"ระบบการเงินโลก" ปฏิวัติหรือสูญพันธุ์
ในธุรกิจที่กำลังจะถูกคุกคาม จากกระแสการปฏิวัติเทคโนโลยี 4.0 ระบบการเงินหลัก กำลังถูก Disrupt มากที่สุด ในระดับโลก การเข้ามาของธุรกิจฟินเทค และอีคอมเมิร์ซต่างๆที่สร้างช่องทางการชำระเงิน (payment gateway) เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ธุรกิจการเงินถูกผันออกจากธนาคาร
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดได้แก่ Alipay และ WeChat pay ในจีน ที่เริ่มจากการเป็น e-commerce ก่อนผันตัวเองมาเป็นธุรกิจด้านการชำระเงิน (Payment) ที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดย Alipay เองมีผู้ใช้งานมากกว่า 1 พันล้านคน หรือกว่า 80% ของประชากรจีน และจัดการการชำระเงิน 16 ล้านล้านในปี 2019 ซึ่งมากกว่า PayPal ซึ่งเป็นธุรกิจ Payment ในสหรัฐและทั่วโลกนอกประเทศจีนเกือบ 25 เท่า
โมเดลในการทำธุรกิจของทั้งสองบริษัทคือ เรียกค่าธรรมเนียมเพียง 0.1% ของแต่ละธุรกรรม ซึ่งน้อยกว่าค่าธรรมเนียมจากการโอนเงินที่ธนาคาร และเป็นเหตุให้ค่าธรรมเนียมโอนเงินทั่วโลกลดลง โดยในอินโดนีเซียค่าธรรมเนียมลดลงจาก 2% เหลือเพียง 0.7% ขณะที่ในไทย ค่าธรรมเนียมลดจากประมาณ 1.2%-6% เหลือเพียง 0.6%
แต่สิ่งที่เป็นภัยคุกคามที่ใหญ่กว่าคือการที่ธุรกิจ Fintech มีข้อมูล Big data จากการที่ลูกค้าทำธุรกรรมในแพลตฟอร์มของธุรกิจเหล่านั้น โดยอาจกล่าวได้ว่าตัวธุรกิจมีข้อมูลเกี่ยวกับลูกค้ามากกว่าที่ตัวลูกค้าเองจะรู้ด้วยซ้ำ เช่น รายได้แต่ละเดือน รสนิยมการจับจ่าย พฤติกรรมการบริโภคและการออม เป็นต้น ทำให้บริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่เหล่านี้สามารถให้กู้ด้วยอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าสถาบันการเงินได้
นอกจากนั้น ยังมีบริษัท Fintech เหล่านี้ยังสามารถขยายธุรกิจจากการปล่อยสินเชื่อไปสู่ผลิตภัณฑ์ทางการเงินอื่นๆ เช่น การจัดการสินทรัพย์ การลงทุนและการประกันภัย ทำให้ธุรกิจเหล่านี้สามารถให้บริการทางการเงินครบวงจร (และเป็นเหตุให้รัฐบาลจีน เข้ามาควบคุมการทำธุรกิจอย่างเข้มงวด เพราะกังวลว่าธุรกิจเหล่านี้จะใหญ่เกินไป)
ในประเทศไทย แม้ก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ธุรกิจการเงินโดยเฉพาะธนาคารพาณิชย์ก็ถูกคุกคามจากระบบการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร (Non-bank) อยู่แล้ว ทั้งจากระบบสหกรณ์ กองทุนรวม และอื่น ๆ และยิ่งมี digital lending ก็ยิ่งจะแย่งรายได้ออกจากธนาคารมากขึ้น
ข้อมูลจาก ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา สินทรัพย์รวมของธนาคารพาณิชย์ เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า แต่สินทรัพย์รวมของธุรกิจ Non-bank เช่น สหกรณ์ออมทรัพย์ มูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวม และมูลค่าตราสารหนี้ภาคเอกชน เพิ่มขึ้นประมาณเป็น 3-5 เท่า ขณะที่เมื่อพิจารณาสาขาของธนาคารพาณิชย์ พบว่าลดลงต่อเนื่องจากประมาณ 7,000 สาขาเมื่อ 5 ปีที่แล้วเหลือประมาณ 5,800 สาขาในปัจจุบัน หรือหายไปกว่า 17% อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาจากรูปแบบการทำธุรกิจแบบ Digital การเข้ามาของ Promptpay ที่ผลักดันโดยภาครัฐ พร้อม ๆ กับการเริ่มพัฒนา Mobile banking ของสถาบันการเงินในช่วงก่อน ทำให้สถาบันการเงินไทยยังคงมีแต้มต่อในปัจจุบัน
ทั้งหมดนี้บ่งชี้ถึงภัยคุกคามธุรกิจการเงินโดยเฉพาะธนาคารพาณิชย์ในประเด็นด้านเทคโนโลยีที่กำลังเข้ามาแทนที่ ทั้งจาก
1.ธุรกิจการเงินอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ธนาคาร (Non-bank) ธุรกิจเทคโนโลยีขนาดใหญ่ (Big tech) ที่กำลังกลายเป็นเทคโนโลยีการเงิน (Fintech)
2.การเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคที่หันมาใช้เทคโนโลยีดิจิตอลในการทำธุรกรรมมากขึ้น ซึ่งก็ทำให้ผู้เป็นเจ้าของ platform สามารถเข้าถึงข้อมูลได้มากขึ้น
3.ภูมิลักษณ์เศรษฐกิจ (Economic landscape) ที่เปลี่ยนไป ทั้งจากภาวะ New normal หลังโลกยุค COVID-19 ที่ทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวช้าและไม่เท่าเทียมกัน ดอกเบี้ยที่จะปรับสูงขึ้นมากไม่ได้ (เพราะถ้าขึ้นมาก จะกระทบกับหนี้ทั่วโลกที่อยู่ในระดับสูง) และภาวะ VUCA หรือความผันผวน ไม่แน่นอน ซับซ้อน และคลุมเคลือ ทำให้การวางแผน และดำเนินธุรกิจการเงินยากลำบากขึ้น
และ 4.ความเสี่ยงด้านกฎระเบียบ ที่จะมีความซับซ้อนยุ่งยาก และเพิ่มต้นทุนในการดำเนินการ (Compliance cost) มากขึ้น เนื่องจากผู้คุมกฎระเบียบต้องการให้เกิดเสถียรภาพด้านการเงิน
ภัยคุกคาม 2 ประการหลังยิ่งเป็นการเร่งธุรกิจการเงินให้เข้าสู่ยุคใหม่ ที่กลุ่มธุรกิจ Fintech รวมถึงธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิตอล (Digital Asset) มีแต้มต่อ ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าฝากเงิน หลบเลี่ยงกฎระเบียบต่าง ๆ เนื่องจากบางธุรกิจ เช่น Decentralized Finance (DeFi) ที่เชื่อมต่อกันโดยตรงโดยใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ เช่น Blockchain ที่ไม่มีตัวกลาง และมีศักยภาพที่จะทดแทนการฝากเงินหรือการกู้ยืมเงินในอนาคต
หรือแม้แต่ตลาดแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิตอลระดับโลก เช่น Coinbase และ Binance ที่สามารถให้นักลงทุนทั่วโลกลงทุนได้โดยไม่ติดกฎระเบียบใด ๆ (ยกเว้นในประเทศนั้น ๆ จะสั่งห้ามการลงทุนเช่นนั้นชัดเจน เช่นในประเทศจีน)
แต่ด้วยการที่ไร้ซึ่งการควบคุม และไร้ข้อจำกัดด้านกฎระเบียบ ก็ทำให้ธุรกิจเหล่านั้นมีความเสี่ยงสูงด้วยเช่นกัน โดยเราจะได้ยินข่าวเสมอ ๆ ถึงการที่ธุรกิจเหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็นศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิตอล (Exchange) หรือแม้แต่สินทรัพย์ดิจิตอลบางอย่างที่หลอกลวงและยักยอกเงินจากผู้ลงทุน ทำให้ผู้คุมกฎในบางประเทศ เช่น สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐฯ (SEC) ได้ประกาศเป็นทางการที่จะอนุญาตให้มีการซื้อขาย Bitcoin Futures ETF ได้ ทำให้การซื้อขายอนุพันธ์ดังกล่าวโปร่งใส ตรวจสอบได้มากขึ้น และเป็นประโยชน์ต่อประชาชนและนักลงทุนมากขึ้น ซึ่งในอนาคต ผู้เขียนคาดว่าจะเห็นการที่ทางการประกาศที่จะกำกับดูแลการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิตอลมากขึ้น โดยเฉพาะในรูปแบบที่ผ่านนิติบุคคลที่ทางการดูแลอยู่แล้ว เช่น ผู้จัดการกองทุน นายหน้า และผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิตอล เป็นต้น
ขณะที่ในส่วนของภาคธุรกิจการเงิน ผู้เขียนเชื่อว่าจะเห็นการควบรวมหรือร่วมมือกันระหว่างธุรกิจการเงินแบบดั้งเดิม (เช่น ธนาคาร บริษัทหลักทรัพย์ กองทุนรวม และบริษัทประกัน) กับธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิตอลมากขึ้น เพราะตอบโจทย์ของทั้งสองกลุ่มธุรกิจ โดยธุรกิจการเงินดั้งเดิมจะได้ประโยชน์จากความรู้ด้านเทคโนโลยีจากผู้เล่นใหม่ ขณะที่ผู้เล่นใหม่ก็จะได้ฐานลูกค้า รวมถึงความน่าเชื่อถือจากธุรกิจการเงินดั้งเดิม
นอกจากนั้น เมื่อทางการอนุญาต ธุรกิจเหล่านี้ก็จะสามารถให้บริการด้านการเงินแบบใหม่ เช่น การระดมทุนในรูปแบบใหม่ ๆ เช่น Initial Coin Offerings (ICO), Security Token Offerings (STO) ที่มีต้นทุนต่ำ และให้ผลตอบแทนในการลงทุนสูง การโอนถ่ายเงินข้ามพรมแดนทำได้อย่างรวดเร็ว อันจะเป็นการพัฒนาอุตสาหกรรมการเงินในรูปแบบดิจิตอล อย่างไรก็ตาม ข้อเสียคือจะทำให้ผู้เล่นใหม่เริ่มเข้ามายากขึ้น รวมถึงทำให้พนักงานและประชาชนที่ไม่เรียนรู้ด้านเทคโนโลยีจะอยู่ยากมากขึ้น
โลกการเงินกำลังถูก Disrupt ท่านทั้งหลาย เตรียมพร้อมรับโลกใหม่แล้วหรือยัง