เทียบคุณสมบัติ 2 "ยาเม็ด" Pfizer VS Merck "ความหวังใหม่" สู้โควิด-19
เปรียบเทียบคุณสมบัติสำคัญของ "ยาเม็ด" จาก 2 ยักษ์ใหญ่ "Pfizer" (ไฟเซอร์) และ "Merck" (เมอร์ค) ซึ่งถือเป็นความหวังใหม่ในการต่อสู้กับโควิด-19 นอกเหนือจากวัคซีน
อุตสาหกรรมยาโลกยังคงแข่งขันกันต่อเนื่อง ท่ามกลางการระบาดของโควิด-19 เมื่อวันศุกร์ (5 พ.ย.) บริษัทไฟเซอร์ อิงค์ ผู้ผลิตยารายใหญ่ที่สุดในสหรัฐ เปิดตัวยาเม็ดต้านโควิด-19 ชื่อ “แพ็กซ์โลวิด” (PAXLOVID) พร้อมอ้างข้อมูลผลทดสอบระยะที่ 3 ว่า มีประสิทธิภาพเกือบ 90%
นายอัลเบิร์ต เบอร์ลา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ของไฟเซอร์ กล่าวว่า ข่าวดีวันนี้ถือเป็น “ตัวเปลี่ยนเกมที่แท้จริง” ในความพยายามยับยั้งการระบาดของโรคโควิด-19
ความเคลื่อนไหวล่าสุดของไฟเซอร์จึงเป็นเหมือนการส่งสัญญาณท้าทายยาเม็ด “โมลนูพิราเวียร์” (MOLNUPIRAVIR) ที่ร่วมกันพัฒนาโดยบริษัทเมอร์ค แอนด์ โค และบริษัทริดจ์แบ็ค ไบโอเธราพิวติกส์ ซึ่งได้รับการอนุมัติให้ใช้กับผู้ป่วยโควิดในสหราชอาณาจักรเมื่อไม่นานนี้
ทั้งนี้ ผลการทดสอบระยะที่ 3 ระบุว่า ยาเม็ดของไฟเซอร์ช่วยลดอัตราการเข้ารักษาในโรงพยาบาลหรือเสียชีวิตจากโควิด-19 ถึง 89%
ส่วนผลการทดสอบระยะที่ 3 ของยาเม็ดของเมอร์ค ชี้ว่า ลดอัตราการเข้ารักษาในโรงพยาบาลหรือเสียชีวิต 50%
ข้อมูลจากทั้ง 2 บริษัท ระบุว่า ยาเม็ดต้านโควิด-19 แพ็กซ์โลวิด และ โมลนูพิราเวียร์ ควรให้ผู้ป่วยรับประทานวันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 5 วัน
ส่วนปริมาณการผลิต ไฟเซอร์เผยว่า จะผลิตยาแพ็กซ์โลวิด 180,000 แผงภายในสิ้นปี 2564 และอีกอย่างน้อย 50 ล้านแผงภายในสิ้นปี 2565
ขณะที่เมอร์คเผยว่า จะผลิตยาโมลนูพิราเวียร์ 10 ล้านคอร์สภายในสิ้นปี 2564 และอีกอย่างน้อย 20 ล้านคอร์สภายในสิ้นปี 2565
สำหรับกลไกการออกฤทธิ์ของแพ็กซ์โลวิด คือ Protease inhibitor ส่วนของ โมลนูพิราเวียร์ คือ Viral mutagenic
ส่วนเรื่องการรับรองจากหน่วยงานรัฐ ดูเหมือนว่า เมอร์คยังคงได้เปรียบไฟเซอร์ เพราะผ่านการอนุมัติให้ใช้กับผู้ป่วยในสหราชอาณาจักรแล้ว และได้ยื่นขออนุมัติการใช้ยาในสหรัฐแล้ว อยู่ระหว่างรอผล
ขณะที่ไฟเซอร์เตรียมเพิ่มข้อมูลผลทดสอบทางคลินิกให้แก่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาสหรัฐ (FDA) หลังจากบริษัทยื่นเรื่องขออนุมัติการใช้ยาดังกล่าวเป็นกรณีฉุกเฉินต่อ FDA เมื่อเดือน ต.ค. ที่ผ่านมา ขณะนี้อยู่ระหว่างรอผลเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า ขณะนี้ยังไม่สามารถนำยา 2 ตัวนี้มาเปรียบเทียบกันได้โดยตรง
“เราไม่สามารถเปรียบเทียบยาทั้ง 2 ตัวนี้ได้ จนกว่าจะรู้ข้อมูลความเสี่ยงต่อผู้ป่วยชัดเจนกว่านี้” แซม ฟาเซลลี นักวิเคราะห์ของบลูมเบิร์ก อินเทลลิเจนซ์ กล่าว