ดร.สิทธิพล ชี้ตลาดแรงงานกำลังเปลี่ยนไป แรงงาน/นักศึกษาไทยพร้อมหรือยัง
4 ปัจจัย ทำตลาดแรงงานทั่วโลกกำลังเปลี่ยนไป หลายอาชีพเป็นที่ต้องการมากขึ้น หลายอาชีพเป็นที่ต้องการลดลง ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวส่งผลต่อแรงงานทั้งที่อยู่ในระบบ หรือผู้ที่กำลังทำงานอยู่ และแรงงานในอนาคต หรือผู้ที่กำลังศึกษาเล่าเรียน
ปัจจุบันตลาดแรงงานทั่วโลกกำลังเปลี่ยนไป หลายอาชีพเป็นที่ต้องการมากขึ้น หลายอาชีพเป็นที่ต้องการลดลง ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวส่งผลต่อแรงงานทั้งที่อยู่ในระบบ หรือผู้ที่กำลังทำงานอยู่ และแรงงานในอนาคต หรือผู้ที่กำลังศึกษาเล่าเรียน
อาชีพ และความต้องการจ้างงานในปัจจุบันกำลังถูกเปลี่ยนแปลงจากอย่างน้อย 4 ปัจจัย ได้แก่
1)ผลกระทบของโควิด-19 ที่ทำให้รูปแบบการทำงานเปลี่ยนไป คนเข้าออฟฟิศน้อยลง ทำงานจากที่บ้านหรือนอกออฟฟิศมากขึ้น
2)เศรษฐกิจถดถอยจากผลกระทบของโควิด มีธุรกิจปิดตัวจำนวนมาก หลายธุรกิจลดต้นทุน คุมค่าใช้จ่าย มีการปลดคนงาน หรือจ้างงานลดลง
3)กระแสเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่กำลังเปลี่ยนโลก หรือ Technology Disruption ทั้งหุ่นยนต์ สมองกล ปัญญาประดิษฐ์ ที่เข้ามาทดแทนแรงงานมนุษย์ เทคโนโลยีเหล่านี้ทำงานหลายประเภทได้ดีกว่า มีประสิทธิภาพกว่า แถมต้นทุนต่ำกว่า
4)ปัจจัยทางสังคม เช่น การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของหลายประเทศ ทำให้จำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น ต้องการสินค้าและบริการใหม่ๆ ตลอดจนทัศนคติคนรุ่นใหม่ที่เปิดกว้างในการย้ายถิ่นฐานไปทำงานในต่างประเทศ ตลาดงานของคนรุ่นใหม่จึงไม่จำกัดแค่ในประเทศตัวเอง
เพื่อเห็นกระแสความเปลี่ยนแปลง ดูการจัดอันดับ 10 อาชีพที่ทั่วโลกกำลังต้องการจ้างงานเพิ่มขึ้นในทศวรรษนี้ ของ CNBC ที่ใช้ข้อมูลจาก Bureau of Labor Statistics พบว่า อันดับ 1 คือ ช่างเทคนิคหรือผู้เชี่ยวชาญด้านกังหันลม !! มีการประเมินว่าความต้องการจ้างงานมีแนวโน้มเพิ่มถึง 68.2% โดยมีค่าจ้างเฉลี่ยที่ 56,230 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 1.86 ล้านบาทต่อปี
อันดับ 2 พยาบาลวิชาชีพ คาดว่าความต้องการจ้างงานเพิ่มขึ้น 52.2% ค่าจ้างเฉลี่ยอยู่ที่ 111,680 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 3.69 ล้านบาทต่อปี
อันดับ 3 ช่างติดตั้ง ดูแลรักษาแผงโซล่าเซลล์ คาดว่าความต้องการจ้างงานเพิ่มขึ้น 52.1% ค่าจ้างเฉลี่ยอยู่ที่ 46,470 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 1.53 ล้านบาทต่อปี
อันดับ 4 นักสถิติ คาดว่าความต้องการจ้างงานเพิ่มขึ้น 35.4% ค่าจ้างเฉลี่ยอยู่ที่ 92,270 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 3.04 ล้านบาทต่อปี
อันดับ 5 ผู้ช่วยนักกายภาพบำบัด คาดว่าความต้องการจ้างงานเพิ่มขึ้น 35.4% ค่าจ้างเฉลี่ยอยู่ที่ 59,770 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 1.97 ล้านบาทต่อปี
อันดับ 6 นักวิเคราะห์ความปลอดภัยทางข้อมูล คาดว่าความต้องการจ้างงานเพิ่มขึ้น 33.3% ค่าจ้างเฉลี่ยอยู่ที่ 103,590 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 3.42 ล้านบาทต่อปี
อันดับ 7 ผู้ช่วยเหลือและดูแลสุขภาพที่บ้าน คาดว่าความต้องการจ้างงานเพิ่มขึ้น 32.6% ค่าจ้างเฉลี่ยอยู่ที่ 27,080 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 0.89 ล้านบาทต่อปี
อันดับ 8 ผู้จัดการ/ผู้บริหารสถานพยาบาล คาดว่าความต้องการจ้างงานเพิ่มขึ้น 32.5% ค่าจ้างเฉลี่ยอยู่ที่ 104,280 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 3.44 ล้านบาทต่อปี
อันดับ 9 นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล คาดว่าความต้องการจ้างงานเพิ่มขึ้น 31.4% ค่าจ้างเฉลี่ยอยู่ที่ 98,230 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 3.24 ล้านบาทต่อปี
อันดับ 10 ผู้ช่วยแพทย์ คาดว่าความต้องการจ้างงานเพิ่มขึ้น 31% ค่าจ้างเฉลี่ยอยู่ที่ 115,390 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 3.81 ล้านบาทต่อปี
(หมายเหตุ คำนวณ ณ อัตราแลกเปลี่ยนที่ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 33 บาท)
จากการจัดอันดับจะเห็นว่า อาชีพหรืองานที่เป็นที่ต้องการสูงใน 10 ปีข้างหน้า กระจุกอยู่แค่ 3 อุตสาหกรรม คือ พลังงานทดแทน ข้อมูล และสุขภาพ
สำหรับประเทศไทย ความเข้าใจเรื่องตลาดแรงงานที่เปลี่ยนไป สำคัญต่อบุคคลอย่างน้อย 3 กลุ่ม ในการเตรียมรับความท้าทายและโอกาส
1) นักเรียน นักศึกษา ในการเลือกเรียนสายอาชีพที่กำลังเป็นที่ต้องการ
2) สถาบันการศึกษา ในการผลิตแรงงานหรือฝึกทักษะให้แก่นักเรียน นักศึกษา ในสาขาอาชีพที่เป็นที่ต้องการ
3) แรงงานที่มีงานทำอยู่แล้ว ในการฝึกหรือพัฒนาทักษะใหม่ๆ เพื่อเข้าถึงอาชีพที่เป็นที่ต้องการ และรายได้ดีกว่าเดิ
อยากชวนทุกท่านร่วมกันคิดว่า ในยุคที่โลกและตลาดแรงงานกำลังเปลี่ยนไป แรงงานและนักศึกษาไทยพร้อมหรือยัง