8.แนวโน้มการกระจายอำนาจของไทย
เป็นเรื่องน่ายินดีนะคะว่าอีกไม่นานก็จะมีการเลือกตั้งรัฐบาลท้องถิ่นแล้ว การกระจายอำนาจนับเป็นหนึ่งในกระแสหลักของการบริหารจัดการภาครัฐในนานาประเทศทั่วโลก
การกระจายอำนาจคือ การแบ่งส่วนหนึ่งของอำนาจจากศูนย์กลางไปให้รัฐบาลท้องถิ่นมีอำนาจในการจัดการดูแล แบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ ส่วนแรกเป็นการกระจายอำนาจด้านการเมืองและการปกครอง ส่วนที่ 2 คือการกระจายอำนาจด้านการคลัง ให้รัฐบาลท้องถิ่นมีส่วนแบ่งรายได้ที่เหมาะสม สามารถมีส่วนร่วมในการจัดหาและจัดการรายได้ได้เอง เพื่อให้สามารถจัดการบริการสาธารณะได้อย่างเต็มศักยภาพ
วัตถุประสงค์ของการกระจายอำนาจก็คือ ทำให้รัฐสามารถให้บริการประชาชนได้อย่างเต็มที่ ยืดหยุ่นและสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนซึ่งมีความแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ และยกระดับคุณภาพชีวิตได้อย่างทั่วถึง
องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ของไทย มีจำนวน 7,850 แห่งดูแลพื้นที่เกือบทุกตารางนิ้วในประเทศไทยยกเว้นในเขตอนุรักษ์และดูแลคนไทยทุกคนในประเทศให้มีความเป็นอยู่ที่ดี มีชีวิตประจำวันภายใต้สุขอนามัยและสิ่งแวดล้อมที่ดี และสามารถทำมาหากินภายใต้กติกาที่เป็นธรรม
ศ. ดร.ดิเรก ปัทมสิริวัฒน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการกระจายอำนาจของไทยระบุในเอกสารเชิงนโยบายเรื่องการกระจายอำนาจว่า นโยบายกระจายอำนาจของไทยที่ผ่านมาเรียกได้ว่า “ไม่คงเส้นคงวา” เพราะได้รับผลกระทบจากรัฐประหารทั้ง 2 ครั้งในปี 2549 และปี 2557 โดยในครั้งหลังนี้การกระจายอำนาจถดถอยอย่างชัดเจน เพราะไม่มีการเลือกตั้งผู้บริหารและสภาท้องถิ่นทุกประเภทมาตั้งแต่ปี 2557- 2563 และยังแต่งตั้งคนนอกหรือข้าราชการเข้ามาทำหน้าที่บริหาร
การที่ผู้บริหาร อปท. ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งและส่วนใหญ่เป็นข้าราชการมาก่อน ทำให้ไม่มีความผูกพันกับประชาชนในพื้นที่ ขัดต่อหลักการประชาธิปไตยท้องถิ่น (ศุภสวัสดิ์ ชัชวาล, 2563) และในช่วงนี้อัตราการขยายตัวของรายได้ท้องถิ่นต่ำกว่าอัตราขยายตัวก่อนหน้านั้นอย่างชัดเจน (ดิเรก ปัทมสิริวัฒน์, 2564)
การกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่นมีปัญหาและอุปสรรคหลายประการ ได้แก่
1) กระจายภาระความรับผิดชอบ แต่ไม่ได้จัดสรรงบประมาณและอำนาจที่สอดคล้องกันให้ไปด้วย
2) กฎระเบียบข้อบังคับจากส่วนกลางไม่เอื้อต่อการออกข้อบัญญัติของท้องถิ่นให้สอดคล้องกับความต้องการและความจำเป็นของพื้นที่ที่มีความหลากหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตพื้นที่อนุรักษ์ กฎหมาย ระเบียบข้อบังคับของส่วนกลางสร้างกรอบที่เข้มงวดทำให้ขาดแรงจูงใจให้เกิดนวัตกรรมเชิงบริหาร เพราะเกรงว่าจะผิดระเบียบและข้อบังคับของกระทรวงมหาดไทย
ด้วยข้อจำกัดเหล่านี้และการจัดสรรอำนาจไม่ลงตัว อปท. จึงยังไม่สามารถจัดการได้อย่างเต็มศักยภาพ (มิ่งสรรพ์ ขาวสอาดและคณะ, 2555) การถ่ายโอนยังไม่บรรลุเป้าหมาย 265 ภารกิจ เนื่องจากหน่วยราชการส่วนกลางไม่ประสงค์จะถ่ายโอนหรือถ่ายโอนได้ต่ำกว่าเป้าหมาย เนื่องจากส่วนกลางจะเป็นฝ่ายเลือกก่อน จึงคาดคะเนได้ว่าจะเลือกโอนหน่วยงานที่ไม่มีที่ไป ไม่ต้องการจะทำหรือมีปัญหามากที่สุดไปให้กับ อปท. ในขณะเดียวกัน อปท. จำนวนหนึ่งก็ไม่พร้อมที่จะรับถ่ายโอนภารกิจ
การกระจายอำนาจทางการคลังของไทยยังห่างไกลจากความเป็นธรรม ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ได้กำหนดสัดส่วนของรายได้ที่ อปท. จะต้องได้คือร้อยละ 35 ของงบประมาณทั้งหมด และจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปี 2549 แต่ไม่สามารถดำเนินการได้ตามที่กำหนด จึงต้องแก้ไขกฎหมายโดยไม่ระบุกรอบเวลา
ในปี 2563 รายได้ของท้องถิ่นเมื่อเปรียบเทียบกับรายได้ของรัฐบาลในปัจจุบันอยู่ในระดับร้อยละ 29.5 และยังคงอยู่ในระดับนี้โดยเปลี่ยนแปลงน้อยมากมาเป็นเวลา 4 ปีแล้ว การกระจายอำนาจของไทยที่ผ่านมายังไม่สามารถทำหน้าที่ลดความเหลื่อมล้ำหรือสร้างความเสมอภาคระหว่างพื้นที่ ยกตัวอย่างเช่น เงินอุดหนุนควรอุดหนุนสำหรับ อปท. ที่มีโอกาสในการหารายได้ต่ำ เนื่องจากมีพื้นที่อยู่ในชนบท มีกิจกรรมเชิงพาณิชย์น้อย ทำให้รายได้ท้องถิ่นต่อหัวต่ำ
แต่ปรากฏว่าเงินอุดหนุนนี้ส่วนหนึ่งเป็นเงินผ่านมือที่รัฐบาลส่วนกลางจ่ายมาให้กับส่วนภูมิภาคผ่านช่องทางของ อปท. เช่น เงินเดือนของอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) ซึ่งเป็นเงินของกระทรวงสาธารณสุขที่จ่ายผ่าน อปท. เงินอุดหนุนนี้มิใช่เป็นเงินที่ อปท. จะสามารถใช้ได้ตามเจตนารมณ์ของประชาชนเอง แม้กระทั่งเงินอุดหนุนต่อหัวที่ท้องถิ่นได้ในปัจจุบันก็ไม่เป็นธรรม
กล่าวคือ อบต. จะได้เงินอุดหนุนประมาณ 7,400 บาทต่อคน ในขณะที่เทศบาลนครและเทศบาลเมืองจะได้เงินอุดหนุนเกินกว่า 12,000 บาทต่อคน ทั้งๆ ที่เทศบาลทั้งสองประเภทนี้มีโอกาสสร้างรายได้เชิงพาณิชย์มากกว่า อบต. ส่วนกติกาในการแบ่งภาษีก็พบว่า ยังต่ำกว่าเพดานที่ระบุไว้มากเพราะรัฐบาลไม่มีแรงจูงใจที่จะแก้กฎหมายภาษีฐานร่วมสำหรับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ดิเรก ปัทมสิริวัฒน์, 2564)
แนวคิดเกี่ยวกับอำนาจและภารกิจของ อปท. อาจแบ่งได้เป็น 2 กระแสคือ 1) อปท.ควรทำหน้าที่บริการสาธารณะเป็นส่วนใหญ่ (บริการนิยม) 2) อปท.มีความสามารถในการปกครองและพึ่งพาตนเองได้ (ท้องถิ่นนิยม) หรืออย่างน้อยก็อยากมีส่วนร่วมมากขึ้น
ในปี 2555 มีการศึกษาแนวคิดดังกล่าว โดยส่งแบบสอบถามไปยัง อปท.ทั่วประเทศ มี อปท.ตอบกลับมาจำนวน 2,680 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 35 ของจำนวน อปท.ทั้งหมด การศึกษาพบว่า อปท.ส่วนใหญ่ (ร้อยละ 74) โดยเฉพาะองค์กรขนาดใหญ่มีแนวโน้มที่จะเลือกอยู่ในกลุ่มบริการนิยม ส่วนกลุ่มที่ต้องการมีส่วนร่วมและท้องถิ่นนิยมจะเป็นกลุ่มที่มีขนาดเล็กที่สุดคือ ไม่ถึงร้อยละ 10 (อัครพงศ์ อั้นทอง ปเนต มโนมัยวิบูลย์ และมิ่งสรรพ์ ขาวสอาด, 2556)
แนวคิดที่ยังครอบงำสังคมไทยและระบบราชการไทย เป็นแนวคิดกระแสหลักที่มองว่า อปท. เป็นเพียงองค์กรที่ให้บริการสาธารณะที่รับถ่ายโอนภารกิจไปดำเนินการตามนโยบายของส่วนกลาง ในขณะที่แนวคิดท้องถิ่นปกครองตนเองจะเป็นแนวคิดที่เสริมสร้างประชาธิปไตยท้องถิ่น ซึ่งเป็นรากฐานของแนวคิดประชาธิปไตยระดับประเทศ
ทั้งนี้เพราะการจัดสรรอำนาจและและตรวจสอบมีผลประโยชน์เกี่ยวพันอย่างแน่นหนาโยงใยไปทั้งในระบบตั้งแต่การของบประมาณจนถึงการนำไปปฏิบัติและการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่เป็นสมบัติสาธารณะร่วมกัน ซึ่งเกี่ยวโยงไปกับภาคเอกชนและการเมืองทุกระดับจึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะเกิดการยอมรับแนวคิดการปกครองตัวเองโดยประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงแม้แต่ในระดับท้องถิ่น
เลือกตั้งคราวหน้า ไปมีส่วนร่วมในการสร้างประชาธิปไตยท้องถิ่นกันทุกคนนะคะ.