โลกพลิกผันจากการบรรจบกันของอุตสาหกรรม

โลกพลิกผันจากการบรรจบกันของอุตสาหกรรม

ท่ามกลางความผันผวนของโลก ณ เวลานี้ หนึ่งในกระแสการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นมาระยะหนึ่งแล้วคือ การบรรจบและหลอมรวมกันของเทคโนโลยีและอุตสาหกรรม

ในช่วง 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมา ความก้าวหน้าและการพัฒนาอย่างพลิกผันของเทคโนโลยี กระแสโลกาภิวัตน์ด้านการค้าและการลงทุน รวมถึงกระแสนโยบายการลดกฎระเบียบ ทำให้โครงสร้างอุตสาหกรรมในธุรกิจหลายสาขาได้เปลี่ยนแปลงไป 
องค์ประกอบสำคัญของการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างดังกล่าว คือการบรรจบกันของอุตสาหกรรม (industry convergence) ที่แต่เดิมเคยเป็นธุรกิจคนละสาขาและคนละตลาดกัน แนวโน้มดังกล่าวทำให้นโยบายและยุทธศาสตร์ทั้งของบริษัทเอกชนและรัฐบาลที่เคยใช้มาแต่เดิมอาจใช้ไม่ได้อีกต่อไป
    การบรรจบกันของอุตสาหกรรมมีสาเหตุหลัก คือการพัฒนาเทคโนโลยีพื้นฐาน โดยเฉพาะการแพร่หลายของระบบดิจิทัลและการเชื่อมต่อทุกมิติ (hyper-connectivity) การผลิกผันของเทคโนโลยีทำให้เกิดเปิดช่องว่างหรือโอกาสสำหรับธุรกิจที่แต่เดิมแตกต่างกันสามารถบรรจบกันได้  
    อุตสาหกรรมแรกๆ ที่เกิดการบรรจบกันคือด้านการสื่อสาร สารสนเทศและสื่อ ซึ่งมีปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญคือการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล การบรรจบของอุตสาหกรรมในยุคแรกจึงใช้ในความหมายเดียวกับการบรรจบกันในเชิงเทคโนโลยีและเชิงดิจิทัล 
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าปัจจัยด้านเทคโนโลยีถือเป็นสาเหตุสำคัญของการบรรจบของอุตสาหกรรม แต่ก็มีปัจจัยอื่นที่ผลักดันให้เกิดการบรรจบดังกล่าว อาทิ การพัฒนามาตรฐานเทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์ การลดและผ่อนปรนกฎระเบียบ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงด้านความต้องการและพฤติกรรมของผู้บริโภค

การบรรจบของเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมมีผลโดยตรงต่อการแข่งขัน เนื่องจากทำให้เกิดความคลุมเครือระหว่างธุรกิจที่แต่เดิมเคยแบ่งแยกขอบเขตตลาดกันอย่างชัดเจน  และทำให้โครงสร้างและปัจจัยพื้นฐานแต่เดิมของอุตสาหกรรมต้องปรับเปลี่ยนและพลิกผันไป จึงอาจทำให้ความได้เปรียบในการแข่งขันของบางบริษัทลดลงไปได้

ในขณะเดียวกัน การบรรจบของอุตสาหกรรมก็สร้างโอกาสขึ้นใหม่โดยผู้ประกอบการหน้าใหม่ หรือขยายช่องทางธุรกิจใหม่โดยผู้ประกอบการเดิม บริษัทคู่แข่งอาจกลายมาเป็นพันธมิตรกัน ในขณะที่พันธมิตรแต่เดิมก็อาจกลายเป็นคู่แข่งกันได้ การบรรจบกันของอุตสาหกรรมจึงเปิดทั้งโอกาสและเป็นภัยคุกคามไปพร้อมกัน 
    การบรรจบกันของธุรกิจบางอย่างอาจมีมาก่อนหน้านี้แล้ว แต่การพัฒนาของเทคโนโลยีดิจิทัลและแพลตฟอร์มทำให้ธุรกิจนั้นแพร่ขยายได้เร็วและกว้างขวางมากขึ้นจนเกิดการบรรจบกันของอุตสาหกรรม 
เช่น  แต่เดิมบางร้านมีบริการรับสั่งสิ่งของและอาหารทางโทรศัพท์และจัดส่งทางมอเตอร์ไซค์โดยตรงจากร้าน แต่การพัฒนาแอปพลิเคชันบนมือถือทำให้บริษัทแพลตฟอร์มสามารถจัดส่งได้ทั้งคน สิ่งของและอาหารได้ภายใต้ระบบเดลิเวอรีเดียวกัน จนเมื่อธุรกิจขยายตัวมาก จึงเกิดการลงทุนร่วมกันในการสร้างครัวกลางหรือครัวที่ไม่มีหน้าร้าน (cloud/ghost kitchen) 
    อีกตัวอย่างหนึ่งคือธุรกิจการเปิดบ้านและห้องพักส่วนตัวให้กับนักท่องเที่ยวรายวันผ่านทางแพลตฟอร์มออนไลน์ แม้ว่าการปล่อยให้เช่าห้องพักไม่ใช่เรื่องใหม่ โดยบริการโฮมสเตย์และบริการที่พักพร้อมอาหารเช้า (Bed & Breakfast) ก็มีมานานแล้ว แต่ในช่วงหลังได้มีการพัฒนาแบบก้าวกระโดด จนทำให้เกิดการบรรจบกันของธุรกิจโรงแรมกับธุรกิจการพัฒนาที่อยู่อาศัย โครงการพัฒนาคอนโดมิเนียมบางแห่งถึงกับคาดประมาณจำนวนผู้ซื้อที่มุ่งปล่อยเช่าห้องพักให้กับนักท่องเที่ยวบนแพลตฟอร์มไว้ตั้งแต่ต้น เป็นต้น
การบรรจบกันของอุตสาหกรรมในเวลานี้เกิดขึ้นแล้วในแทบทุกสาขาธุรกิจ 

ตัวอย่างเช่น การบรรจบกันระหว่างธุรกิจโทรคมนาคมกับการบันเทิง ดังในกรณีของบริษัทเครือข่ายโทรศัพท์มือถือที่ลงทุนและซื้อกิจการในธุรกิจการบันเทิงออนไลน์ ในกลุ่มเทคโนโลยีการเกษตรกับกลุ่มเทคโนโลยีการเงิน ก็มีการพัฒนาระบบประกันความเสี่ยงที่ใช้ประโยชน์จากข้อมูลการเงินและเครดิตของเกษตรกร และแพลตฟอร์มการซื้อขายและจ่ายเงินที่เชื่อมต่อเกษตรกรกับผู้บริโภคโดยตรง ในลักษณะคล้ายกัน ธุรกิจการดูแลสุขภาพก็เริ่มบรรจบกับกลุ่มการเงิน โดยใช้ข้อมูลสุขภาพรายบุคคลที่เก็บอยู่ตลอดเวลาโดยโทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์ที่สวมใส่ตลอดเวลา (wearables) ในการวิเคราะห์ความเสี่ยงด้านการเงินและความเสี่ยงด้านสุขภาพกายและสุขภาพจิตไปพร้อมกัน เป็นต้น
    ในบริบทของโลกปัจจุบันที่มีความผันผวน ความไม่แน่นอน ความซับซ้อน และความคลุมเครือในระดับสูง การบรรจบกันของอุตสาหกรรมมีนัยสำคัญอย่างยิ่งต่อการดำเนินธุรกิจของภาคเอกชนในยุคปัจจุบัน องค์กรจึงต้องคอยปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ กลยุทธ์และกระบวนการทำงานให้มีความยืดหยุ่นและคล่องตัวมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องพยายามหลีกเลี่ยงกรอบความคิดและขั้นตอนทำงานแบบเส้นตรงและแยกส่วน อีกทั้งยังต้องปรับแนวคิดการวางแผนจากแบบเดิมที่เน้นการวางเป้าหมายใหญ่ที่ต้องใช้ความพยายามอย่างมากและระยะเวลานานกว่าจะบรรลุเป้าหมาย ซึ่งอาจล้าสมัยและไม่เหมาะสมกับบริบทและเงื่อนไขที่เปลี่ยนไปแล้วก็ได้
    ด้วยเหตุผลดังกล่าว แนวคิดการทำงานแบบอไจล์ (agile) จึงได้รับความนิยมมากขึ้นในองค์กรภาคเอกชน โดยเน้นการสื่อสารกลับไปกลับมาอย่างสม่ำเสมอระหว่างสมาชิกในทีม และการเปลี่ยนกระบวนการผลิตสินค้าและบริการให้ยืดหยุ่นมากยิ่งขึ้น กระบวนการวางแผนและการทำงานก็เน้นเป้าหมายและขอบเขตงานให้แคบลง และดำเนินการไปพร้อมกับการประเมินอย่างต่อเนื่องว่าบรรลุผลมากน้อยเท่าใด ก่อนจะดำเนินงานในขั้นตอนไป แนวทางแบบอไจล์จึงเป็นการทำงานแบบกลับไปกลับมา และมีการป้อนข้อมูลย้อนกลับมาอย่างสม่ำเสมอ
    การบรรจบกันของอุตสาหกรรมก็มีนัยสำคัญอย่างยิ่งสำหรับนโยบายสาธารณะ ไม่เพียงเฉพาะจากมุมมองของการสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมให้ปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว แต่รวมไปถึงการปรับปรุงกฎระเบียบและสถาบันกำกับต่างๆ ให้เหมาะสมอย่างทันท่วงที ตัวอย่างเช่น การปรับปรุงกฎหมายโรงแรมและกฎหมายควบคุมอาคารเพื่อทั้งรองรับและควบคุมการปล่อยเช่าห้องพักรายวันให้กับนักท่องเที่ยว การปรับปรุงกฎหมายรถยนต์และกฎหมายการขนส่งสาธารณะที่จัดการปัญหาที่เกิดจากการใช้แอปพลิเคชันเรียกรถ เป็นต้น 
    กล่าวได้ว่า การบรรจบกันของอุตสาหกรรมทำให้ต้องมีการบรรจบกันของกฎระเบียบ (regulatory convergence) ที่แต่เดิมเคยอยู่แยกกัน เพื่อคว้าประโยชน์จากศักยภาพของอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นใหม่ พร้อมกับป้องกันและบรรเทาปัญหาที่เกิดขึ้นจากการบรรจบกันของอุตสาหกรรมต่อธุรกิจและประชาชนทั่วไป 
    กฎระเบียบจะปรับเปลี่ยนได้อย่างรวดเร็วและทันท่วงทีกับการบรรจบของอุตสาหกรรมหรือไม่นั้น ก็ขึ้นอยู่กับวิสัยทัศน์และความสามารถของหน่วยงานภาครัฐ คำถามคือ หน่วยงานภาครัฐไทยที่มักทำงานแบบแยกส่วนกันนั้น ได้ปรับตัวและเตรียมพร้อมรับมือแล้วหรือยังกับการบรรจบกันของอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว.