ผลกระทบจากปัญหาหนี้สินของบริษัท Evergrande
หลายคนคงจะได้อ่านข่าวเกี่ยวกับปัญหาหนี้สิน และการไม่สามารถคืนหนี้ของบริษัท Evergrande ของจีนอย่างกว้างขวางแล้ว
บทความนี้ ผมจึงจะไม่ขอเขียนถึงภูมิหลังและข้อมูลรายละเอียดต่างๆ ซึ่งคงจะได้อ่านกันมามากแล้ว แต่ขอมีข้อสังเกตดังนี้
1.เนื่องจากเป็นปัญหาขนาดใหญ่ (หนี้สินรวม 300,000 ล้านเหรียญสหรัฐ) ดังนั้นจึงจะแก้ไขให้เบ็ดเสร็จอย่างรวดเร็วไม่ได้ แม้ว่ารัฐบาลจีนจะมีอำนาจเต็มและรู้ว่าการดำเนินการที่ล่าช้าอาจทำให้ปัญหาขยายตัวออกไปในวงกว้าง โดยเฉพาะปัญหาเกี่ยวกับสภาพคล่องของอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง เพราะ Evergrande มีขนาดใหญ่เป็นที่ 2 ของประเทศและมีธุรกิจ/โครงการกระจายไปหลายร้อยแห่งประเทศจีน
2.ธนาคารกลางได้อัดสภาพคล่องเพิ่มขึ้นในระบบและสั่งการให้บริษัทรีบเร่งขายธุรกิจที่ไม่ใช่ธุรกิจหลักเพื่อช่วยรักษาสภาพคล่องในบริษัท นอกจากนั้นก็กำลังเจรจายืดหนี้และชะลอการคืนหนี้กับลูกค้ารายใหญ่ ซึ่งตรงนี้จะต้องดูว่าจะประสบความสำเร็จมากน้อยเพียงใด
3.ผมไม่เชื่อว่ารัฐบาลมองว่า Evergrande เป็นบริษัท “สำคัญ ล้มไม่ได้” (too big to fail) แต่ก็คงยอมรับประเด็นที่มีความอ่อนไหวคือการเป็นบริษัทที่อาจมีผลประโยชน์/ลงทุนร่วมกับองค์กรท้องถิ่นหลายแห่ง แต่ผมเชื่อว่ารัฐบาลกลางจะปกป้องผู้ซื้อบ้านรายย่อยและพยายามช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยที่เป็นผู้ที่ขายวัตถุดิบและขายบริการให้กับบริษัท Evergrande อย่างดีที่สุด
4.สำหรับธนาคารขนาดใหญ่ที่เป็นเจ้าหนี้เอง Evergrande นั้นผมเชื่อว่ารัฐบาลได้เคยสั่งการก่อนหน้ามาเป็นปีแล้วว่าไม่ควรปล่อยกู้ให้มากเกินควร โดยได้เคยกำหนด “เส้นแดง 3 เส้น” บังคับให้บริษัทในภาคอสังหาริมทรัพย์ควบคุมสัดส่วนหนี้สินต่อสินทรัพย์ไม่ให้เกิน 70% สัดส่วนของหนี้สินสุทธิต่อทุนไม่ให้เกิน 100% และปริมาณเงินสดของบริษัทจะต้องมีอย่างน้อยเท่ากับหนี้ระยะสั้น ทั้งนี้หากละเมิด “เส้นแดง” ดังกล่าว ก็จะห้ามไม่ให้กู้เงินสร้างหนี้เพิ่มได้ (และหากไม่ละเมิดทั้ง 3 เส้นแดง ก็สร้างหนี้เพิ่มได้ไม่เกินปีละ 15%) หากล้ำเส้นแดงหนึ่งเส้น ก็จะกู้สินเชื่อเพิ่มได้เพียง 10% เป็นต้น
5.ดังนั้นผมจึงเชื่อว่ากลุ่มนักลงทุนที่จะต้องรับความเสียหายมากที่สุดน่าจะเป็นนักลงทุนต่างชาติที่ลงทุนในตราสารหนี้ของ Evergrande และผู้ที่ถือหุ้น Evergrande ซึ่งตลาดก็ได้คาดการณ์ไปในทิศทางดังกล่าว โดยเฉพาะราคาหุ้น Evergrande ปรับตัวลดลงไปแล้วกว่า 80%
สำหรับภาคอสังหาริมทรัพย์นั้นน่าจะกำลังได้รับผลกระทบจากแนวนโยบายของรัฐบาลจีนที่ต้องการควบคุมการปรับขึ้นของราคาบ้านที่อยู่อาศัยที่รัฐบาลตำหนิว่ากำลังมีการปั่นราคาเก็งกำไรกันอย่างกว้างขวาง ทำให้ชนชั้นกลางไม่สามารถหาเงินมาซื้อบ้านเพื่ออยู่อาศัยได้ ประเด็นคือนโยบายควบคุมภาคอสังหาริมทรัพย์อย่างเข้มข้นของรัฐบาลจีนนั้นน่าจะได้รับการสนับสนุนจากประชาชนส่วนใหญ่อย่างกว้างขวาง
ผมคิดว่าประเด็นสำคัญที่หลายคนอาจจะยังมองภาพไม่เห็น แต่น่าจะเป็นสิ่งที่ปรากฏให้เห็นเป็นประจักษ์เมื่อเวลาผ่านไปอีกระยะหนึ่งคือการเปลี่ยนแปลงของนโยบายพื้นฐานของรัฐบาลจีนที่ต้องการให้พรรคคอมมิวนิสต์จีนมีอำนาจและบทบาทที่ชัดเจนและเป็นหนึ่งในการกำหนดทิศทางของเศรษฐกิจจีนได้ตามใจชอบและมีอำนาจควบคุมและกำหนดพัฒนาการของบริษัทขนาดใหญ่และภาคเอกชนของจีนไปตามแนวที่รัฐบาลจีนเห็นว่าสร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจและลดทอนความเหลื่อมล้ำดังที่ผมได้เคยเขียนถึงเกี่ยวกับความสำคัญสูงสุดที่ประธานาธิบดี สี จิ้น ผิง กำลังให้กับการขับเคลื่อนนโยบาย “ความมั่งคั่งอย่างถ้วนหน้า” หรือ Common Prosperity
บทวิเคราะห์ในเชิงลึกที่น่าสนใจเกี่ยวกับการปฏิรูประบบเศรษฐกิจของจีน เพื่อลดบทบาทของตลาดเสรีและเพิ่มบทบาทการชี้นำของพรรคคอมมิวนิสต์จีนนั้นสามารถหาอ่านได้จากหนังสือพิมพ์ Wall Street Journal เรื่อง “Xi Jinping aims to rein in Chinese Capitalism, new to Mao’s socialist vision” ตีพิมพ์เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2021 โดยมีข้อความที่น่าสนใจที่ผมขอคัดมานำเสนอดังนี้
“In Mr. Xi’s opinion, private capital now has been allowed to run amok, menacing the party’s legitimacy, … Mr. Xi is trying forcefully to get China back to the vision of Mao Zedong, who saw capitalism as a transitory phase on the road to socialism.”
“Mr. Xi is not planning to eradicate market forces but he wants a state in which the party does more to steer flows of money, sets tighter parameters for entrepreneurs and investors and their ability to make profits, and exercises even more control over the economy than now.”
กล่าวโดยสรุปคือ รัฐบาลจีนกำลังปรับเปลี่ยนนโยบายเศรษฐกิจของประเทศแบบถอนรากถอนโคนนโยบายเปิดเสรีที่ได้เริ่มขึ้นเมื่อ 20 ปีก่อน โดยผมเชื่อว่าในอีก 50 ปีข้างหน้าทุนนิยมและกลไกตลาดเสรีจะเป็นช้างเท้าหลังและพรรคคอมมิวนิสต์จะเป็นช้างเท้าหน้าในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจครับ.