อย่าประมาทปัญหาเงินเฟ้อปีหน้า | บัณฑิต นิจถาวร
ใครที่อายุต่ำกว่า 20 ปีคงไม่คุ้นกับคำว่า เงินเฟ้อ คือภาวะที่ ราคาสินค้าและบริการ เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เพราะช่วง 20 ปีที่ผ่านมา อัตราเงินเฟ้อทั้งในเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยค่อนข้างต่ำ คือ ขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 3.8 และร้อยละ 1.9 ต่อปีตามลำดับ
ไม่เป็นปัญหา ส่วนหนึ่งเพราะการเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างเศรษฐกิจที่ลดแรงกดดันต่อเงินเฟ้อ เช่น การขยายตัวของโลกาภิวัตน์และห่วงโซ่การผลิต การค้าออนไลน์ กำลังการผลิตส่วนเกินที่มี และนโยบายการเงินที่มีอัตราเงินเฟ้อเป็นเป้าหมายที่มุ่งรักษาอัตราเงินเฟ้อให้ตํ่าและมีเสถียรภาพ
แต่ผลจากวิกฤติโควิดทำให้สิ่งเหล่านี้เปลี่ยนไป เงินเฟ้อกลับมาและกำลังเป็นปัญหาทั่วโลก ล่าสุดอัตราเงินเฟ้อที่สหรัฐเพิ่มเป็นร้อยละ 6.2 ต่อปีในเดือน ต.ค. สูงสุดในรอบ 30 ปี การแก้ปัญหาเงินเฟ้อจึงกลับมาเป็นความท้าทายสำคัญด้านนโยบายและประมาทไม่ได้ นี่คือประเด็นที่จะเขียนวันนี้
ความแปลกของปรากฏการณ์เงินเฟ้อคราวนี้คือ อัตราเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นจากปัจจัยทั้งด้านอุปสงค์และอุปทาน ด้านอุปสงค์คือการใช้จ่ายที่เร่งตัวขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ สนับสนุนโดยความคืบหน้าในการฉีดวัคซีน การกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ และการใช้จ่ายของประชาชนที่หยุดรอมานานจากการระบาดของโควิด ทั้งหมดทำให้ความต้องการสินค้าและบริการในเศรษฐกิจโลกขยายตัวมาก กดดันให้ราคาสินค้าปรับสูงขึ้น
ด้านอุปทานคือ ปัญหาข้อจำกัดในการผลิตที่ทำให้การผลิตเพิ่มขึ้นตามการเร่งตัวของอุปสงค์ไม่ทัน ทั้งจากดิสรัปชั่นที่การระบาดของโควิดมีต่อการผลิต ทำให้สินค้าขั้นกลางขาดแคลน ราคาสูงขึ้น กระทบห่วงโซ่การผลิต ราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้นเพราะการผลิตขยายตัวไม่ทันความต้องการที่เพิ่มขึ้น กดดันให้ราคาพลังงานอื่นๆ เพิ่มขึ้นตาม
ค่าระวางเรือปรับสูงขึ้นเพราะผู้ประกอบการปรับตัวไม่ทันความต้องการขนถ่ายสินค้าที่เพิ่มขึ้นมาก มีการขาดแคลนแรงงานในหลายประเทศหลายอุตสาหกรรม เพราะแรงงานที่หยุดพักหรือต้องออกจากงานช่วงโควิดระบาดไม่กลับมาทำงาน กดดันให้ค่าแรงต้องปรับสูงขึ้นเพื่อดึงคนเหล่านี้กลับมาทำงาน
ข้อจำกัดเหล่านี้ทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นทั่วหน้า ไม่ว่าจะเป็นค่าจ้าง ราคาพลังงาน ราคาวัตถุดิบ ราคาชิ้นส่วน ค่าขนส่ง ส่งผลให้ราคาอาหารและราคาสินค้าอื่นๆ เพิ่มขึ้นตาม เงินเฟ้อคราวนี้จึงเป็นผลทั้งจากต้นทุนการผลิตที่แพงขึ้น และจากความต้องการใช้จ่ายที่เพิ่มมากขึ้น
ลักษณะของปัญหาเงินเฟ้อดังกล่าว จำเป็นต้องแก้ทั้งด้านอุปสงค์คือลดการใช้จ่ายและอุปทานคือปลดล็อกข้อจำกัดต่างๆ แต่การกลับมาของเงินเฟ้อในช่วงที่เศรษฐกิจต้องการการฟื้นตัว สร้างสถานการณ์ที่ลำบากพอควรต่อการทำนโยบาย
คือถ้าผู้ทำนโยบายมองว่าเงินเฟ้อเป็นปัญหาชั่วคราว ที่เกิดจากข้อจำกัดด้านการผลิตที่จะคลี่คลายลงในที่สุด และเลือกที่จะไม่ทำอะไรที่จะลดอุปสงค์ เช่น ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย อัตราเงินเฟ้อก็อาจเร่งตัวมากขึ้นถ้าข้อจำกัดด้านการผลิตยืดเยื้อ และจะยิ่งแก้ไขยากขึ้นถ้าอัตราเงินเฟ้อเร่งตัว
คนในระบบเศรษฐกิจเชื่อว่าอัตราเงินเฟ้อจะปรับสูงขึ้นในอนาคต ทำให้ผู้บริโภคเร่งใช้จ่ายเพราะกลัวของจะแพงขึ้น ขณะที่ผู้ผลิตก็ขึ้นราคาสินค้าเพราะคาดว่าต้นทุนการผลิตจะยิ่งแพงขึ้นอีก
ผลคือเงินเฟ้อกลายเป็นปัญหาใหญ่ที่แก้ยาก ตรงกันข้าม ถ้าผู้ทำนโยบายเลือกที่จะแก้เงินเฟ้อทันที เช่น ขึ้นอัตราดอกเบี้ย การฟื้นตัวของเศรษฐกิจก็จะถูกกระทบ ทำให้เศรษฐกิจจะฟื้นตัวล่าช้าไปอีก เหมือนเป็นสิ่งที่ต้องลกถ้าจะแก้ปัญหาเงินเฟ้อ
ในเรื่องนี้ประสบการณ์ในอดีต เช่น วิกฤตการณ์น้ำมันช่วงปี 1970 สอนว่าการแก้ปัญหาเงินเฟ้อควรเป็นเรื่องที่ผู้ทำนโยบายให้ความสำคัญสูงสุด เพราะถ้าเงินเฟ้อยืดเยื้อ ความเสียหายต่อเศรษฐกิจจะมีมากกว่ามาก
ล่าสุด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐได้ออกมายอมรับว่า ปัญหาข้อจำกัดด้านการผลิตจะไม่คลี่คลายจนถึงกลางปีหน้า ทำให้อัตราเงินเฟ้อเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องแก้ไข ขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐก็ส่งสัญญาณชัดเจนว่าจะเริ่มลดการผ่อนคลายนโยบายการเงิน โดยลดวงเงินซื้อพันธบัตรเพื่อปูทางไปสู่การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ซึ่งตลาดการเงินคาดว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยน่าจะเริ่มในช่วงครึ่งหลังของปีหน้า
ในแง่การดําเนินนโยบายเศรษฐกิจ การให้ความสำคัญกับปัญหาเงินเฟ้อเป็นเรื่องที่ถูกต้อง และสำหรับประเทศตลาดเกิดใหม่อย่างไทย แรงกดดันเงินเฟ้อก็มีให้เห็นมากขึ้นเช่นกัน ที่บราซิลอัตราเงินเฟ้อเดือน ต.ค.อยู่ที่ร้อยละ 10.7, อินเดีย ร้อยละ 4.3, ตุรกี ร้อยละ 19.9, โปแลนด์ ร้อยละ 6.8, เม็กซิโก ร้อยละ 6.2, ชิลี ร้อยละ 6.0 และรัสเซีย ร้อยละ 8.1
การให้ความสำคัญกับเงินเฟ้อและปรับทิศทางนโยบายการเงินจึงเป็นสิ่งที่ควรทำ ล่าสุดธนาคารกลางประเทศตลาดเกิดใหม่ เช่น บราซิล รัสเซีย เปรู เม็กซิโก เกาหลีใต้ ก็ปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นแม้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจะยังไม่เข้มแข็ง แสดงถึงความสำคัญที่ให้กับการดูแลเงินเฟ้อซึ่งถูกต้อง
เพราะอัตราเงินเฟ้อที่สูงและยืดเยื้อจะสร้างปัญหามากมายต่อเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นค่าครองชีพที่สูงที่จะกระทบความเป็นอยู่ของคนทั้งประเทศ ต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นที่จะกระทบความสามารถในการแข่งขัน กระทบการส่งออกและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
สำหรับประเทศไทย อัตราเงินเฟ้อล่าสุดเดือน ต.ค.อยู่ที่ร้อยละ 2.4 สูงกว่าอัตราเฉลี่ยระยะยาว 20 ปี แต่ยังไม่สูงมากเหมือนในหลายประเทศในภูมิภาค เพราะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจกำลังเริ่มต้น ยังไม่เข้มเแข็ง แต่แรงกดดันต่อเงินเฟ้อจะมีมากขึ้นในระยะต่อไปจากราคานํ้ามันที่ได้ปรับสูงขึ้น จากอัตราเงินเฟ้อที่สูงในต่างประเทศและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
ทำให้ปีหน้าแรงกดดันเงินเฟ้อจะมากและเงินเฟ้อจะเป็นปัญหาใหญ่ เพราะกระทบความเป็นอยู่ของคนทั้งประเทศจากค่าครองชีพที่แพงขึ้น ในภาวะที่คนส่วนใหญ่ยังไม่พร้อมหรือไม่มีความเข้มแข็งด้านรายได้ กระทบต้นทุนการผลิตทำให้ความสามารถในการแข่งขันของประเทศลดลง กระทบการส่งออก ซึ่งเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจขณะนี้ และกระทบการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ทำให้ผู้ทำนโยบายบ้านเราจะอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องเลือก ระหว่างการแก้ปัญหาเงินเฟ้อกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
เหมือนที่สหรัฐกับอีกหลายประเทศกำลังประสบอยู่ขณะนี้ ก็หวังว่าเราจะตัดสินใจได้อย่างถูกต้อง ถอดบทเรียนจากประสบการณ์ในอดีต และเลือกที่จะให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาเงินเฟ้อเป็นอันดับแรก.