5 เรื่องที่ควรทำหลังโควิด-19 | ธราธร รัตนนฤมิตศร
ทั่วโลกและประเทศไทยเผชิญกับวิกฤตโควิด-19 มาเกือบ 2 ปี แม้สถานการณ์จะยังไม่จบสิ้นลง แต่จากการกระจายฉีดวัคซีนให้ประชาชน ทำให้หลายฝ่ายคาดการณ์ว่า วิกฤตมีโอกาสจะคลี่คลายได้ภายในปีหน้า
จากวิกฤตโควิด-19 ที่เกิดขึ้นได้ทำให้ทุกฝ่ายเห็นถึงความเสี่ยงและปัญหาของประเทศในหลายจุดที่ควรมีการร่วมกันถอดบทเรียนอย่างจริงจังต่อไป ท่ามกลางเรื่องมากมายที่ควรดำเนินการปฏิรูปประเทศไทยสู่อนาคต ผู้เขียนคิดว่ามี
5 เรื่องหลักที่ภาครัฐควรจัดให้อยู่ในลำดับความสำคัญสูง ได้แก่
เรื่องที่ 1 การฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังวิกฤตและสร้างงานใหม่ (Economic Recovery) ผ่านมาตรการการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศให้ฟื้นตัวจากวิกฤต โดยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจควรมองไปสู่การช่วยปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยให้เพิ่มความเข้มแข็งของเศรษฐกิจภายในประเทศ (Domestic Economy) และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Recovery)
โดยควรวางยุทธศาสตร์เศรษฐกิจฐานรากที่ใช้จุดแข็งของประเทศด้านคน พื้นที่ และสินค้าในแต่ละจังหวัดและกลุ่มจังหวัด ยกระดับด้วยเศรษฐกิจสร้างสรรค์และนวัตกรรม สร้างงานให้กับคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ให้นำเทคโนโลยีดิจิทัลและความคิดสร้างสรรค์เข้าไปร่วมพัฒนา ในทิศทางที่เน้นด้านสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของมนุษย์ (Wellness) ให้ทุกพื้นที่ทุกชุมชนเป็นเมืองที่น่าอยู่ น่าใช้ชีวิต เรียนรู้ ทำงาน และท่องเที่ยว
เรื่องที่ 2 ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจสู่อนาคต (Economic Restructuring) ควรให้ความสำคัญและปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไปในทิศทางที่เน้นมูลค่าสูงและตอบโจทย์ทิศทางอนาคตของโลก โดยเฉพาะทิศทางของเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) และการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Decarbonization) ผ่านการใช้เทคโนโลยี ทักษะสมัยใหม่และความคิดสร้างสรรค์ เพื่อให้เกิดการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่ทั้งในด้านเกษตรยุคใหม่ การผลิตแห่งอนาคตและภาคบริการที่คุณภาพสูงที่ไร้การสัมผัส รวมถึงโมเดลเศรษฐกิจ BCG ที่ภาครัฐกำลังผลักดันให้เกิดผลเป็นรูปธรรม
ภาครัฐและภาคการเงินควรให้ความช่วยเหลือธุรกิจ SMEs ในการปรับตัวสู่โลกใหม่ ผ่านการให้กู้เงินอย่างมีเงื่อนไข โดยผูกติดเงื่อนไขที่นำไปสู่การลงทุนและปรับโมเดลธุรกิจ เช่น ลงทุนในเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ลงทุนเพื่อพัฒนาทักษะของทรัพยากรบุคคลและการวิจัยและพัฒนา เป็นต้น
นอกจากนี้ ในด้านการท่องเที่ยวซึ่งเป็นภาคเศรษฐกิจที่กระทบสูงในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ก็ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปรับโครงสร้างการท่องเที่ยวใหม่ให้ลดการพึ่งพานักท่องเที่ยวไม่กี่กลุ่ม ในไม่กี่เมือง
เปลี่ยนจากเดิมที่เน้นรายได้และจำนวนนักท่องเที่ยวไปสู่การท่องเที่ยวยุคใหม่ที่เน้นคุณภาพและกระจายไปสู่เมืองต่างๆ เพื่อเป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำระหว่างพื้นที่ไปในตัว ควรเร่งเปลี่ยนผ่านการท่องเที่ยวดิจิทัล (Tourism Digital Transformation) ตลอดจนยกระดับการท่องเที่ยวสุขภาพ การท่องเที่ยวชุมชน และการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
เรื่องที่ 3 การยกระดับทุนมนุษย์ (Human Capital) ตลอดช่วงชีวิต โดยควรมียุทธศาสตร์การพัฒนาทุนมนุษย์อย่างจริงจังตั้งแต่ปฐมวัยไปจนถึงตลอดชีพ ที่ให้ความสำคัญกับยกระดับการศึกษาสมัยใหม่ ทักษะแรงงานอนาคต ทักษะความรู้ด้านการเงินและดิจิทัล และสร้างระบบนิเวศที่เหมาะสมกับการเรียนรู้ตลอดชีวิตและความสามารถในการปรับตัว รวมถึงขับเคลื่อนการลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างจริงจัง
เรื่องที่ 4 การพัฒนาตาข่ายทางสังคมใหม่ (New Social Safety Net) การออกแบบและยกระดับตาข่ายทางสังคมใหม่เป็นวาระสำคัญที่จะช่วยให้ประชาชนอยู่รอดได้ในภาวะวิกฤตและกล้าที่จะเสี่ยงทดลองสิ่งใหม่ๆ และสร้างอาชีพใหม่ๆ มากขึ้น โดยระบบตาข่ายทางสังคมใหม่ควรครอบคลุมคนกลุ่มต่างๆ รวมถึงกลุ่มที่อยู่นอกระบบและอาชีพรับจ้างอิสระ ครอบคลุมสิทธิประโยชน์ขั้นพื้นฐาน และสามารถมุ่งเป้าได้อย่างตรงจุดและทันเวลา
ภาครัฐควรจัดทำระบบลงทะเบียนแห่งชาติเพื่อเป็นระบบกลางสำหรับทุกหน่วยงาน ซึ่งทำให้ประชาชนไม่ต้องลงทะเบียนทุกรอบเมื่อจะได้รับการช่วยเหลือ นอกจากนี้ ควรเริ่มศึกษาความเป็นไปได้ในการช่วยเหลือทางการเงินแก่ประชาชนในรูปแบบอื่นๆ เช่นรายได้พื้นฐานทั่วหน้า (Universal Basic Income) หรือทุนพื้นฐานทั่วหน้า (Universal Basic Capital) เพื่อรองรับเศรษฐกิจปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์ในอนาคต
เรื่องที่ 5 การเปลี่ยนผ่านสู่ภาครัฐดิจิทัลอย่างสมบูรณ์ (Digital Government) โดยควรเร่งบูรณาการฐานข้อมูลของภาครัฐให้เกิดขึ้น มีการแบ่งปันข้อมูลระหว่างหน่วยงาน มุ่งเป้าไปสู่ภาครัฐดิจิทัลที่ประชาชนเป็นศูนย์กลาง โดยบัตรประชาชนใบเดียวควรมีข้อมูลที่สำคัญที่ทำให้ภาครัฐสามารถบริการประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพทั้งด้านเศรษฐกิจ การศึกษา สุขภาพและสวัสดิการ หน่วยงานต่างๆ ควรสามารถทำงานบูรณาการข้ามหน่วยงานได้อย่างสะดวกและลดอุปสรรคด้านกฎระเบียบที่ไม่จำเป็นหรือขาดความยืดหยุ่น รวมถึงการเปิดข้อมูลและคืนข้อมูลให้ประชาชนและธุรกิจเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนางานและอาชีพในทุกพื้นที่
นอกจากนี้ เพื่อเตรียมพร้อมรองรับกับวิกฤตในรูปแบบต่างๆ ในอนาคต โดยเฉพาะผลกระทบจากโลกร้อน โรคอุบัติใหม่ และภัยสงคราม ประเทศควรจัดทำแผนความต่อเนื่องทางเศรษฐกิจของประเทศ (National Economic Continuity Plan: NECP) และเพิ่มทักษะจัดการความเสี่ยงระดับองค์กรและบุคคล เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐ เอกชนและประชาชนมีความพร้อมในการเผชิญวิกฤตที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต.