David Card โนเบลเศรษฐศาสตร์ | วรากรณ์ สามโกเศศ
เมื่อได้เห็นชื่อสามคนผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ประจำปี 2021 ก็รู้สึกตื่นเต้น เพราะหนึ่งในนั้นคือ David Card ผมเคยพบและร่วมงานเลี้ยงด้วยกันที่กรุงเทพฯ เมื่อ 8-9 ปีมาแล้ว วันนี้จึงขอเล่าถึง David Card กับรางวัล โนเบลเศรษฐศาสตร์ ที่เขาได้รับ
เราพบกันในงานสัมมนาวิชาการที่ธนาคารโลกเป็นผู้จัดร่วมกับมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ โดยมีนักวิชาการมือดีจากออสเตรเลีย ยุโรป สหรัฐ และไทย ร่วมเสนองานศึกษาและให้ความเห็นเกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์การศึกษา มีคนมาร่วมจากต่างประเทศกว่า 10 คน (Joseph Stiglitz โนเบลเศรษฐศาสตร์ก็มาด้วย) โดย Bruce Chapman เจ้าของไอเดียเรื่องเงินกู้ให้นักเรียนนักศึกษาที่มีชื่อว่า กรอ. ผู้เป็นอาจารย์ที่ Australian National University เป็นโต้โผใหญ่
มีนักศึกษาไทยปริญญาเอกคนหนึ่งที่กำลังเขียนวิทยานิพนธ์ ซึ่ง Bruce เป็นที่ปรึกษาร่วมเสนองานด้วย และต่อมาเขาได้ไปเขียนวิทยานิพนธ์ที่ Berkeley โดยมี David Card เป็นที่ปรึกษา นักศึกษาคนนั้นปัจจุบันคือ ดร.ดิลกะ ลัทธพิพัฒน์ ปัจจุบันทำงานธนาคารโลก เป็นผู้เชี่ยวชาญมือดีด้านเศรษฐศาสตร์ทรัพยากรมนุษย์ประจำภูมิภาคนี้ และทำงานสำคัญด้านการศึกษาหลายชิ้นให้ประเทศไทยด้วย
David Card รับรางวัลโนเบลร่วมกับ Joshua D. Angrist แห่ง MIT และ Guido W. Imbens แห่ง Stanford โดยในใบประกาศระบุว่าให้เขาได้รับครึ่งหนึ่งของเงินรางวัล 1.2 ล้านดอลลาร์ (ประมาณเกือบ 50 ล้านบาท)
โดยกำเนิด Card เป็นคนแคนาดา เป็นลูกเกษตรกร ปัจจุบันอายุ 65 ปี จบปริญญาตรีที่ Queen’s University ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยเก่าแก่ที่มีชื่อเสียงของแคนาดา และเรียนจบปริญญาเอกด้านเศรษฐศาสตร์จาก Princeton เขาเป็นอาจารย์อยู่ที่มหาวิทยาลัยมีชื่อของสหรัฐหลายแห่ง จนสุดท้ายสอนที่ Berkeley มากกว่า 20 ปี
Card บอกว่า มีความรู้สึกอยู่เสมอว่าหลายสิ่งที่สั่งสอนและเชื่อกันมาในวิชาเศรษฐศาสตร์ระดับพื้นฐานนั้นผิดในโลกจริง ข้อเขียนที่ทำให้เขาโด่งดังเป็นที่รู้จักคือ เรื่องค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งเข้าใจกันมาตลอดว่าการเพิ่มขึ้นของค่าจ้างขั้นต่ำจะทำให้มีการจ้างงานน้อยลง เขากับเพื่อนผู้เขียนบทความร่วมกันและตีพิมพ์ในปี 1995 คือ Alan Krueger ได้ร่วมกันเก็บข้อมูลการจ้างงานของร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดในรัฐนิวเจอซีย์ ที่ติดกับรัฐเพนซิลวาเนียอย่างละเอียด ก่อนที่จะมีการประกาศขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำของรัฐนิวเจอร์ซีย์
จากนั้น 10 เดือนต่อมา เขาก็เก็บตัวเลขจากร้านเหล่านั้นอีกครั้ง การเก็บตัวเลขอย่างฉลาดเช่นนี้ ทำให้เขามีฐานเปรียบเทียบการจ้างงานในสถานที่ใกล้เคียงที่ไม่มีการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำด้วย เมื่อเอาตัวเลขการจ้างงานของร้านทั้งหลายในสองรัฐมาเปรียบเทียบกัน ก็พิสูจน์ได้ว่าการเพิ่มขึ้นของค่าจ้างขั้นต่ำไม่มีผลต่อการจ้างงาน
บทความนี้อื้อฉาวและมีผลต่อนโยบายด้านสังคมของสหรัฐและหลายประเทศในเวลาต่อมา เพราะไม่ต้องกังวลอีกต่อไปว่าความปรารถนาดีด้วยการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำนั้น จะกลับทำให้คนยากจนที่พึ่งพิงระดับค่าจ้างขั้นต่ำจะถูกจ้างงานน้อยลง ซึ่งหมายความว่าบางคนจะว่างงาน อย่างไรก็ดีมี นักเศรษฐศาสตร์วิจารณ์งานวิจัยของเขาที่เก็บข้อมูลลักษณะใหม่ ใช้วิธีการวิจัยที่แหวกแนว ไม่ใช่ “เศรษฐมิติ” ซึ่งเป็นเครื่องมือของนักเศรษฐศาสตร์มายาวนาน อย่างไรก็ดี งานศึกษานี้ก็ได้รับการยอมรับในที่สุด พร้อมกับคนจนจำนวนมากในโลกได้ค่าจ้างขั้นต่ำสูงขึ้น
Alan Kruger เป็นนักเศรษฐศาสตร์แรงงานที่มีชื่อเสียงมากของสหรัฐ เขาลงลึกกับข้อมูลปฐมภูมิเพื่อค้นหาหลักฐานเชิงประจักษ์ในเรื่องการจ้างงานอย่างจริงจัง ด้วยอุดมการณ์ที่ต้องการใช้วิชาการเพื่อทำให้มนุษย์มีชีวิตที่ดีขึ้น เขาพยายามเข้าใจความทุกข์ทรมานของคนยากจนที่ว่างงาน ถึงขนาดลงทุนไปอยู่ในสลัม
Kruger ได้รับเลือกจากประธานาธิบดีโอบามา ให้เป็นประธานที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจของประธานาธิบดี ระหว่าง ค.ศ.2011-2013 เขาอาจได้รับรางวัลโนเบลคู่กับ Card ก็เป็นได้หากเขาไม่เสียชีวิตไปเสียก่อนในปี 2019 ด้วยวัย 59 ปี
Card โด่งดังอีกเรื่องในการพิสูจน์ความเชื่อทั่วไปว่า การที่มีคนอพยพเข้าประเทศโดยเฉพาะสหรัฐจะทำให้ค่าจ้างเดิมลดต่ำลง จนมีผลกระทบในด้านลบต่อคนอเมริกัน ความเชื่อนี้ฝังหัวคนอเมริกันอนุรักษนิยมมายาวนาน การพิสูจน์ของ Card ที่ศึกษาอย่างกว้างขวางในพื้นที่ต่างๆ ที่มีคนอพยพเข้าไปอยู่เป็นจำนวนมากพบว่า การอพยพไม่มีผลกระทบต่อค่าจ้างและการจ้างงานโดยเฉพาะในตลาดแรงงานไร้ฝีมือ
Card เขียนหนังสือนับเป็นสิบๆ เล่มและตีพิมพ์บทความวิชาการคุณภาพสูงกว่าหนึ่งร้อยชิ้นเกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์แรงงาน และครอบคลุมไปถึงเรื่องการศึกษา ซึ่งส่งผลกระทบต่อระดับค่าจ้างอย่างสำคัญ
คณะกรรมการตัดสินรางวัลโนเบลระบุว่า เขามีผลงานสำคัญในการพัฒนาการวิจัย (วิธีการเก็บข้อมูล ลักษณะการเก็บข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูล) เพื่อช่วยนักเศรษฐศาสตร์ในการใช้สถานการณ์จริง พิสูจน์ทฤษฎีและความเชื่อดั้งเดิม นอกจากนี้ยังกระตุ้นความคิดและสร้างองค์ความรู้เพื่อสร้างนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมอีกด้วย
Card ไม่เชื่อหลายทฤษฎีและความเชื่อที่ไม่ผ่านการพิสูจน์ด้วยวิธีการวิจัยผ่านการเก็บข้อมูลแนวใหม่ในโลกจริงอย่างเป็นระบบ นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลสามคนในปี 2019 คือ Abhijit Banerjee, Esther Duflo และ Michael Kremer ได้มาในแนวเดียวกันจนได้รับรางวัล เพราะพยายามเอาชนะความยากจนด้วยการทดลองเชิงวิทยาศาสตร์ ที่เรียกว่า RCT (Randomized Control Trials)
โดยมีลักษณะคล้ายกับแบ่งกลุ่มทดลองการได้ผลของวัคซีน กลุ่มหนึ่งฉีดวัคซีนจริง อีกกลุ่มวัคซีนหลอก แล้วเอาผลมาเปรียบเทียบกัน เช่น การแจกมุ้งฟรีกับการขายมุ้งในราคาต่างกัน วิธีการใดที่มีประสิทธิภาพที่สุดเพื่อเอาไปใช้ป้องกันโรคมาลาเรีย (มีการพบว่าเอาไปช้อนปลาแทน) เมื่อพบความจริงแล้วจึงขยายเป็นสเกลใหญ่ขึ้น
ทั้งสามคนไม่ใช้การกล่อมพ่อแม่ให้ส่งลูกไปโรงเรียน ให้เงินพ่อแม่และเด็ก พัฒนาโรงเรียน ฯลฯ เมื่อพบว่าเด็กไม่ไปโรงเรียนก็เก็บข้อมูลเพื่อหาสาเหตุ และพบว่าที่สุขภาพไม่ดีจนต้องเลิกเรียนกลางคัน เพราะมีพยาธิตัวตืดในตัวเด็กที่สูบอาหารที่ไม่ค่อยพออยู่แล้วไปหมด
งานวิจัยเศรษฐศาสตร์สมัยปัจจุบันกำลังมีการเก็บและใช้ข้อมูลในลักษณะที่ผิดไปจากที่เคยทำกันมา โดยเฉพาะในเรื่องที่ข้อมูลเป็นปัจจุบันอยู่ตลอดเวลาอย่างรวดเร็วในโลกดิจิทัล เช่น GDP ไม่ต้องใช้เวลาเป็นเดือนๆ เพื่อคำนวณ เงินกระตุ้นเศรษฐกิจไหลออกไปในพริบตา ธนาคารกลางกำลังจะใช้เงินสกุลดิจิทัล พฤติกรรมการบริโภคของประชาชน เอกชน และภาครัฐ สามารถเข้าใจได้ในพริบตาหากทำวิจัยอย่างเหมาะสม ฯลฯ
เศรษฐศาสตร์กำลังก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ของการท้าทายทฤษฎีและความเชื่อเดิมด้วยวิธีการวิจัย วิธีเก็บข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูล ฯลฯ ลักษณะใหม่และด้วยข้อมูลบางส่วนที่เรียลไทม์จนกลายเป็น instant economics.