“Evergrande is No Lehman” ความเหมือนที่แตกต่าง
ช่วงที่ผ่านมาคงปฏิเสธไม่ได้ว่าวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นกับ Evergrande Group บริษัทอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ของจีน เป็นประเด็นสำคัญที่สุดที่ตลาดและนักลงทุนต่างจับตามอง ซึ่งความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากการดำเนินการที่ผิดพลาดอาจส่งผลกระทบอย่างมากต่อเศรษฐกิจและตลาดการเงินของจีน รวมถึงอาจส่งผลกระทบไปทั่วโลก
บทวิเคราะห์จาก Bloomberg Intelligence มองว่า วิกฤตการณ์ในครั้งนี้ไม่เหมือนกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับ Lehman Brothers สถาบันการเงินยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ ที่ล้มละลายในอดีตและส่งผลกระทบรุนแรงต่อตลาดการเงินทั่วโลก
Evergrande คือใคร ทำไมการผิดนัดชำระหนี้ในครั้งนี้ ถึงสร้างแรงกระเพื่อมต่อตลาด
บริษัท Evergrande เป็นบริษัทผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของประเทศจีน ครอบครองอสังหาริมทรัพย์กว่า 1,300 แห่งในกว่า 280 เมืองทั่วประเทศ นอกจากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์แล้ว Evergrande ยังให้บริการตั้งแต่ Wealth Management ไปจนถึงการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า เครื่องดื่มและอาหาร รวมถึงเป็นเจ้าของสโมสรฟุตบอล Guangzhou F.C. ที่รู้จักกันในนาม Guangzhou Evergrande อีกด้วย การขยายธุรกิจของบริษัทอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมาเพื่อเป้าหมายก้าวขึ้นเป็นบริษัทที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ ส่งผลให้ Evergrande ต้องกู้ยืมเป็นจำนวนมากกว่า 1.97 ล้านล้านหยวน
จากมาตรการควบคุมจำนวนอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกครอบครองโดยบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อควบคุมตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่ร้อนแรงที่รัฐบาลจีนได้บังคับใช้ในปี 2020 บริษัท Evergrande จำเป็นต้องขายอสังหาริมทรัพย์ที่บริษัทถือครองในราคาขาดทุน ส่งผลให้ปัจจุบันสัดส่วนหนี้ต่อทรัพย์สินของบริษัทเพิ่มขึ้นอย่างมาก และในขณะที่วันกำหนดชำระหนี้ของบริษัทใกล้เข้ามาแล้วมีความเสี่ยงว่าบริษัทอาจไม่สามารถชำระหนี้ได้
Evergrande VS Lehman
วิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นกับ Evergrande ในครั้งนี้ได้ถูกนำไปเปรียบเทียบกับวิกฤตการณ์ในปี 2008 ที่ Lehman Brothers ธนาคารยักษ์ใหญ่ของโลกประกาศล้มละลาย ส่งผลกระทบต่อระบบการเงินของสหรัฐฯ และส่งผลกระทบเป็นวงกว้างนำไปสู่วิกฤตการณ์ทางการเงินปี 2008 หรือ Hamburger Crisis
อย่างไรก็ตามหากเปรียบเทียบระหว่าง Evergrande และ Lehman สิ่งที่สำคัญที่สุดที่ทำให้ทั้งสองบริษัทแตกต่างกัน คือความซับซ้อนและความเกี่ยวข้องต่อระบบการเงินของประเทศ โดย
- Lehman มีความเกี่ยวข้องอย่างมากต่อระบบการเงินของสหรัฐฯ และมีสัดส่วน Credit Derivatives ในอัตราที่สูง โดยการขาดความโปร่งใสของตลาดส่งผลให้ ณ ขณะนั้นคิดเป็นมูลค่าสูงถึง $60 ล้านล้าน หรือสี่เท่าของ GDP สหรัฐฯ ในขณะนั้น
- นอกจากงบการเงินของ Evergrande จะไม่ซับซ้อนแล้ว อัตราส่วน Derivatives เมื่อเทียบกับ Lehman ถือว่าอยู่ในระดับต่ำ
โดยอัตราส่วนหนี้ของ Evergrande เป็นดังนี้
- จำนวนหนี้ทั้งหมดของบริษัท (รวมเงินกู้ พันธบัตร และ Trusts) คิดเป็น 20 ล้านล้านหยวน ณ เดือน มิ.ย. 2021 คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 2% ของ GDP จีน
- บริษัทเป็นลูกหนี้ธนาคารกว่า 171 แห่งในประเทศและสถาบันการเงินกว่า 121 แห่ง
Evergrande VS Lehman
ที่มา: Bloomberg
มุมมองต่อวิกฤตการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้น
เศรษฐกิจจีนในช่วงที่ผ่านมานอกจากจะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาด ยังได้รับแรงกดดันจากการเจรจาการค้าที่อาจยืดเยื้อในอนาคต ดังนั้นมองว่าหากสถานการณ์ของบริษัท Evergrande ยังคงรุนแรง รัฐบาลจีนจะมีมาตรการออกมาเพื่อช่วยเหลือและไม่ให้สถานการณ์ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อเศรษฐกิจ โดยในสัปดาห์ที่ผ่านมาธนาคารกลางจีน (PBOC) ได้ประกาศเพิ่มสภาพคล่องในตลาดกว่า 9 หมื่นล้านหยวน เข้าสู่ระบบการเงินผ่านการทำธุรกรรมในตลาดซื้อคืนพันธบัตร
เห็นได้ว่าถึงแม้ตลาดจะมีความผันผวนจากแรงกดดันในประเด็นต่างๆ แต่เราเชื่อว่าอย่างไรรัฐบาลจีนจะเข้ามาช่วยดูแล และออกมาตรการเพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจและระบบการเงินในอนาคต เพื่อไม่ให้เป็นการซ้ำรอยวิกฤติที่เคยเกิดขึ้นกับ Lehman Brothers อย่างแน่นอน
ที่มา: TISCOASSET, Bloomberg Intelligence
ข้อมูล บทความ บทวิเคราะห์และการคาดหมาย รวมทั้งการแสดงความคิดเห็นทั้งหลายที่ปรากฏอยู่ในรายงานฉบับนี้ทำขึ้นบนพื้นฐานของแหล่งข้อมูลที่ดีที่สุดที่ได้รับมาและพิจารณาแล้วเห็นว่า น่าเชื่อถือ แต่ทั้งนี้ไม่อาจรับรองความถูกต้อง ความสมบูรณ์ แท้จริงของข้อมูลดังกล่าว ความเห็นที่แสดงไว้ในรายงานฉบับนี้ได้มาจากการพิจารณาโดยเหมาะสมและรอบคอบแล้ว และอาจเปลี่ยนแปลงได้โดยไม่จำเป็นต้องแจ้งล่วงหน้าแต่อย่างใด บทความ บทวิเคราะห์ และการคาดหมายทั้งหลายที่ปรากฏ อยู่ในรายงานฉบับนี้เป็นการนำไปใช้โดยผู้ใช้ยอมรับความเสี่ยงและเป็นดุลยพินิจของผู้ใช้แต่เพียงผู้เดียว
ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ บลจ.ทิสโก้ หรือ TISCO Contact Center โทร. 0 2633 6000 กด 4, 0 2080 6000 กด 4 และ www.tiscoasset.com หรือ แอปพลิเคชัน TISCO My Funds