GMT และข้อตกลงล่าสุดอัตราภาษีนิติบุคคลทั่วโลก | สุมาพร(ศรีสุนทร)มานะสันต์
ผู้เขียนเคยเล่าถึงแนวทางในการจัดทำ Global Minimum Tax (GMT) หรือ การกำหนดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลขั้นต่ำ เพื่อแก้ไขปัญหาการจัดเก็บภาษีจากธุรกิจดิจิทัลจากบริษัทข้ามชาติ ที่ทำได้ยาก
ในปัจจุบัน ฉบับนี้ ผู้เขียนจึงขอเล่าต่อในรายละเอียด เนื่องจากมีความคืบหน้าจากการประชุมร่วมกันของกลุ่มประเทศสมาชิกเมื่อต้นเดือนตุลาคม 2564 ที่ผ่านมา และคาดว่าจะมีข้อสรุปสุดท้ายในรอบการประชุม ณ กรุงโรม ปลายเดือนนี้
ปัญหาและที่มา
ปัญหาของการจัดเก็บภาษีอากรระหว่างประเทศในปัจจุบัน คือ การที่ “บริการ” มักมีรูปแบบอัตโนมัติ (Automated digital services) จึงทำให้สามารถเข้าถึงลูกค้าผ่านช่องทางดิจิทัลได้โดยง่าย และมีข้อน่าคิดว่า ธุรกรรมบางประเภทที่เกี่ยวข้องกับ “ทรัพย์สินไม่มีรูปร่าง” (เช่น ค่าสิทธิและดอกเบี้ย) “ค่าตอบแทนและค่าธรรมเนียมบางประเภท” (เช่น ค่าบริการตัวกลางและค่าเบี้ยประกัน) มักจัดเก็บภาษีได้ยากหากเปรียบเทียบกับสินค้าอื่น ๆ โดยทั่วไป
ยกตัวอย่างเช่น บริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่สามารถสร้างรายได้จากค่าสิทธิจำนวนมหาศาลต่อปี มักวางแผนภาษีโดยการจัดตั้ง ดำเนินการ และเลือกจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาในประเทศที่มีอัตราภาษีต่ำเพื่อเลี่ยงการจัดเก็บภาษีจากประเทศที่บริษัทแม่ตั้งอยู่ (ที่มักเก็บในอัตราที่สูงกว่า)
ดังนั้น เพื่อไม่ให้ติดตามได้โดยง่ายจากหน่วยงานจัดเก็บภาษีของรัฐบาลที่บริษัทแม่ตั้งอยู่ จึงมักมีการจัดโครงสร้างองค์กรในรูปแบบ “บริษัทข้ามชาติ” ให้ซับซ้อน ติดตามได้ยาก และในบางกรณีอาจจัดตั้งอยู่ในประเทศที่เป็น Tax Haven กรณีเช่นนี้ แม้อำนาจในการบริหารจัดการและการกำหนดนโยบายจะอยู่กับบริษัทแม่ก็ตาม แต่การจัดตั้งสาขา หรือการลงทุนผ่านบริษัทในต่างประเทศ ทำให้ยากต่อการติดตามรายได้ที่แท้จริงที่เกิดขึ้นนอกประเทศเช่นกัน
นอกจากนี้ ในส่วนของประเทศที่เป็น Low-Tax Countries หรือ ประเทศที่มีการจัดเก็บอัตราภาษีนิติบุคคลในอัตราต่ำ ก็ยิ่งมีแนวโน้มในการสร้างนโยบายในการเป็นประเทศที่รับโอนกำไร โดยการแข่งกันลดอัตราภาษีให้อยู่ในอัตราที่ต่ำ (Race to the bottom)
วิธีการที่เล่าในข้างต้นนั้น เป็นเพียงส่วนหนึ่งในการทำ Tax Planning เพื่อวัตถุประสงค์ในการวางแผนทางภาษีเพื่อถ่ายโอนกำไรไปยังประเทศที่มีอัตราภาษีต่ำกว่า (Profit Shifting) ซึ่งมีผลกระทบโดยตรงต่อรายได้ในการจัดเก็บภาษีของภาครัฐ
ข้อจำกัดของกฎหมายในประเทศ
นอกจากนี้ หากพิจารณาในมุมของกฎหมายภาษี กฎหมายในหลายประเทศมักมีข้อจำกัดในการจัดเก็บภาษีในกรณีของบุคคลที่มีถิ่นที่อยู่ในประเทศตน แต่กลับมีเงินได้เกิดขึ้นในต่างประเทศ เช่น กฎหมายไทยได้กำหนดเงื่อนไขในการนำเงินนั้นกลับเข้ามาในประเทศในปีภาษี จึงจะสามารถจัดเก็บภาษีกับเงินได้ก้อนนั้นได้ และกฎหมายสหรัฐในอดีต เคยกำหนดหลักการให้เงินได้ของบริษัทในต่างประเทศไม่ถือเป็นเงินได้ของผู้ถือหุ้นที่มีถิ่นที่อยู่ในสหรัฐ ดังนั้น ผู้ถือหุ้นชาวสหรัฐจะถูกเก็บภาษีเฉพาะจากเงินปันผลที่มีการจ่ายจากบริษัทในประเทศเท่านั้น
อย่างไรก็ดี สหรัฐได้แก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยการปรับปรุงกฎหมายภาษีอากร และเติมเนื้อหาในส่วน Subpart F (หมวดย่อยข้อ F) เพื่อสร้างหลักการเฉพาะในการป้องกันการถ่ายโอนกำไรหรือการจัดโครงสร้างธุรกิจ
ในประเทศที่มีอัตราภาษีที่ต่ำกว่า
การแก้ปัญหาโดยใช้ GMT
วัตถุประสงค์ของ GMT คือ ทำอย่างไรเพื่อลดแรงจูงใจในการโอนกำไรไปยัง Low-Tax Countries กล่าวคือ หากย้อนกลับไป GMT เป็นประเด็นที่กลุ่มประเทศ G20 และ OCED ได้หารือร่วมกันกว่าทศวรรษ และได้มีการจัดทำ Blueprints ในเรื่องดังกล่าวเรื่อยมา
หลักการของ GMT มุ่งหมายให้มีการกำหนดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลขั้นต่ำให้เป็นอัตราเดียวกันทั่วโลก และต้องสามารถ Top-up Tax หรือ จัดเก็บภาษีส่วนเพิ่มกับนิติบุคคลข้ามชาติที่จดทะเบียนจัดตั้งในประเทศที่มีอัตราภาษีที่ต่ำกว่าได้
โดยจะมีการพิจารณาข้อเท็จจริงจากรายงานทางการเงิน (Financial Accounting Report) และพิจารณาการเสียภาษีเป็นรายประเทศตามหลัก Country by Country Basis ซึ่งหลักดังกล่าวทำให้การคำนวณภาษีต้องพิจารณาเป็นรายประเทศและไม่สามารถนำอัตรามาถัวเฉลี่ยกับประเทศที่มีภาระภาษีที่สูงกว่าได้
ดังนั้น ในอนาคต การตั้งบริษัทลูกในประเทศที่มีภาษีต่ำกว่าจึงทำได้ยากขึ้น เพราะอยู่ที่ไหนในโลกก็จะมีอัตราภาษีนิติบุคคลขั้นต่ำเท่ากัน ดังนั้น นี่คือการสร้าง Global rule หรือมาตรฐานขั้นต่ำสากลทางภาษีให้กับทุกประเทศ ซึ่งเดิมที เป็นเรื่องที่ทำได้ยากในระบบภาษีระหว่างประเทศ เนื่องจากแต่ละรัฐย่อมมีอธิปไตยและมีหลักการในการจัดเก็บภาษีที่แตกต่างกัน
ข้อตกลงล่าสุด : กำหนดอัตรา GMT ที่ 15%
ประเด็นเรื่องอัตราของ GMT นั้น ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ไม่แพ้กับหลักการ เนื่องจากหากกำหนดให้สูงจนเกินไปก็อาจกระทบกับประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดเล็ก และในทางกลับกัน หากตั้งให้ต่ำจนเกินไปก็อาจไม่บรรลุวัตถุประสงค์ของ GMT ที่จะช่วยให้รัฐบาลของประเทศต่างๆ สามารถจัดเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้น
ในประเด็นนี้ OECD ได้ให้ข้อมูลว่า หาก GMT มีการบังคับใช้แล้ว ประเทศสมาชิกจะจัดเก็บภาษีรวมกันแล้วได้กว่า 1.5 พันล้าน (USD) ต่อปี
ดังนั้น ในรอบล่าสุด ประเทศสมาชิก OECD จำนวน 136 ประเทศ จึงเห็นพ้องในการกำหนดอัตรา GMT ที่ 15% ซึ่งได้กำหนดกรอบเวลาในการปรับใช้ในปี 2566 และอาจมีการเริ่มจัดเก็บจริงในปี 2567
ผลของข้อตกลง
แน่นอนว่า การเข้าร่วมข้อตกลง GMT ส่งผลให้ประเทศสมาชิกต้องกลับไปพิจารณาทบทวนกรอบกฎหมายปัจจุบัน และยังรวมถึงข้อตกลงระหว่างประเทศต่าง ๆ ที่อาจต้องมีการปรับปรุง ยกเลิก หรือแก้ไข โดยเฉพาะประเทศที่มีกฎหมายเกี่ยวข้องกับการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ และอาจมีการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งการมี GMT อาจทำให้ภาระภาษีของผู้ประกอบการต่างชาติเพิ่มขึ้นได้
ท้ายที่สุด GMT ถือเป็นเรื่องใหม่ ที่จะกำหนดทิศทางภาษีระหว่างในประเทศอนาคตที่ไม่ว่าประเทศใดก็ไม่อาจละความสำคัญในเรื่องนี้ได้
บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน