OKRs และ EA ที่ได้ผลในโลกที่ผันผวน | วิฑูรย์ สิมะโชคดี

OKRs และ EA ที่ได้ผลในโลกที่ผันผวน | วิฑูรย์ สิมะโชคดี

โลกผันผวน เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและมากมาย (VUCA World) เช่นทุกวันนี้ ก็คือ “ปัญหา” ของ “ผู้นำ” ที่จะต้องรู้เท่าทันเพื่อจะนำพาองค์กรไปสู่จุดหมายให้ได้ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้

แต่ที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง ก็คือ ความรวดเร็วของพัฒนาการทางด้าน “เทคโนโลยี” ที่ทำให้ “ผู้นำ” และ “ผู้บริหาร” ทั้งหลายตามไม่ทัน จนนำมาประยุกต์ใช้อย่างไม่เหมาะสม  และหลายท่านอาจต้องตกเทรนด์ไปเลย
    ดูอย่างโทรศัพท์มือถือก็ได้  แต่ละยี่ห้อแต่ละค่ายต่างออกรุ่นใหม่กันอย่างรวดเร็ว ในขณะที่ผู้บริหารหลายคนยังใช้รุ่น 8 อยู่เลย  ขณะที่ปลายปีที่แล้วตัดสินใจจะเปลี่ยนเป็นรุ่น 12  แต่ยังไม่ทันไร ก็มีรุ่น 13 ออกมาให้ซื้อกันแล้ว  อีกทั้งระบบสื่อสารในบ้านเรา ที่เพิ่งจะประกาศปรับเปลี่ยนจาก 4G เป็น 5G ก็แว่วๆ มาว่ากำลังจะปรับเปลี่ยนเป็น 6G อีกแล้ว
 

สำหรับผมแล้ว  ต้องยอมรับเลยว่า “เรื่องของเทคโนโลยีนั้น มันเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจริงๆ จนผมตามไม่ทัน” แต่ทุกวันนี้ผมก็ยังพยายามเรียนรู้ เพื่อจะได้ไม่หลงยุคหรือตกเทรนด์จนคุยกับใครเขาไม่รู้เรื่อง 
    ส่วนด้าน “การบริหารจัดการ” ทั้งภาคทฤษฎีวิชาการและประสบการณ์นั้น  ผมยังตามได้ทัน  เพราะไม่ได้เปลี่ยนแปลงแบบหวือหวาหรือ “พลิกโฉม” แบบ Disruption (แบบที่ของเก่าต้องหายสาบสูญไปจากโลกเลย)
    ในความเป็นจริงแล้ว  ความรู้ทางวิชาการด้าน “การบริหารจัดการ” ต่างๆ มักจะเกิดจาก “การวิจัยและพัฒนา” ของทั้งนักวิชาการและนักบริหารที่มุ่งหมายให้ “ประสิทธิภาพ”  “ประสิทธิผล” และ “ผลิตภาพ” ขององค์กรดีขึ้น 
    การเปลี่ยนแปลงด้านแนวความคิดและวิธีปฏิบัติของนักวิชาการด้านการบริหารจัดการ  มักจะตั้งอยู่บนพื้นฐานของ “การปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง” แบบค่อยเป็นค่อยไป (Continuous Improvement) ซึ่งวิธีการใหม่ๆ จะทำให้ “ผลลัพธ์ค่อยๆ ดีขึ้น” (ไม่ว่าจะเป็นการบริหารจัดการแบบวิทยาศาสตร์ของ Taylor จนถึงของ Peter F. Drucker และอื่นๆ อีกมากมายในปัจจุบัน)

ทั้งหมดทั้งปวงจนถึงวันนี้  ผมจะขอพูดถึง “แนวความคิดและวิธีบริหารจัดการ” ที่มีผู้บริหารพูดถึงกันมากในปัจจุบัน ซึ่งมีโดดเด่นอยู่ 2 เรื่อง คือ OKRs และ EA (หลายท่านอาจบอกว่าล้าสมัย เพราะผ่านมา 2-3 ปีแล้ว)
    (1) OKRs ก็คือ “Objectives and Key Results” เป็นวิธีการบริหารจัดการที่ใช้เพื่อการกระจาย “เป้าหมาย” (Objectives) ขององค์กร ออกเป็น “ผลลัพธ์สำคัญ” (Key Results : KRs) จากระดับบน (ผู้บริหาร) สู่ระดับล่าง (ผู้ปฏิบัติ)  ซึ่งช่วยให้หน่วยปฏิบัติงาน (หน่วยงาน ทีมงาน และพนักงานรายบุคคล) สามารถยึดถือและนำไปใช้อ้างอิงโดยตรง  เพื่อจะได้ดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายในแต่ละข้อหรือแต่ละเรื่องอย่างได้ผล
    OKRs สามารถตอบคำถามสำคัญในเชิงกลยุทธ์ได้ 2 ข้อที่ว่า Where we want to go ? และ How we know we have achieved that goal ?

OKRs และ EA ที่ได้ผลในโลกที่ผันผวน | วิฑูรย์ สิมะโชคดี
    OKRs จึงเป็นกระบวนการกระจายเป้าหมายเชิงกลยุทธ์ของธุรกิจอุตสาหกรรมจากระดับองค์กร (บนสุด) ลงสู่ระดับปฏิบัติการ (ล่างสุด) อย่างชัดเจน และเป็นระบบมากขึ้น ทำให้การกำหนดเป้าหมายของหน่วยธุรกิจ หรือฝ่ายงาน ลงสู่ระดับทีมงานและระดับรายบุคคลเป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดย OKRs ที่กำหนดขึ้นนั้น จะมีทั้งตัว “เป้าหมาย” ที่ต้องบรรลุให้ได้ และ “ผลลัพธ์สำคัญ” ที่ระบุตัวชี้วัดความสำเร็จของเป้าหมายงานที่ชัดเจนตั้งแต่แรก ทำให้กระบวนการติดตามผลการดำเนินงานและการวัดควมสำเร็จของงาน มีความชัดเจนและมีประสิทธิภาพมากกว่าระบบบริหารจัดการอื่นๆ
    แนวความคิดในเรื่อง OKRs เป็นการพัฒนาต่อยอดมาจากแนวความคิดเรื่อง MBO (Management By Objectives) ของปรมาจารย์ด้านการบริหารจัดการยุคใหม่ คือ Peter F. Drucker ผู้มีอิทธิพลทางความคิดต่อผู้บริหารทั่วโลก
    (2) EA ก็คือ “Enterprise Architecture” ( “สถาปัตยกรรมองค์กร” ) เป็น “การออกแบบองค์กร” แบบองค์รวมที่ผนวกเอาระบบ IT เข้ากับระบบ Business  ตั้งแต่การออกแบบโครงสร้างไปจนถึงวิธีดำเนินการขององค์กร  เพื่อขับเคลื่อนให้องค์กรสามารถ ดำเนินการตามนโยบายและวิสัยทัศน์ที่องค์กรได้กำหนดไว้  โดยทำให้ทุกกระบวนการเป็นไปในทิศทางเดียวกันอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด
    EA จึงเป็นหนึ่งในการปรับเปลี่ยนองค์กรแบบ Digital Transformation ซึ่งมีความสำคัญมากขึ้นทุกขณะ ผู้บริหาร  จึงต้องเรียนรู้วิธีดำเนินการ การจัดวางระบบ และเทคโนโลยีด้าน IT ต่างๆ ภายในองค์กรด้วยแนวความคิดด้านการออกแบบ (Enterprise Architecture)  เพื่อจะได้ก้าวทันโลกยุคดิจิทัล  ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างความสามารถในการแข่งขันขององค์กรให้สูงขึ้น

OKRs และ EA ที่ได้ผลในโลกที่ผันผวน | วิฑูรย์ สิมะโชคดี
    เรื่องที่น่าตื่นตาตื่นใจในปัจจุบันก็คือ  การประกาศเปลี่ยนโครงสร้างของธนาคารไทยพาณิชย์เป็น SCBX เมื่อเดือนที่แล้ว  ซึ่งได้เขย่าวงการเงินการธนาคารในบ้านเราอย่างมาก   แต่ก็ยังไม่เท่ากับการประกาศปรับเปลี่ยนชื่อจาก “Facebook” และแนวความคิดเป็น “Metaverse” ของ Mark Zuckerberg ซึ่งกระเทือนไปทั้งโลก
    ทุกวันนี้  การปรับเปลี่ยนใดๆ จะได้ผลมากน้อยเพียงใดนั้น  จึงขึ้นอยู่กับทั้ง Mindset ของผู้นำที่เป็น “จุดเริ่มต้น” ของการเปลี่ยนแปลง  และต้องลงเอยด้วย Skillset ที่เหมาะสมของผู้ปฏิบัติ  ครับผม !