ยากินเพื่อรักษา COVID-19 กับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ | ศุภวุฒิ สายเชื้อ

ยากินเพื่อรักษา COVID-19 กับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ | ศุภวุฒิ สายเชื้อ

คนจะมองว่าเป็นข่าวดีอย่างยิ่งที่ยาเม็ด Paxlovid ของ Pfizer จะสามารถใช้กินเพื่อ “รักษา” COVID-19 ได้ ทั้งนี้เป็นยาเม็ดยี่ห้อที่สองตามมาหลังยาเม็ด Molnupiravir ของ Merck

ผมจะไม่ขอลงในรายละเอียดของยาเม็ดต้านโควิด-19 ทั้งสองนี้ เพราะมีการกล่าวถึงสรรพคุณของยาทั้งสองอย่างแพร่หลายแล้วและรัฐบาลไทยก็เปลี่ยนท่าทีจากเมื่อปีที่แล้วที่รอรีรอการสั่งวัคซีนเพื่อดูประสบการณ์การใช้จริงในประเทศต่างๆ และรอให้ราคาลดลงกลับท่าทีมาเป็นการรีบเร่งซื้อยาดังกล่าวให้นำเข้ามาในประเทศโดยเร็วที่สุดโดยไม่ได้แสดงความเป็นห่วงเกี่ยวกับราคายาดังกล่าว

ผมจะขอมองต่างมุมว่าการมียาเม็ดดังกล่าวนั้นอาจไม่ได้ส่งผลที่ดีต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกก็เป็นได้ หากไม่ได้มีความเข้าใจถึงผลที่ตามมาอย่างถ่องแท้

 เมื่อ Pfizer ประกาศผลการทดลองใช้ยา Paxlovid เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน ปรากฏว่าราคาหุ้นของ Pfizer ปรับเพื่อขึ้น 11% ในขณะที่ราคาหุ้นของบริษัทที่ผลิตวัคซีนลดลงไป 11% ถึง 21% ภายในวันเดียว

แสดงว่านักลงทุนคาดการณ์ว่าจะมีคนต้องการฉีดวัคซีนน้อยลงเพราะจะมีคนต้องการกินยาเม็ดวันละ 2 ครั้งติดต่อกัน 5 วันมากกว่าเสี่ยงกับการฉีดวัคซีน ทั้งนี้ได้มีการทำการสำรวจความเห็นที่มลรัฐนิวยอร์ก (มีผู้ตอบคำถามประมาณ 3,000 คน) โดยคนประมาณ 1 ใน 8 ตอบว่าต้องการกินยามากกว่าฉีดวัคซีน (ซึ่งเท่ากับประมาณ 12% ใกล้เคียงกับการเปลี่ยนแปลงของราคาหุ้นที่เกี่ยวข้องที่กล่าวถึงในตอนต้น)

แต่ยากินนี้ไม่ได้มีประสิทธิผลดีเหมือนกับการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันการติดเชื้อ COVID-19 กล่าวคือยาที่กล่าวอ้างว่ากินแล้วลดความเสี่ยงจากการป่วยหนักถึง 89% ในกรณีของ Paxlovid (ที่ต้องกินควบคู่ไปยา Ritonavir) หากกินยาดังกล่าวภายใน 3 วันจากการติดเชื้อ

และในกรณีของ Molnupiravir นั้นหากกินยาดังกล่าวภายใน 3 วันถึง 5 วัน นับตั้งแต่วันแรกที่ได้รับไวรัสของ COVID-19 ก็จะลดความเสี่ยงจากการป่วยหนักลงไป 50%

ในช่วงแรกดังกล่าวนั้นเป็นช่วงที่ไวรัสกำลังเร่งแบ่งตัวขยายจำนวนในเซลล์ของตัวเรา แปลว่าเป็นช่วงที่เรายังไม่ค่อยมีอาการป่วย ทั้งนี้ช่วงเวลา 0 ถึง 5 วันดังกล่าวนั้นเป็นค่าเฉลี่ย หมายความว่าสำหรับบางคนช่วงนั้นอาจนานกว่าหรือสั้นกว่า 5 วันก็เป็นได้
    ความเสี่ยงคือช่วงนี้มักจะไม่มีอาการป่วยทำให้อาจไม่ได้รีบเร่งไปหายาดังกล่าวมากินอย่างทันท่วงทีเพื่อใช้ในการสกัดการแบ่งตัว ขยายจำนวนของไวรัสซึ่งเป็นสรรพคุณหลักของยาประเภท Protease Inhibitor ดังกล่าว ในทางตรงกันข้ามยังมีความเป็นไปได้สูงอีกว่าคนหลายคนจะสรุปว่าเมื่อมียา “รักษา” โรคนี้ได้แล้วก็ไม่จำเป็นต้องฉีดวัคซีนและยังมีความมั่นใจ (ชะล่าใจ) 

ในการกลับไปทำกิจกรรมและดำเนินชีวิตแบบปกติก่อนการระบาดของ COVID-19 ก็เป็นได้ ทั้งนี้หากมีการเปลี่ยนพฤติกรรรมดังกล่าวทั้งๆ ที่ปัจจุบันก็ยังมีผู้ติดเชื้อรายวันวันละหลายพันคนและมีคนเสียชีวิตวันละหลายสิบคนเช่นที่เป็นอยู่ในปัจจุบันก็ยิ่งจะเสี่ยงต่อการที่การระบาดของ COVID-19 จะมีอยู่อย่างต่อเนื่องและยืดเยื้อทั้งในประเทศไทยและประเทศอื่นๆ 
    ทั้งนี้ การสัญญาว่าจะรีบเร่งนำเข้ายา “รักษา” COVID-19 เป็นจำนวนมากในอนาคตอาจยิ่งทำให้คนมองว่ายาดังกล่าวเป็นทางเลือกทำให้ไม่ต้องคิดไปฉีดวัคซีน โดยเฉพาะในผู้เยาว์ที่มีข่าวว่ามีความเสี่ยงจากผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนมากกว่าผู้สูงอายุ แต่ในขณะเดียวกันผู้เยาว์นั้นน่าจะเป็นกลุ่มที่หากได้รับเชื้อ COVID-19 มาแล้วน่าจะแสดงอาการป่วยน้อยที่สุด จึงน่าจะเป็นกลุ่มที่ตรวจพบการติดเชื้อได้ล่าช้ากว่า ทำให้การกินยาอาจมีผลในเชิงบวกน้อยกว่าที่กล่าวถึงในผลงานวิจัยที่อ้างถึงขั้นต้น
    กล่าวคือเมื่อไวรัสแบ่งตัวมีจำนวนมากในร่างกายของเรา ก็จะเข้าสู่สภาวะที่ 2 กล่าวคือระบบภูมิคุ้มกันของตัวเราทั้งระบบที่เรียกว่า innate (คือระบบภูมิคุ้มกันด่านหน้า) และระบบ adaptive (คือระบบภูมิคุ้มกันจากศูนย์กลางที่ปรับตัวเพิ่มความรุนแรงของการตอบโต้ได้) จะตื่นตัวอย่างเต็มที่ ตรงนี้คือช่วงที่ระบบภูมิคุ้มกันตอบโต้ COVID-19 อย่างรุนแรง ทำให้เกิดอาการอักเสบ (inflammation) และส่งผลกระทบต่ออวัยวะสำคัญๆ ของร่างกาย เช่น ปอด หัวใจและไต เป็นต้น 

ยากินเพื่อรักษา COVID-19 กับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ | ศุภวุฒิ สายเชื้อ
    หากผู้ป่วยโชคไม่ดีและเกิดอาการที่ระบบภูมิคุ้มกัน “สติแตก” ไล่ทำลายทุกอย่างที่ขวางหน้ารวมทั้งอวัยวะต่างๆ และเส้นเลือดของร่างกายคือเกิด Cytokine storm และ Hyper inflammation ก็จะยากที่จะรักษาให้หายจากการป่วยได้ ซึ่งเมื่อเข้าสู่ขั้นที่ 2 และขั้นที่ 3 ดังกล่าวแล้ว การกินยา Paxlovid หรือ Molnupiravir จะไม่มีประโยชน์มากนัก แต่ต้องพยายามใช้ยาประเภท Steroid เพื่อลดการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันที่กำลังทำร้ายร่างกายของผู้ป่วยเอง
    ดังนั้น การกำหนดบทบาท การบริหารจัดการ และการสื่อสารความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับการใช้ “ยารักษา COVID-19” ที่ถูกต้องจึงน่าจะเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่งต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลก กล่าวคือการฉีดวัควีนยังต้องเป็นมาตรการหลักในการป้องกันตัวจาก COVID-19 และการมียากินเพื่อรักษา COVID-19 นั้นเป็นมาตรการสำรองไม่ใช่ทางเลือกว่าควรฉีดวัคซีนหรือไม่ 
    ในสัปดาห์หน้าผมจะขอกล่าวถึงปัจจัยด้านเศรษฐกิจและการเงินที่ผมมองว่าจะเป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดทิศทางของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยครับ