จีนเป็นผู้นำ Patent ของโลก แล้วไทยล่ะ?
ไม่นานมานี้ หลายคนอาจจะได้ยินการรายงานข่าวของการที่ประเทศจีนได้กลายมาเป็นผู้นำของโลกในด้านสิทธิบัตร (Patent) ของเทคโนโลยี 6G ซึ่งคิดเป็น 40.4% ของ Patent ด้าน 6G ที่มีการยื่นจดในทั่วทุกมุมโลก
และได้ก้าวข้ามสหรัฐอเมริกา ที่ 35.2% และญี่ปุ่น ซึ่งยังตามหลังอยู่ที่ 9.9% และยุโรปทั้งทวีปที่ 8.9% และเกาหลีไต้ที่ 4.2%
ข้อมูลดังกล่าวมาจากการวิจัยของ Cyber Creative Institute ที่ญี่ปุ่น และแสดงให้เห็นถึงการพลิกตัวเองของประเทศจีน จากโรงงานที่ผลิตเทคโนโลยีตามคำสั่งของผู้อื่น (OEM) มาสู่การเป็นผู้คิดค้นและเจ้าของเทคโนโลยีที่มีความสลับซับซ้อน และยังได้นำหน้าสหรัฐไปอีกด้วย
ข้อมูลนี้ อาจสร้างความฮือฮาให้กับหลายคนที่เคยได้ยินเป็นครั้งแรก แต่ควรจะต้องคำนึงด้วยว่า ในด้านของปัญญาประดิษฐ์ (AI) ประเทศจีน ได้เป็นผู้นำของโลกมานานแล้ว ซึ่งล่าสุด คิดเป็น 74.4% ของ Patent ด้าน AI ที่มีการยื่นจดในทั่วทุกมุมโลก จากข้อมูลของChina Artificial Intelligence Development Report 2020
การเป็นผู้นำในด้าน Patent ย่อมหมายถึง การเป็นผู้นำในด้านเทคโนโลยี เพราะการที่จะจด Patent ได้ เทคโนโลยีดังกล่าวจะต้อง สร้างประโยชน์ มีความสลับซับซ้อน และ ไม่ซ้ำแบบใคร และการที่จด Patent ได้สำเร็จย่อมหมายความว่า ผู้อื่น จะไม่สามารถลอกเรียบแบบเทคโนโลยีดังกล่าวได้
ซึ่งประเทศที่จะจด Patent ได้เป็นจำนวนมาก ย่อมต้องหมายถึงความพร้อมในระบบนิเวศของการวิจัยและพัฒนา ซึ่งก็ต้องรวมไปถึง ความพร้อมของนักวิจัย ความพร้อมของสถาบันวิจัย ความพร้อมภาคอุตสาหกรรม ความพร้อมของเงินทุน และความพร้อมของภาครัฐ โดยส่วนใหญ่จะต้องมีการวางแผนและกำหนดเป้าหมายของประเทศล่วงหน้าเป็นเวลากว่าทศวรรษ เพราะสิ่งเหล่านี้ไม่สามารถเกิดขึ้นได้อย่างชั่วข้ามคืน
สำหรับประเทศไทยเอง Patent เป็นสิ่งที่ไกลตัวมากสำหรับคนทั่วไป และธุรกิจส่วนมาก ยังมุ่งเน้นการนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศ มากกว่าการคิดค้นเทคโนโลยีที่เป็นของตัวเอง และการจด Patent จำนวนไม่น้อยที่เกิดขึ้นในประเทศไทย เป็นการจดโดยธุรกิจข้ามชาติ เพื่อคุ้มครองการใช้เทคโนโลยีของต่างชาติในประเทศไทย
สิ่งที่หลายคนยังอาจไม่ทราบ คือความแข็งแกร่งของประเทศชั้นนำด้านเทคโนโลยีเหล่านี้ ไม่ได้ถูกวัดเพียงแค่ Patent ที่จดในประเทศตัวเอง แต่ยังคงวัด Patent ที่จดในประเทศอื่นด้วย เช่น ตัวอย่างของจีน ก็ต้องวัดด้วย Patent ด้าน 6G และ AI ที่นักวิจัยของจีน จดในประเทศจีน และในประเทศอื่น เช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ยุโรป หรือกระทั่งประเทศไทย
และในด้านของการแข่งขัน ต้องคำนึงด้วยว่า Patent ที่ธุรกิจข้ามชาติ หรือนักวิจัยของประเทศอื่น สามารถ จดได้สำเร็จได้ประเทศของเรา ต้องถือเป็นการเสียเปรียบ หรือขาดดุล
ข้อมูลจาก World Intellectual Property Organization ปรากฎว่า ในปี 2019 Patent ที่ยื่นจดในประเทศไทย เป็นของนักวิจัยไทยเอง 821 Patent และเป็นของนักวิจัยจากประเทศอื่น 7,351 Patent ซึ่งมากกว่าของนักวิจัยไทยเกือบ 10 เท่า ทั้งนี้เพื่อป้องกันคนไทยและธุรกิจของไทย จากการลอกเลียนแบบเทคโนโลยีของต่างชาติเหล่านี้
จึงพูดได้เลยว่า ในปัจจุบัน การปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาด้านสิทธิบัตรในประเทศไทย เป็นไปเพื่อประโยชน์ของชาวต่างชาติ มากกว่าคนไทย
ทั้งนี้ จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่า เช่นเดียวกับหลายเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีดิจิทัล เรื่อง Patent จะถูกยกระดับขึ้นมาเพื่อผลักดันและกำหนดเป้าหมายของประเทศในระยะยาว เพื่อการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นสืบต่อไป