"ยูนิลีเวอร์" ต้นแบบบริษัทเพื่อความยั่งยืน | พสุ เดชะรินทร์
เคยสอบถามผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศว่า ถ้าให้แนะนำบริษัทชั้นนำระดับโลกที่ทำและประสบความสำเร็จในเรื่องของความยั่งยืนอย่างจริงจัง จะแนะนำบริษัทใด คำตอบที่ได้รับคือ "ยูนิลีเวอร์"
เมื่อ COP26 จบก็มีข่าวว่าประเทศและบริษัทชั้นนำหลายแห่งได้ประกาศเป้าหมายที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืนและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมา ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี อย่างไรก็ดีความท้าทายอยู่ที่การปฏิบัติจริงๆ ไม่ใช่แค่การประกาศหรือทำข่าวประชาสัมพันธ์เท่านั้น ประกอบกับจากการศึกษาของ GlobeScan ที่จัดอันดับ Most Sustainable Company มาทุกปีก็พบว่าตั้งแต่ปี 2011 "ยูนิลีเวอร์" ได้รับการจัดให้อยู่อันดับ 1 มาตลอด
คนไทยจะรู้จักยูนิลีเวอร์ในฐานะหนึ่งในผู้นำในด้านสินค้าอุปโภคระดับโลกที่มีแบรนด์ดังๆ ที่เราคุ้นเคยกัน อาทิเช่น ไอศกรีมวอลล์ เบสท์ฟู้ดส์ บรีส คอมฟอร์ท โดฟ และลักซ์ เป็นต้น และนอกจากการเป็นเจ้าของแบรนด์เหล่านี้แล้วยูนิลีเวอร์ยังเป็นบริษัทที่ได้รับการยอมรับไปทั่วโลกในเรื่องของความยั่งยืนอีกด้วย
ยูนิลีเวอร์ให้ความสำคัญกับเรื่องของความยั่งยืนมาตั้งแต่ก่อตั้งบริษัท โดย William Lever หนึ่งในผู้ก่อตั้งมีความเชื่อว่าธุรกิจจะรุ่งเรืองได้ ถ้าดำเนินงานด้วยจริยธรรมและความรับผิดชอบ หรือที่เรียกว่า Doing well by doing good และเรื่องความยั่งยืนนี้ได้รับการเน้นย้ำและนำมาใช้อย่างจริงจัง โดย Paul Polman ที่เข้ามาเป็นซีอีโอในปี 2009 และเป็นซีอีโอคนแรกของบริษัทที่มาจากภายนอก
Polman ประกาศไว้ตั้งแต่แรกเลยว่าบริษัทจะต้องรู้ว่าตนเองดำรงอยู่เพื่ออะไร นั้นคือเพื่อลูกค้าไม่ใช่เพื่อผู้ถือหุ้น ถ้าบริษัทสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าและต่อสภาพแวดล้อมที่ดำเนินงานอยู่ได้ดี มีความรับผิดชอบต่อสังคมและพนักงาน แล้วผู้ถือหุ้นก็จะได้รับผลตอบแทนที่ดีเอง
เมื่อเข้ารับตำแหน่ง Paul Polman ประกาศเป้าหมายไว้เลยว่าต้องการขยายขนาดธุรกิจของยูนิลีเวอร์ให้ได้สองเท่า ลดผลกระทบของบริษัทต่อสิ่งแวดล้อม และยกระดับผลกระทบในเชิงบวกที่บริษัทมอบให้กับสังคม
ในปี 2010 ยูนิลีเวอร์ได้ประกาศใช้ USLP (Unilever Sustainable Living Plan) ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นแผนแม่บทสำหรับบริษัทโดยมีเป้าหมายสำหรับปี 2020 อยู่สามประการ นั้นคือ
๑. ยกระดับสุขภาพและความเป็นอยู่ของประชากรหนึ่งพันล้านคนทั่วโลก
๒. ลดผลกระทบจากการผลิตและใช้ผลิตภัณฑ์ของบริษัทที่มีต่อสิ่งแวดล้อมลงอย่างน้อยครึ่งหนึ่ง และ
๓. ยกระดับความเป็นอยู่และความสามารถในการสร้างรายได้ของบุคคลและคู่ค้าที่อยู่ใน Value chain ของบริษัท
สำหรับยูนิลีเวอร์แล้ว USLP ไม่ใช่การประชาสัมพันธ์ CSR แบบเท่ๆ เก๋ๆ แต่เป็นกลยุทธ์หลักของบริษัทที่จะช่วยขับเคลื่อนการเติบโตของบริษัท ช่วยลดต้นทุน ทำให้ลูกค้ามีความผูกพันและภักดี และช่วยกระตุ้นจูงใจพนักงาน
USLP ถูกฝังและผสมผสานเข้าไปในทุกธุรกิจ ทุกกิจกรรม ทุกงาน ทุกประเทศที่ยูนิลีเวอร์เข้าไปดำเนินงาน อีกทั้งยังเข้าไปยังธุรกิจอื่นๆ รวมถึงคู่ค้าที่เกี่ยวข้องด้วย เป้าทั้งสามประการถูกขยายไปเป็น 7 แกน (บริษัทเรียกว่า Pillars) และแตกออกเป็นสิ่งที่สามารถวัดและจับต้องได้อีก 50 ประการ รวมทั้งมีการกำหนด Purpose ของบริษัทที่ชัดเจนว่าบริษัทดำรงอยู่เพื่อ to make sustainable living commonplace
สำหรับยูนิลีเวอร์แล้วแนวคิดพื้นฐานในการดำเนินธุรกิจคือ ความยั่งยืนจะนำไปสู่การมีผลประกอบการที่ดี เรียกได้ว่าเป็น Profits through purpose และผลลัพธ์ก็แสดงออกมาเช่นนั้นจริง ตลอดช่วงที่ Polman เป็นซีอีโอนั้น (เขาก้าวลงจากตำแหน่งในช่วงปลายปี 2018) มูลค่าผลตอบแทนที่ผู้ถือหุ้นได้รับนั้นเพิ่มสูงขึ้นถึงเกือบ 300%
อีกทั้งจากกลยุทธ์ USLP ก็ทำให้ยูนิลีเวอร์สามารถสร้างความสัมพันธ์และความผูกพันที่ดีกับทั้งพนักงาน ชุมชน คู่ค้า บรรดา NGO และหน่วยงานรัฐบาล
ล่าสุด Polman ได้ออกหนังสือเล่มหนึ่ง (ร่วมกับ Andrew Winston) ชื่อ Net Positive ซึ่งในขณะที่บริษัทและประเทศต่างๆ ประกาศเรื่องนโยบายเรื่อ Net Zero หรือการไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อทำลายโลกนี้ แต่ Polman กลับมองว่าธุรกิจไม่ควรจะมุ่งแค่ Net Zero เท่านั้น แต่ควรต้องเป็น Net Positive ที่ไม่เพียงแค่ไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่านั้น แต่ควรจะให้กลับคือไปยังโลกมากกว่าที่ได้รับมาด้วย.