มไปซื้อไปตามอารมณ์ ยิ่งซื้อ ยิ่งสนุก แต่ของที่ได้มาไม่เกิดประโยชน์ใดๆ เลย แล้วต่างอะไรกับทำเงินหล่นหาย? และนี่คือเหตุผลที่ป้าย “Sale” ทำให้หลายคนเดินวนเวียนอยู่บนปากเหวของความจนไม่รู้จบ 

ในความเป็นจริง "ความคุ้มค่า" จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อ สินค้าราคาโปรโมชันนั้นๆ
เป็นของจำเป็น หรือเกิดประโยชน์ในชีวิต (จริงๆ)

หากมองในมุมกลับ ความเพลิดเพลินเวลาใช้จ่าย การได้มาในสิ่งที่คิดว่าคุ้มค่ามากกว่าที่เคย ทำให้อาจเรียกได้ว่า “Sale คือจุดระเบิดต่อมยั้งคิดการใช้จ่ายอย่างมีสติ และหลีกเลี่ยงการเดินเข้าหาจุดระเบิดต่อมยั้งคิด จึงเป็นแนวคิดที่ช่วยให้ควบคุมการใช้จ่ายที่มากับความอยากได้มากขึ้น และบาลานซ์เงินกับไลฟ์สไตล์ได้ดีขึ้นตามไปด้วย

157976790425

  •  จ่ายเครดิตขั้นต่ำก็พอ VS รูดเท่าไหร่ จ่ายเท่านั้น  

คุณสมบัติของบัตรเครดิตจริงๆ แล้วคือการใช้เครดิตที่ผู้ใช้แต่ละมีไปล่วงหน้า เพื่อให้ไม่จำเป็นต้องพกเงินสดจำนวนมากๆ แต่ปัจจุบันบัตรเครดิตถูกนำมาใช้งานแบบเงินผ่อน ยิ่งไปกว่านั้นหลายคนยังใช้บัตรเครดิตเป็นแหล่งเงินผ่อน อยากได้รูดไปก่อน ค่อยผ่อนทีละนิด

จ่ายเครดิตขั้นต่ำก็พอ...ใครจะไปจ่ายหมด ถ้าจ่ายหมดเขาก็ไม่เรียกบัตรเครดิตแล้ว” นี่คือ แนวคิดที่ทำให้ความจนอ้าแขนรับ เพราะการจ่ายบัตรเครดิตขั้นต่ำ หรือ 10% ของวงเงินทั้งหมดที่ใช้เป็นจำนวนที่น้อยมาก โดยเฉพาะคนที่รูดเต็มวงเงิน แถมมีหลายบัตร ยิ่งนานวัน ดอกก็ยิ่งพอกพูนไปตามเวลา ทั้งยอดดอกเบี้ยทั้งหมด และดอกเบี้ยคงค้าง (ดอกเบี้ยเฉลี่ยประมาณ 20%) กลายเป็นการผ่อนดอกเบี้ยไม่รู้หมด กลายเป็นหนี้เรื้อรัง ที่พอคำนวณดอกเบี้ยที่ต้องจ่าย กับราคาสินค้าที่แท้จริง ทำให้ของที่ซื้อด้วยบัตรเครดิตแพงกว่าเกือบเท่าตัวเลยก็มี 

จ่ายเครดิตขั้นต่ำก็พอ...ใครจะไปจ่ายหมด ถ้าจ่ายหมดเขาก็ไม่เรียกบัตรเครดิตแล้ว
..นี่คือ 
แนวคิดที่ทำให้ความจนอ้าแขนรับ!

รูดเท่าไหร่ จ่ายเท่านั้นคือลักษณะการใช้บัตรเครดิตที่ถูกต้อง และจะทำให้ได้รับประโยชน์อย่างแท้จริงจากการใช้บัตรเครดิต นั่นคือสิทธิประโยชน์ที่ตามมากับการใช้จ่ายผ่านบัตร โดยไม่เสียดอกเบี้ย เช่น แต้มบัตรเครดิตที่สามารถใช้แลกสิทธิประโยชน์ต่างๆ ได้ หรือ Cash Back (เครดิตเงินคืน)

สำหรับคนที่เผลอผ่อนเครดิตขั้นต่ำไปแล้ว ทำยังไงได้บ้าง?

หนึ่ง หยุดใช้บัตรเครดิตนั้นซะ หยุดรูดเพิ่ม แนะนำให้หยุดเดินห้างควบคู่ไปด้วย หยุดส่องของเซลล์ ของออนไลน์ให้ยั่วยวนใจ

สอง หากอยากออกจากวังวนทาสบัตรเครดิตไวๆ ให้จ่ายอย่างน้อย 30% ของยอดหนี้ หากรายได้ไม่เพียงพอ ถึงเวลา เช่น หารายได้เสริมควบคู่ไปด้วย เช่น เอาของที่ช้อปมาจนท่วมบ้านมาโพสต์ขาย ท่องไว้ว่าจะเป็นไทแก่ตัวเองให้ได้ เก็บแรงแค้นเอาไว้ด้วยก็ดี จะได้ไม่ทำแบบนี้อีก

157976793226

 

  • ผ่อนได้ผ่อนเลย VS ผ่อนเฉพาะที่จำเป็น(มาก)

เทคโนโลยที่พัฒนามากขึ้นทำให้สินเชื่อเข้าถึงคนหมู่มากขึ้น โดยเฉพาะสินเชื่อบัตรเครดิต ที่หลายธนาคารหันมาปรับกลยุทธ์เจาะกลุ่มลูกค้ากลุ่มที่มีรายได้ไม่สูงมากขึ้น และแข่งขันอัดข้อเสนอรูดก่อนผ่อนทีหลังสร้างแนวคิดว่าใครๆ ก็เป็นเจ้าของสินค้าในฝันได้การเปิดโอกาสให้ผ่อนสินค้าได้ในอัตราดอกเบี้ยที่ค่อนข้างต่ำ หรือผ่อนแบบ 0% ช่วยเพิ่มโอกาสเข้าถึงสินค้าและบริการของคนในวงกว้าง แต่ข้อเสียที่มากับความง่ายในการใช้จ่ายคือการใช้บริการที่ขาดการยั้งคิด และกลายเป็นวังวนหนี้แบบที่ไม่ควรจะเป็น 

หนทางสู่ความจน ไม่ใช่การผ่อนสินค้า แต่เป็นการผ่อนที่ขาดการวางแผน
และขาดประเมินศักยภาพของตัวเอง นำไปสู่การผ่อนซ้ำซ้อน
ผ่อนในสิ่งที่ไม่จำเป็น ผ่อนจนเกินกำลังทรัพย์ที่จะจ่าย

หนทางสู่ความจน ไม่ใช่การผ่อนสินค้า แต่เป็นการผ่อนที่ขาดการวางแผน และขาดประเมินศักยภาพของตัวเอง นำไปสู่การผ่อนซ้ำซ้อน ผ่อนในสิ่งที่ไม่จำเป็น ผ่อนจนเกินกำลังทรัพย์ที่จะจ่าย กระทบเงินที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ตลอดจนทำให้กระทบการวางแผนการเงินในระยะยาวที่ส่งผลกระทบต่อฐานะทางการเงินของตัวเองในอนาคตด้วย

การผ่อนไม่ใช่เรื่องผิด แต่หากจะเลือกใช้ตัวช่วยนี้จะต้องผ่อนเฉพาะที่จำเป็น(มาก)” เท่านั้น เช่นสิ่งที่จะทำให้เกิดประโยชน์ต่อชีวิตหรือหน้าที่การงานในระยะยาว เช่น ที่อยู่อาศัย รถยนต์ (ในกรณีที่มีความจำเป็นและคุ้มค่าการเดินทางกว่าระบบขนส่งสาธารณะ) อุปกรณ์ในการทำงาน ฯลฯ

อย่างไรก็ตามการผ่อนชำระในระยะยาว จะต้องพิจารณากำลังทรัพย์ของตัวเองให้ดีก่อนตัดสินใจ โดยหนี้ที่ต้องจ่ายเป็นประจำไม่ควรเกิน 40% ของเงินเดือน วางแผนให้ “พร้อมก่อนผ่อน” เพื่อลดโอกาสผิดพลาดระหว่างผ่อนชำระ มีช้า ดีกว่ามีแล้วพัง 

157976795319

  • ออมเงินไปเพื่อ? VS ยังไงก็ต้องออม

ออมเงินก็คือไม่ได้ใช้เงิน แล้วจะหาเงินไปเพื่ออะไรแนวคิดที่เปิดประตูสู่ความจน เพราะการคิดแบบนี้เป็นอุปสรรคต่อการเริ่มต้นการวางแผนการเงิน การใช้เงินที่ขาดแผนอาจไม่เห็นผลกระทบในช่วงแรก แต่จะเล่นงานในช่วงที่เกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินที่ต้องใช้เงินก้อนแบบด่วนๆ หรือต้องใช้เงินในบั้นปลายชีวิต

แนวทางที่ควรจะเป็น คือการมองแบบใหม่ที่ว่ายังไงก็ต้องออมการออมจะต้องเป็นส่วนหนึ่งในการจัดสรรรายได้ เช่นเดียวกับการจัดสรรเงินไปจ่ายหนี้ หรือค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันอื่นๆ แต่ละคนควรมีเงินออมเผื่อไว้สำหรับกรณีฉุกเฉินอย่างน้อย 6 เท่าของค่าใช้จ่ายแต่ละเดือน โดยอาจเริ่มต้นเก็บอย่างต่ำ 10% ของเงินเดือนก่อนนำไปใช้จ่ายในส่วนอื่นๆ 

คำตอบของคำถามที่ว่า แล้วจะออมเงินไปเพื่ออะไร? คือชีวิตที่มีเบาะนุ่มๆ รองรับเมื่อต้องเผชิญกับปัญหาทางการเงิน เมื่ออยากลงทุนอะไรบางอย่างก็สามารถทำได้เพราะมีทุนสำรองในเหตุการณ์ฉุกเฉิน ไม่ต้องพะวงกับอนาคตแบบไร้จุดหมาย ที่สำคัญชีวิตเงินทุนจะช่วยเพิ่มต่อยอดความสำเร็จในต่างๆ ได้ทันทีเมื่อโอกาสมาถึง  

.

.

หมายเหตุ : ข้อมูลส่วนหนึ่งจาก หนังสือ "25 วิธีคิดให้ชีวิตชิบหาย/25 วิธีคิดให้ชีวิตสบาย" โดย ทีมบรรณาธิการเงินติดล้อ