วิเคราะห์การสื่อสารการเมืองของ "รัฐบาลจีน" ในยุค "สี จิ้นผิง"
“การสื่อสารทางการเมือง” นับเป็นด้านหนึ่งซึ่งถือเป็นการพัฒนาสำคัญของจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคสมัยการนำของ "สี จิ้นผิง" เป็นแกนกลาง ซึ่งจากการวิเคราะห์ของ "อ้ายจง" แล้วพบว่า มี 2 โทนสำคัญในการสื่อสารที่น่าสนใจเลยทีเดียว
อ้ายจง เป็นคนหนึ่งที่ได้ติดตามเรื่องจีนมาเป็นระยะเวลานานนับสิบปี ตั้งแต่สมัยใช้ชีวิตในฐานะนักศึกษาต่างประเทศในจีน จนกลับมาประเทศไทยบ้านเกิดเมืองนอน ทำให้พอจะเห็นความเปลี่ยนแปลง การพัฒนาในด้านต่างๆ ของจีน ทั้งระดับชาติและนานาชาติ “การสื่อสารทางการเมือง” ก็นับเป็นด้านหนึ่งซึ่งถือเป็นการพัฒนาสำคัญของจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคสมัยของ "สี จิ้นผิง" ผู้ซึ่งเพิ่งได้รับชัยชนะอย่างท่วมท้นในการประชุมเต็มคณะครั้งที่ 6 ของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนชุดที่ 19 ในการผ่านมติประวัติศาสตร์ พร้อมทั้งระบุให้การปกครองประเทศของพรรคคอมมิวนิสต์จีนมี สี จิ้นผิง เป็นแกนกลาง ในการนำจีน เข้าสู่จีนยุคใหม่ตามแนวคิดสังคมนิยมอันมีอัตลักษณ์ในแบบจีน
หากลองวิเคราะห์การสื่อสารของรัฐบาลจีนในยุค สี จิ้นผิง ทั้งในจีนแผ่นดินใหญ่ และต่างประเทศ จะเห็น 2 โทนสำคัญในการสื่อสาร ได้แก่
1. โทนหนักแน่น ย้ำในจุดยืนของตนเอง โดยเฉพาะเรื่องเอกราช และความเป็นชาตินิยม
เราจะเห็นโทนนี้อยู่บ่อยครั้ง อย่างการที่กระทรวงการต่างประเทศจีนแถลงข่าว โดยเฉพาะเวลามีประเด็นข่าวจีน-สหรัฐฯ ที่มีข้อขัดแย้งทั้งประเด็นสงครามการค้า การแพร่ระบาดโควิด-19 และที่ยืดเยื้อมานานคือ กรณี จีน-ไต้หวัน ย้อนไปตั้งแต่จีนออกจากสหประชาชาติจนกลับเข้าสู่สหประชาชาติ และเพิ่งครบรอบ 50 ปี การกลับสู่สหประชาชาติของจีน เมื่อ 25 ตุลาคม ที่ผ่านมา จีนกับสหรัฐอเมริกาก็ยังมีข้อขัดแย้งในประเด็นนี้อยู่ตลอด
ที่น่าวิเคราะห์คือ การแสดงความหนักแน่น ย้ำในจุดยืนของจีน แม้แน่นอนว่า อาจยิ่งก่อให้เกิดข้อพิพาทหรือไม่ชอบใจนักของประเทศอื่น หรือคนที่ไม่ได้มีความนิยมชมชอบในจีน แต่ทำไมจีนยังไม่ทิ้งโทนนี้? ยังคงยึดโทนนี้อยู่ตลอด นั่นอาจเป็นเพราะ แสดงถึงความมีเอกภาพ และมั่นคงของผู้นำ ตลอดจนรัฐบาลจีน โดยจุดนี้สามารถส่งผลถึงฐานเชื่อมั่น และสร้างความรักชาติของคนในชาติด้วย
เราจึงได้เห็นหลายต่อหลายครั้งที่มีประเด็นข้อพิพาทจีนกับประเทศอื่น มีการแสดงพลังของชาวจีน ซึ่งในยุคดิจิทัลเช่นนี้ ก็เป็นการแสดงผ่านโลกออนไลน์ แน่นอนว่า สื่อหลักของจีนที่อยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลและพรรคคอมมิวนิสต์จีน มีการนำเสนอและร่วมจุดประกายแคมเปญรณรงค์แสดงพลังด้วย อาทิ แคมเปญ “中国一点都不能少” แปลเป็นไทยคือ แม้จะเศษเสี้ยวนิดเดียว ประเทศจีนของเราก็ไม่ยอมเสีย ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อประมาณ 5 ปีที่ผ่านมา กรณีข้อพิพาทเหนือเกาะในทะเลจีนใต้
หากสังเกต ในการกล่าวสุนทรพจน์ของ สี จิ้นผิง เขาจะพูดถึง ความเป็นหนึ่งของจีน การฟื้นฟูจีนกลับสู่ประเทศที่มีความรุ่งเรืองและประวัติศาสตร์ยาวนานกว่าพันปี พร้อมระบุถึงคำว่า “ประชาชน” อยู่เสมอ ตามที่ตัวเขาได้ชูนโยบาย Chinese Dream ตั้งแต่สมัยก้าวสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีใหม่ๆ โดยมุ่งเน้นการกระตุ้นรักชาติ ความเป็นชาตินิยม จึงไม่น่าแปลกใจที่จีนยังคงใช้แนวทางนี้เสมอ
2. โทนพร้อมร่วมมือกับนานาประเทศ และโทนนำเสนอแบบมุ่งกลุ่มเป้าหมายที่ผ่านการวิเคราะห์มาแล้ว
แม้จีนจะเน้นโทนหนักแน่น ย้ำในจุดยืนตนเอง จนหลายคนมองว่า “แข็งกร้าว” ที่อาจจะยิ่งสร้างความไม่พึงพอใจ และยิ่งเกิดการแบ่งแยกกลุ่มชอบและไม่ชอบจีนมากยิ่งขึ้น แต่พัฒนาการด้านการสื่อสารของจีนในยุค สี จิ้นผิง เขา Balance ให้เกิดโทนที่เข้าใจผู้รับสารมากยิ่งขึ้น ผ่านสื่อทั้งออฟไลน์และออนไลน์ และทั้งสื่อทางการและไม่ทางการ แต่ทุกสื่อล้วนควบคุมโดยรัฐบาลจีน (ไม่นับสื่อภาคเอกชนที่เขียนเกี่ยวกับจีน แต่อยู่ในต่างประเทศ)
จากการวิเคราะห์ของ อ้ายจง เอง พบว่า การนำเสนอข่าวสารและข้อความที่ออกมาจากสื่อต่างๆ ยังสามารถแบ่งได้เป็น 2 ทางหลักๆ คือ
- เพื่อกระตุ้นความรักชาติของคนจีนในแผ่นดินใหญ่ เช่น สื่อของภาครัฐ ที่นำเสนอในภาษาจีน อย่าง CCTV และ People’s Daily
- เพื่อสร้างภาพลักษณ์ของจีนสู่นานาประเทศ ตามจุดประสงค์และสถานการณ์ที่เกิดขึ้นใน ณ เวลานั้น ตามนโยบายของภาครัฐบาลจีน โดยนำเสนอเป็นภาษาอังกฤษ และภาษาท้องถิ่น ในประเทศต่างๆ ที่ตอนนี้จีนเริ่มเข้าไปเจาะในแต่ละประเทศมากขึ้น ประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในนั้น โดยในแนวทางที่สองนี้ สื่อจีนจะใช้โทนการนำเสนอ ที่เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย แม้ยังมีกลิ่นอายของการนำเสนอแบบชาตินิยม แต่ก็ถือว่าเบาขึ้น สื่อถึงความร่วมมือกับนานาประเทศมากขึ้น เข้าใจในความต้องการของต่างประเทศมากขึ้น
ยกตัวอย่างเช่น บทวิเคราะห์หลังการประชุมเสมือนจริงระหว่าง "สี จิ้นผิง" และ "โจ ไบเดน" ที่นำเสนอออกมาเป็นภาษาอังกฤษ ผ่านสื่อ CGTN (ในเครือ China Media Group สื่อหลักของจีน) มีการนำเสนอมุมมองที่เป็นผลบวกของอเมริกา ไม่ใช่แค่ผลบวกของจีนเพียงอย่างเดียว และเน้นย้ำคำว่า “พหุภาคี” การร่วมมือกับนานาประเทศ และ “ทวิภาคี” การร่วมมือกับอเมริกา เป็นการเน้นย้ำ Key Message สิ่งที่จีน ต้องการบอกกับคนทั้งโลกว่า “พร้อมร่วมมือกับโลกจริงๆ (นะ)”
อีกตัวอย่างหนึ่งที่เราได้เห็นอยู่ตลอด ตั้งแต่ช่วงแพร่ระบาดโควิด-19 คือ สื่อจีนภาคภาษาอังกฤษ มีการนำเสนอความมุ่งมั่นของจีนในการช่วยเหลือประเทศต่างๆ ให้ผ่านพ้นวิกฤติการแพร่ระบาด เพราะจีนเองโดนวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักถึงประเด็นการแพร่ระบาดไปทั่วโลก อย่างไรก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้ การนำเสนอเช่นนี้ ก็อาจมีการมองว่าเป็นการชวนเชื่อ ซึ่งก็ยังคงเป็นโจทย์ใหญ่ของจีนในการสื่อสาร แต่มันก็คงเป็นไปไม่ได้อยู่แล้วที่จะทำให้ทุกคนหรือทั้งโลกเข้าใจไปในทางเดียวกันกับที่สื่อ ขึ้นอยู่กับว่าจีนจะกำหนดกลยุทธ์และตั้งเป้าการสื่อสารอย่างไร เน้นกลุ่มเป้าหมายไหน เน้นการสื่ออะไร เป็นสิ่งที่น่าติดตามกันต่อไปครับ
ผู้เขียน : ภากร กัทชลี อาจารย์ประจำภาควิชาการตลาด คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่