ก้าวใหม่ของ "ภาครัฐ" ไทยในโลกอนาคต

ก้าวใหม่ของ "ภาครัฐ" ไทยในโลกอนาคต

วิกฤติที่หนักหน่วงของโควิด-19 ครั้งนี้ ทำให้เห็นถึงความสำคัญของการบริหารจัดการ โดยเฉพาะในสถานการณ์วิกฤติ ประเทศไทยต้องเผชิญกับวิกฤติด้านสุขภาพและวิกฤติด้านเศรษฐกิจ

อันที่จริงทุกประเทศทั่วโลกก็ล้วนต้องเผชิญกับวิกฤติครั้งนี้ หากแต่ว่าประเทศที่รวยหน่อย มีเงินสำรองมากหน่อยคงไม่ลำบากใจนักในการตัดสินใจปิดเมือง ปิดประเทศเพื่อกักตัวเพื่อหยุดเชื้อแบบยาวนาน  แต่สำหรับอีกหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทยการตัดสินใจเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งนั้นไม่ง่าย ความเป็นจริงต้องประคับประคองสถานการณ์ ต้องตอบโจทย์บริบทพื้นที่ที่ต่างกัน  ประคับประคองช่วยเหลือเยียวยากลุ่มคนต่างๆ  

โลกอนาคตที่ผันผวน ไม่แน่นอนเป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้น เพียงแต่วิกฤตการณ์โควิด-19 เป็นตัวเร่งที่ทำให้เห็นภาพของปัญหาเชิงโครงสร้างและการบริหารจัดการแจ่มชัดขึ้น รวมถึงเห็นถึงโอกาสที่เกิดขึ้น เห็นพลังจากความร่วมมือของประชาชนภาคส่วนต่างๆ ในการแก้ไขปัญหา  

อย่างไรก็ตาม เมื่อโควิด-19 จากลาไปความท้าทายใหม่ๆ ก็ยังรออยู่ข้างหน้า  ความท้าทายของโลกอนาคตต่างๆ ที่ใครหลายคนมองว่า อีกนาน ยังไม่เกิด ยังไม่เปลี่ยนยังไม่แก้วันนี้ก็ไม่เป็นไรนั้น อาจไม่เป็นเช่นนั้น  อนาคตไม่ได้ไกลอย่างที่คิด ความท้าทายแห่งอนาคตพร้อมปะทุขึ้น  นอกจากนี้ความท้าทายเหล่านี้จะส่งผลกระทบอย่างถ้วนทั่วกับทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน 

สำหรับภาครัฐเป็นองค์กรที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ โดยมีกำลังคนกว่า 2 ล้านคน  ความท้าทายที่เกิดขึ้นและส่งกระทบต่อภาครัฐนั้นจึงย่อมมีผลกระทบสูงทั้งต่อภาครัฐเองโดยตรง และต่อภาคประชาชนและภาคส่วนต่างๆทั้งประเทศ   การปรับเปลี่ยนก้าวเดินของภาครัฐที่สามารถขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้าร่วมกับภาคส่วนอื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพจึงมีความสำคัญ

โลกในอนาคตโลกกำลังปรับตัวกับวิถีใหม่ หรือ new normal  วิถีชีวิต วิธีในการทำธุรกิจจะเปลี่ยนไป การจัดสรรทรัพยากรจะเปลี่ยนแปลง ภาครัฐเองก็จำเป็นต้องถือช่วงเวลานี้เป็นช่วงของการเปลี่ยนแปลง ภาครัฐจะไม่สามารถใช้ทรัพยากรได้มากแบบเดิม แล้วก็ต้องระมัดระวังเพื่อไม่ให้ภาครัฐใช้ทรัพยากรจนเกินควร  ระดับหนี้สาธารณะจะเป็นข้อจำกัดของการทำนโยบายต่างๆ  

ภาครัฐเองจำเป็นต้องปรับเปลี่ยน ทั้งในด้านนโยบาย ด้านการกำกับดูแล  ด้านการบริการ

ประการแรก นโยบายภาครัฐต้องปรับเปลี่ยนเป็นนโยบายบนฐานของข้อมูล (Data-Driven Policy)  ให้มากขึ้น เพราะข้อมูลคือสินทรัพย์ที่สำคัญที่จะช่วยให้เกิดการตัดสินใจที่ดี หากไม่มีข้อมูลก็เหมือนถูกปิดตาเอาไว้  การออกแบบนโยบายจำเป็นต้องใช้ข้อมูล นโยบายต้องมาจากฐานของข้อมูล เพื่อใช้ในการพัฒนาคุณภาพชีวิต และยกระดับศักยภาพของประเทศได้อย่างแท้จริง

 จากนี้ไปนโยบายภาครัฐต้องเปลี่ยนไปคิดบนฐานความเข้าอกเข้าใจประชาชน (Empathy-Based Policy)  รวมถึงมีนโยบายเชิงรุก นโยบายที่มองไปข้างหน้าไม่ใช่ไล่ตามแก้ปัญหา   เราจำเป็นต้องมองภาพอนาคต เพื่อเตรียมความพร้อมรับกับทุกสถานการณ์ สามารถปรับเปลี่ยนนโยบายได้อย่างคล่องตัว ทันกับสถานการณ์และตอบโจทย์พื้นที่ ตอบโจทย์ความต้องการหรือแก้ปัญหาความทุกข์ร้อนของประชาชนที่หลากหลายได้อย่างตรงจุด
 

ประการที่สอง กำกับดูแลเท่าที่จำเป็น กำกับดูแลน้อยแต่มีประสิทธิภาพ  การมีกฎหมาย กฎระเบียบที่มากมายทำให้เกิดต้นทุน ทั้งด้านต้นทุนการประกอบธุรกิจ ต้นทุนทางด้านเวลา ต้นทุนค่าเสียโอกาส  อย่างไรก็ตาม ในช่วงของวิกฤตโควิด-19 ก็ทำให้เราเห็นว่า กฎหมายกฎระเบียบที่มีจำนวนมากมายมหาศาลกลับไม่ได้สามารถเท่าทันกับสิ่งใหม่ๆที่เกิดขึ้น  

ดังนั้น การทบทวนออกแบบกระบวนการบริหารจัดการภายใต้สถานการณ์วิกฤติ รวมไปถึงการกำกับดูแลในธุรกิจบริการที่ยังไม่เคยมีกฎเกณฑ์มาก่อนนั้นจึงเป็นสิ่งที่ต้องร่วมกันคิด ร่วมกันหาทางกำหนดและออกแบบกันใหม่ เพราะหลังจากนี้ ไม่ว่าจะวงการใด  ก็อาจเกิดการพลิกโฉมฉับพลัน    

ประการที่สาม บริการภาครัฐต้องปรับโฉม หลายประเทศทั่วโลกต่างประสบปัญหาเรื่อง การให้บริการภาครัฐที่มีการทำงานเป็นแท่งหรือเป็นไซโล  ระบบราชการที่ทำงานเป็นไซโลเช่นนี้ในหลายประเทศจึงส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้รับบริการ เกิดปัญหาการให้บริการที่กระจัดกระจาย แยกส่วน ภาครัฐยุคใหม่ต้องมีขนาดเล็ก มีประสิทธิภาพ ยืดหยุ่น คล่องตัว โปร่งใส เปิดกว้าง เปิดพื้นที่การมีส่วนร่วม  

แนวคิดในการปรับปรุงบริการภาครัฐ จึงต้องพลิกโฉมการให้บริการภาครัฐ โดยเน้นหนักในเรื่องการสร้างการมีส่วนร่วมของพันธมิตร และผสมผสานแนวความคิดการลงทุนร่วมกันระหว่างภาครัฐและประชาชนเข้ามาประยุกต์ใช้   ภาครัฐไม่ได้เป็นผู้ให้แต่ฝ่ายเดียวอีกต่อไป หากแต่ประชาชนต้องร่วมเปลี่ยนแปลงด้วย   การสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนเชิงรุก (Active Engagement) มีความสำคัญ  

ในวิถีชีวิตใหม่ คนเราต้องเปลี่ยนทั้งการกินอยู่หลับนอน  การฟังพูดอ่านเขียน การทำงานการใช้ชีวิตจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ประเทศไทย และภาครัฐไทยเองก็ต้องปรับเปลี่ยนเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการคิด การพูด การทำ   เพราะโลกหมุนไป โลกหมุนไว ทุกอย่างต้องก้าวไปข้างหน้า ก้าวใหม่ของภาครัฐไทย ก้าวที่ต้องใหญ่และเร็วกว่าเดิม.