ประสานพลังสีเขียวสู่การเป็นกลางทางคาร์บอน
สวัสดีครับ สิ่งที่กำลังอยู่ในความสนใจของผู้คนคงจะหนีไม่พ้นการประชุมสุดยอด COP26 ที่พึ่งจะสิ้นสุดลง
งานประชุมระดับโลกดังกล่าวเป็นการหารือระหว่างผู้นำทั่วโลกเพื่อเร่งแก้ไขปัญหาที่กำลังคุกคามชีวิตและความเป็นอยู่ของมนุษย์นั่นคือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของประเทศตนเอง เพื่อบรรลุเป้าหมายในการจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกตามข้อตกลงปารีส (Paris Agreement)
ตามหลักการแล้ว ทุกประเทศจำเป็นที่จะต้องร่วมมือกันในการจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้ไม่เกิน 2 องศาเซลเซียส หรือให้ดีกว่านั้นคือไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียสเมื่อเทียบกับยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม ตลอดจนต้องเน้นย้ำการดำเนินงานอย่างโปร่งใสและสนับสนุนกลไกต่างๆ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการฟื้นตัวจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เป็นผู้แทนประเทศไทยในการเข้าร่วมการประชุมครั้งนี้และประกาศเจตจำนงว่า ประเทศไทยพร้อมร่วมมือกับทุกประเทศและทุกภาคส่วนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายร่วมกันในการแก้ปัญหาที่สำคัญที่สุดของโลก อีกทั้งพร้อมยกระดับการแก้ไขปัญหาภูมิอากาศเพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2593 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้ในปี 2608
องค์การพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency: IEA) และนักวิเคราะห์ชั้นนำของโลกได้ประมาณการไว้ว่าจากคำมั่นสัญญาของผู้นำจาก 194 ประเทศที่ให้ไว้ในการประชุมสุดยอด COP26 คาดว่าเราจะสามารถหยุดยั้งอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้สูงเกิน 1.8 - 1.9 องศาเซลเซียส ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่ประมาณการการสูงขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส ทั้งนี้ นอกจากภาครัฐแล้ว ภาคเอกชนถือเป็นอีกหนึ่งภาคส่วนที่มีส่วนร่วมในการช่วยจำกัดอุณหภูมิเฉลี่ยของโลก อีกทั้งยังมีบทบาทที่ชัดเจนในการปรับเปลี่ยนระบบทางเศรษฐกิจเพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายดังกล่าว
สถาบันทางการเงินนับเป็นอีกหนึ่งกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลง รวมถึงเปลี่ยนกระแสเม็ดเงินลงทุนเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจปลอดคาร์บอน โดยสำนักงานโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติว่าด้วยข้อริเริ่มทางการเงิน (UNEP Finance Initiative: UNEP FI) ประมาณการว่าหากต้องการกำจัดคาร์บอนอย่างสมบูรณ์ จำเป็นต้องใช้เงินลงทุนไม่น้อยกว่า 5 ถึง 7 ล้านล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐต่อปี ซึ่งในแต่ละปีมีการใช้เม็ดเงินมหาศาลในการสำรวจ สกัด กลั่น และขนส่งเชื้อเพลิงฟอสซิล ตลอดจนสร้าง ขาย ติดตั้ง และใช้สิ่งของที่เผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า รวมถึงดำเนินการด้านการขนส่งผู้คนและสินค้าไปยังเขตเศรษฐกิจต่างๆ ทั่วโลก
เราจะเห็นได้ว่าในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา ความเสียหายทางเศรษฐกิจอันเกิดจากภัยธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น พายุเฮอริเคน ไฟป่า หรือคลื่นความร้อน ได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและมีนัยสำคัญ โดยระหว่างปี 2559 ถึงปี 2561 เหตุการณ์ภัยธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้เกิดความสูญเสียมากกว่าหกแสนล้านดอลลาร์สหรัฐทั่วโลก ในขณะเดียวกัน หน่วยงานกำกับดูแลด้านการเงินทั่วโลกเล็งเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะเป็นความเสี่ยงทางการเงินที่ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นในอนาคต
ดังนั้น ผู้ให้บริการทางการเงิน หน่วยงานกำกับดูแล นักลงทุน รวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน จำเป็นที่จะต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการเบี่ยงกระแสของเงินลงทุนจากพลังงานฟอสซิลไปยังพลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียนมากขึ้นกว่าที่เคยเป็นมา แม้ว่าเราจะเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงในการปรับใช้พลังงานสะอาดบ้างแล้ว แต่เราจำเป็นต้องมุ่งไปข้างหน้าอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม อีกทั้งยังต้องมีการประสานความร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามที่ตั้งไว้
New Climate Institute for Climate Policy and Global Sustainability ซึ่งเป็นหนึ่งในสถาบันผู้เชี่ยวชาญด้านความยั่งยืนได้เสนอแนะหลักการสี่ประการเพื่อให้เกิดการพัฒนาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ได้แก่ สร้างมาตรฐานที่ชัดเจนเพื่อแสดงให้นักลงทุนเห็นว่าการลงทุนใดบ้างที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกระบวนการการใช้พลังงานที่ไม่ทำให้เกิดคาร์บอนไดออกไซด์ (Decarbonization) ประการที่สอง กำหนดแนวปฏิบัติและเพิ่มแรงจูงใจให้ภาคธุรกิจผนวกประเด็นด้านสภาพภูมิอากาศเข้าสู่การตัดสินใจก่อนทำการลงทุน ประการที่สามคือ กำหนดกฎระเบียบของหน่วยงานกำกับดูแลที่อำนวยความสะดวกและส่งเสริมให้ผู้เล่นในตลาดการเงินสามารถจัดการและรายงานการดำเนินงานใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และประการสุดท้ายคือ กำหนดให้ภาคธุรกิจต้องรายงานการปล่อยมลพิษอย่างโปร่งใสและตรงไปตรงมา
แม้ว่าบางหน่วยงานจะตั้งข้อกังขาว่าคำมั่นสัญญาต่างๆ ของผู้นำประเทศจะเป็นไปได้จริงมากน้อยแค่ไหน แต่ด้วยความร่วมมือของทั้งภาครัฐและเอกชน การตระหนักรู้ถึงปัญหาสภาพภูมิอากาศอย่างเป็นวงกว้าง การวางกรอบระยะเวลาที่มีความชัดเจน และที่สำคัญที่สุดคือเทคโนโลยีและนวัตกรรมพลังงานสะอาดที่ก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง การบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนน่าจะไม่ใช่เรื่องที่ไกลเกินเอื้อมอีกต่อไปครับ