เทรนด์ตลาดผู้สูงอายุจีน เติบโตแบบฉุดไม่อยู่! มูลค่าตลาดเกิน 4 ล้านล้านหยวน

เทรนด์ตลาดผู้สูงอายุจีน เติบโตแบบฉุดไม่อยู่! มูลค่าตลาดเกิน 4 ล้านล้านหยวน

มีการคาดการณ์ว่า กลุ่มผู้สูงอายุจีนจะเพิ่มขึ้นถึง 400 ล้านคน ภายในปี 2033 และจะสูงสุดที่ 487 ล้านคน ภายในปี 2053 รัฐบาลจีนจึงออกนโยบายที่เอื้อต่อการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุขึ้น ทำให้ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องเติบโตสอดรับนโยบายรัฐขึ้นมาอย่างฉุดไม่อยู่

ผู้สูงอายุจีน คือผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ซึ่งกำลังจะเพิ่มจำนวนขึ้นเป็น 300 ล้านคนในปี 2025 เพิ่มขึ้นจาก 254 ล้านคน ในปี 2019 ตามการประมาณการของกระทรวงกิจการพลเรือนจีนเมื่อปี 2020 และไม่ได้หยุดอยู่ที่ระดับ 300 ล้านคนเท่านั้น ยังมีการคาดการณ์กันว่า กลุ่มผู้สูงอายุจีนจะเพิ่มขึ้นเป็น 400 ล้านคนภายในปี 2033 และจะสูงสุดที่ 487 ล้านคนภายในปี 2053 เมื่อพิจารณาจากตัวเลขดังกล่าวแล้วทำให้มีแนวโน้มว่า จะส่งผลให้หนึ่งในสามของประชากรจีนเป็นผู้สูงอายุ หรือจะกล่าวได้ว่า ชาวจีนเดินมา 4 คน เป็นไปได้ว่า 1 คน เป็นคนสูงอายุ ภายใน 32 ปี นับจากนี้  

หากถาม อ้ายจง ว่า การคาดการณ์ตัวเลขผู้สูงอายุในจีนตามข้างต้น เป็นไปได้จริงหรือไม่? ผู้เขียนขอตอบว่า เป็นไปได้สูงครับ  เพราะถ้าเรากางนโยบายการพัฒนาประเทศและคุณภาพชีวิตประชาชนชาวจีนที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุ ซึ่งรัฐบาลสีจิ้นผิงกำลังดำเนินอยู่ในปัจจุบัน ล้วนแต่เป็นนโยบายที่เอื้อต่อการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุทั้งสิ้น

ยกตัวอย่างเช่น นโยบาย Healthy China 2030 ปฏิรูปสุขภาพชาวจีน โดยหนึ่งในใจความหลักของนโยบายนี้คือ ตั้งเป้าให้คนจีน “อายุยืน” ประชากรมีอายุเฉลี่ยถึง 77.3 ปี ในปี 2020 ที่ผ่านมา และอายุเฉลี่ย 79 ปี ในปี 2030 หมายความถึงจำนวนผู้สูงอายุที่มากขึ้น ทำให้จีนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณสุขเต็มกำลังเพื่อรองรับนโยบายนี้

จากนโยบายข้างต้น สะท้อนได้จากมูลค่าตลาดธุรกิจดูแลผู้สูงอายุในจีนอยู่ที่ราว 4.6 ล้านล้านหยวน เมื่อปี 2018 และคาดว่าจะโตกว่า 2 เท่า พุ่งไปถึง 9.8 ล้านล้านหยวนภายในปีนี้ (2021) รวมถึงอาจไปถึง 13 ล้านล้านหยวนในปี 2030 หรือ 10 ปีข้างหน้า อีกด้วย ตามรายงานจากสถาบันสังคมวิทยาแห่งชาติจีน โดยปี 2020 ที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการรายใหม่เกี่ยวกับการดูแลผู้สูงอายุ มากถึง 43,000 ราย เพิ่มจากปีก่อนหน้าถึง 7.5%

เมื่อคนอายุยืนขึ้น สังคมเต็มไปด้วยผู้สูงอายุ อัตราการเกิดก็น้อย แม้รัฐบาลจีนจะพยายามผลักดันนโยบายลูกคนที่ 3 และลดภาระค่าใช้จ่าย-ค่าครองชีพของหนุ่มสาวชาวจีน จะได้อยากมีลูกมากขึ้น แต่ก็ไม่ได้สำเร็จนัก

จีนจะขับเคลื่อนประเทศอย่างไร หากผู้สูงอายุครองสัดส่วนถึง 1 ใน 3 ?

ประเด็นนี้เป็นประเด็นที่หลายคนคงสงสัย รวมถึงตัวอ้ายจงเองด้วย และไม่ใช่แค่พวกเรา ตัวคนจีนและรัฐบาลจีนเองก็เล็งถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากประเด็นนี้ จีนจึงพยายามออกนโยบาย “สร้างงาน สร้างอาชีพ และเตรียมความพร้อมให้ผู้สูงอายุใช้ชีวิตในโลกสมัยใหม่ได้ โดยไม่เป็นภาระคนรุ่นหลังมากจนเกินไปนัก” นอกเหนือจากการสร้างสาธารณูปโภค โครงสร้างพื้นฐาน และบริการสาธารณสุข-รักษาพยาบาล

จีน ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนได้จัดอบรมการใช้เทคโนโลยีสื่อดิจิทัล และการค้าออนไลน์ทั่วไปตามชุมชนในหัวเมืองต่างๆ ทั่วประเทศจีน เราจึงได้เห็น ผู้สูงอายุจีน หันมาใช้สื่อโซเชียล ขายของออนไลน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบนช่องทางไลฟ์สด (Live-streaming) ซึ่งสินค้าการเกษตรถือเป็นหนึ่งในสินค้ายอดนิยมเมื่อคนจีนสูงวัยไลฟ์ขายของ

แรกๆ ในการไลฟ์ก็ต้องอยู่ภายใต้การช่วยเหลือของลูกหลาน ผ่านการผลักดันของสื่อจีนในการนำเสนอข่าวประเด็นนี้บ่อยๆ แต่ในภายหลังผู้สูงวัยจีนเริ่มกล้าใช้สื่อโซเชียล เริ่มกล้าไลฟ์สด และซื้อขายสินค้าออนไลน์ด้วยตนเองมากยิ่งขึ้น 

สถิติการเติบโตของธุรกิจที่เกี่ยวกับผู้สูงอายุจีนในช่วง 5 ปี ที่ผ่านมา

  • ปี 2017 Alibaba ยักษ์ใหญ่ E-commerce ของจีน ออกมาประกาศว่า ผู้สูงอายุจีน ก้าวเข้ามาเป็นกลุ่มลูกค้าหลักที่ช้อปปิ้งบนแพลตฟอร์มในเครือ (แต่ Alibaba ได้จัดกลุ่มผู้สูงอายุ โดยควบรวมอายุ 50-59 ปี มาร่วมด้วย ไม่ใช่แค่ 60 ปีขึ้นไป) ด้วยยอดผู้ใช้งาน 30 ล้านราย เฉพาะบนแพลตฟอร์มเถาเป่า (Taobao) โดย 9 เดือนแรกของ 2017 ยอดซื้อสินค้าออนไลน์โดยเฉลี่ยของกลุ่มนี้เท่ากับ 5,000 หยวน (ราว 25,000 บาท) ต่อเดือน สินค้ายอดนิยม ได้แก่ โทรศัพท์มือถือ, เติมเงินมือถือ, เสื้อผ้า, รองเท้า, อุปกรณ์เครื่องใช้ในห้องน้ำ และเครื่องปรับอากาศ โดยแบรนด์ที่ครองใจผู้สูงอายุในจีนมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ Midea, Haier, Apple, Huawei, Xiaomi
  • ปี 2018 เกิดการใช้จ่ายผ่านช่องทางกระเป๋าเงินออนไลน์ ตามแนวคิดสังคมไร้เงินสด เช่น การใช้จ่ายผ่าน Alipay ในกลุ่มผู้สูงอายุจีนเวลาไปเที่ยวต่างประเทศ เติบโตสูงขึ้นเกิน 90%   
  • ปี 2019 มูลค่าอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับ ผู้สูงอายุจีน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมสินค้าและบริการดูแลผู้สูงอายุแบบอัจฉริยะ (Smart Elderly care industry) มีมูลค่าตลาดเกือบ 3.2 ล้านล้านหยวน โดยมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่องสามปีติดต่อกัน ซึ่งอุตสาหกรรมสินค้าและบริการดูแลผู้สูงอายุแบบอัจฉริยะในจีนนี้ เป็นการผนวกเอาเทคโนโลยีสมัยใหม่มาเป็นแรงขับ ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยี AI (ปัญญาประดิษฐ์), Big Data (การจัดการข้อมูลขนาดใหญ่), cloud computing และ IoTs (Internet of Things) เป็นต้น
  • การถือบังเกิดและสร้างรายได้อย่างงดงามของ “Silver-haired KOL” หรือผู้มีอิทธิพลทางความคิดบนโลกออนไลน์ที่เป็นผู้สูงอายุ อาทิ อาม่าชาวจีนวัย 80 ปี ซึ่งรู้จักในนาม 汪奶奶 คุณย่าวัง ที่โด่งดังในโลกโซเชียลจีนด้วยไลฟ์สไตล์สุดชิค จนลืมไปว่าคุณย่าอายุราว 80 ปี แล้ว มีคนติดตามมากถึง 15 ล้านคน ซึ่งคนติดตามคุณย่าท่านนี้ ส่วนใหญ่เป็นสาวจีนรุ่นใหม่ อายุ 18-35 ปี เหตุผลในการติดตาม KOL หรือไอดอลรุ่นใหญ่ของคนจีนรุ่นใหม่ ไม่ใช่แค่ติดตามคุณย่าท่านนี้ แต่หมายรวมถึง KOL รุ่นใหญ่ทั่วๆ ไปด้วย ส่วนใหญ่ติดตามเพราะรู้สึกว่าได้เคล็ดลับการใช้ชีวิต มีความน่าเชื่อถือ เปรียบเสมือนญาติผู้ใหญ่ และมีจุดสนใจตรงที่แม้อายุมากแล้ว แต่การแต่งกายรวมไปถึงภาพลักษณ์ที่ออกมาของท่านนั้นดูอ่อนกว่าวัย ซึ่งแน่นอนว่า “ความอ่อนเยาว์กว่าวัย” เป็นสิ่งที่ทุกคนปรารถนา 

อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว หากมีคนถาม อ้ายจง ว่า “ขายอะไรให้คนจีนดี?” คงไม่ต้องแปลกใจ หากผมจะตอบว่า สินค้าที่ตอบโจทย์กับ “ผู้สูงอายุจีน” ครับ 

ผู้เขียน : ภากร กัทชลี อาจารย์ประจำภาควิชาการตลาด คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่