"วิสัยทัศน์ร่วม" ทุกคนในองค์กรร่วมกันกำหนด
ปัญหาขององค์กรส่วนใหญ่มักจะอยู่ที่ “วิสัยทัศน์ร่วม” ขององค์กร ซึ่งบุคลากรส่วนใหญ่ไม่ได้รับรู้ด้วย เนื่องจาก “วิสัยทัศน์ส่วนตัว” ของผู้ปฏิบัติงานไม่สอดคล้องกับ “วิสัยทัศน์องค์กร” คือ ทำให้เป้าหมายของส่วนตัวกับเป้าหมายของส่วนรวมไปด้วยกันไม่ได้
ว่ากันว่า “คนที่ประสบความสำเร็จ” ต่างมี “วิสัยทัศน์” ที่ชัดเจน โดยมีวิสัยทัศน์ส่วนตัว ที่สอดรับกับวิสัยทัศน์องค์กร “วิสัยทัศน์” (Vision) หมายถึง เป้าหมายระยะกลางไปจนถึงเป้าหมายระยะยาว ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้บริหารขององค์กรมักจะเป็นผู้ที่กำหนดขึ้นและมุ่งหวังอยากให้สิ่งนั้นๆ เกิดขึ้นจริงในอนาคต เพื่อตอบคำถามที่ว่า ในอีก 5 ปี หรือ 10 ปีข้างหน้า เราอยากให้องค์กรของเราเป็นอย่างไรหรือมีสภาพอย่างไร เพื่อจะได้ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในเวลานั้นๆ ได้ (ซึ่งรวมถึงวิสัยทัศน์ส่วนตัวของแต่ละบุคคลด้วย)
“วิสัยทัศน์ที่ชัดเจน” เท่านั้น ที่จะทำให้ผู้บริหารและพนักงานทุกคนมุ่งเดินไปในทิศทางเดียวกันได้ ซึ่งจะทำให้ทุกคนสามารถร่วมแรงร่วมใจกันทำงาน เพื่อก้าวสู่ “เป้าหมายเดียวกัน” ขององค์กร ในความเป็นจริงแล้ว ผู้บริหารระดับสูงหรือทีมผู้บริหาร มักจะเป็นผู้กำหนด “วิสัยทัศน์ขององค์กร” แต่ปัจจุบันมักจะให้พนักงานทุกคนมีส่วนร่วมในการกำหนด “วิสัยทัศน์ขององค์กร” ด้วย
วิสัยทัศน์ที่ทุกคนในองค์กรมีส่วนร่วมกันกำหนดขึ้น จึงเป็น “วิสัยทัศน์ร่วม” (Shared Vision) ที่ทุกคนในองค์กรจะมีความผูกพัน และเป็นเจ้าของร่วมกัน บ่อยครั้งที่พบว่า ผู้บริหารระดับสูงสุด (CEO) จะเป็นผู้ที่อธิบายวิสัยทัศน์ขององค์กร (ที่ผู้บริหารกำหนดขึ้นเอง) ในอีก 5-10 ปีข้างหน้าให้พนักงานทุกระดับเข้าใจ เพื่อจะได้แต่งเติมต่อยอด หรือ ปรับแต่งให้เป็น “วิสัยทัศน์ร่วม” เพื่อนำพาให้ทุกคนในองค์กรช่วยกันทำให้องค์กรตามวิสัยทัศน์เกิดขึ้น
CEO จึงต้องทุ่มเทกำลังทั้งหมดที่มีให้กับการกำหนดวิสัยทัศน์และความรับผิดชอบของตนเอง ไม่ใช่เป็นเพียงผู้นำที่เอาผลงานเดิมๆ มารวบรวมและปัดฝุ่นเท่านั้น แต่ต้องเป็นผู้สร้างสรรค์ผลงานใหม่ขึ้นมาด้วยตนเอง จึงจะสามารถสร้าง “ศรัทธา” ให้แก่ผู้ตามได้ ดังกรณีศึกษาจากผู้ก่อตั้งของเสื้อผ้าเบรนด์ดัง “ยูนิโคล่” (UNIQLO) ที่เกิดขึ้นมาในโลกธุรกิจเสื้อผ้าเพียงไม่ถึง 20 ปี แต่วันนี้ประสบความสำเร็จอย่างยิ่ง จนเป็นที่รู้จักกันกว้างขวางทั่วโลก
ผู้ก่อตั้ง UNIQLO ในฐานะที่เป็นทั้งเจ้าของและผู้บริหารระดับสูง จะตั้งคำถามตอนเริ่มต้นกิจการใหม่ๆ อาทิ ทำไมถึงต้องเปิดบริษัทขายเสื้อผ้าขึ้นใหม่อีกบริษัทหนึ่ง ถ้าเปิดบริษัทขายเสื้อผ้าจะต้องทำเสื้อผ้าแบบไหนออกมาขาย ทำไมเสื้อผ้าถึงต้องตามกระแสความนิยมของตลาด ทำอย่างไรจึงจะขายเสื้อผ้าในร้านสะดวกซื้อได้เหมือนกับขายสินค้าปัจจัยสี่ชนิดอื่นๆ เป็นต้น
คำถามที่ผู้ก่อตั้งเสื้อผ้าแบรนด์ “UNIQLO” คิดขึ้นก่อนจะเปิดบริษัทค้าปลีกเสื้อผ้า ทำให้เกิดวิสัยทัศน์ของ UNIQLO ที่ว่า “การจำหน่ายเสื้อผ้าคุณภาพดีซึ่งใส่ได้ทุกคน ทุกที่ ทุกเวลา ในราคาที่ถูกกว่าใครในตลาด และแสดงถึงรสนิยมทางแฟชั่นด้วย” ซึ่งได้ประสบความสำเร็จในวันนี้แล้ว
ทุกวันนี้ ผู้บริหารระดับสูง (CEO) จะต้องพยายามทำให้พนักงานทุกคนเข้าใจ “วิสัยทัศน์ขององค์กร” อย่างแท้จริง ในขณะเดียวกันก็จะต้องพยายามทำให้วิสัยทัศน์นั้นเป็นวิสัยทัศน์ของพนักงานทุกคนในองค์กรอีกด้วย เพื่อให้เป็น “วิสัยทัศน์ร่วม” ซึ่งไม่ใช่เป็นความฝันของผู้บริหารแต่เพียงคนเดียวเท่านั้น
นอกจาก “วิสัยทัศน์ขององค์กร” แล้ว เราทุกคนจะต้องมี “วิสัยทัศน์ส่วนบุคคล” เพื่อความก้าวหน้าที่ชัดเจนด้วยว่า อีก 3 ปี หรือ 5-10 ปีข้างหน้า เราจะมีตำแหน่งอะไร หรือเป็นอะไรที่ประสบความสำเร็จ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น (ไม่ว่าจะทำงานอะไร)
เช่น เราจะต้องเป็น “ผู้จัดการโรงงาน” ในอีก 10 ปีข้างหน้า
เราจะต้องเป็น “เถ้าแก่” หรือ “เจ้าของกิจการ” ในอีก 5 ปีข้างหน้า
เราจะต้องเป็นรองอธิบดี เราจะต้องเป็นอธิบดี ในปี พ.ศ.…..
เราจะต้องมีเงิน 10 ล้าน มีบ้านและมีครอบครัว ในอีก 5 ปีข้างหน้า เป็นต้น
และที่สำคัญยิ่งก็คือ เราจะต้องทำอย่างไรบ้างในวันนี้ จึงจะทำให้เราบรรลุเป้าหมายได้ภายในเวลาที่กำหนดไว้
ดังนั้น “วิสัยทัศน์ที่ชัดเจน” ทั้งของส่วนบุคคล และขององค์กร จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความสำเร็จหรือล้มเหลวขององค์กรหนึ่งๆ เพราะเป็นเหมือน “เป้าหมายร่วม” ที่ทั้งองค์กรและพนักงานจะต้องไปให้ถึงภายในกรอบเวลาที่กำหนดไว้ โดยปกติแล้ว เรามักจะเอา “วิสัยทัศน์องค์กร” เป็นตัวตั้ง แล้วปรับ “วิสัยทัศน์ส่วนตัว” ให้สอดรับและไปกันได้กับ “วิสัยทัศน์องค์กร”
ผู้นำจึงต้องพยายามสร้าง “วิสัยทัศน์ร่วม” (Shared Vision) เพื่อให้ผู้บริหารทุกระดับและพนักงานทุกคนในองค์กรได้ยึดมั่นเป็น “เป้าหมาย” หนึ่งเดียว เพื่อจะได้ ร่วมแรงร่วมใจกันทำงานให้บรรลุเป้าหมายขององค์กรได้อย่างแท้จริง ครับผม !