2 ผู้คิด 'ประมูล' รูปแบบใหม่ คว้า 'โนเบลเศรษฐศาสตร์'
2 นักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกันผู้พัฒนาทฤษฎีการประมูลและคิดค้นรูปแบบการประมูลใหม่ ๆ คว้ารางวัล "โนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์" ประจำปีนี้
ราชบัณฑิตยสภาวิทยาศาสตร์สวีเดน ประกาศมอบรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ประจำปี 2563 ในวันนี้ (12 ต.ค.) ให้แก่ "นายพอล อาร์ มิลกรอม" วัย 72 ปี ศาสตราจารย์ภาควิชามนุษยศาสตร์และวิทยาศาสตร์ และ "นายโรเบิร์ต บี วิลสัน" วัย 83 ปี ศาสตราจารย์กิตติคุณภาควิชาบริหารจัดการจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ในรัฐแคลิฟอร์เนียของสหรัฐ จากผลงานการพัฒนาทฤษฎีการประมูลและออกแบบรูปแบบการประมูลใหม่ ๆ สำหรับสินค้าและบริการที่ยากจะขายได้ด้วยวิธีทั่วไป เช่น คลื่นความถี่ การค้นพบของพวกเขาเป็นประโยชน์ทั้งต่อผู้ขาย ผู้ซื้อ และผู้เสียภาษีทั่วโลก
ปกติแล้ว คนทั่วไปมักขายสินค้าให้แก่ผู้ประมูลราคาสูงสุด หรือซื้อจากผู้เสนอราคาต่ำสุด และปัจจุบันมีสินค้ามูลค่ามหาศาลเปลี่ยนมือในการประมูลกันทุกวัน นอกจากการประมูลบ้าน งานศิลป์ และของสะสมแล้ว ยังมีหลักทรัพย์ แร่ธาตุ พลังงาน แม้แต่การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐก็สามารถทำในรูปแบบการประมูล
อย่างไรก็ตาม การวิเคราะห์เพื่อให้เข้าใจผลของการใช้ระเบียบการประมูลที่แตกต่างกันและราคาประมูลสุดท้ายเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก เนื่องจากผู้ประมูลใช้กลยุทธ์ที่อ้างอิงว่าตนเองและคู่แข่งมีข้อมูลใดบ้าง
นายวิลสันพัฒนาทฤษฎีการประมูลสินค้าที่มีมูลค่าร่วม หมายถึงมีมูลค่าไม่แน่นอนก่อนประมูล แต่ในที่สุดแล้วมีมูลค่าเท่ากันสำหรับทุกคน เช่น การประมูลคลื่นความถี่ ผู้ประมูลที่มีเหตุผลมักเสนอราคาต่ำกว่าราคาที่ประเมินไว้ดีที่สุด เพราะกลัวว่าจะต้องคำสาบผู้ชนะ นั่นคือ จ่ายแพงและเป็นผู้แพ้
ขณะที่นายมิลกรอมพัฒนาทฤษฎีการประมูลที่นอกจากใช้กับสินค้ามูลค่าร่วมแล้ว ยังใช้กับสินค้ามูลค่าส่วนตัวที่มีความแตกต่างกันในผู้ประมูลแต่ละคนด้วย เขานำการประมูลอันโด่งดังมาวิเคราะห์กลยุทธ์จนพบว่า ผู้ขายจะได้ราคาสูงกว่าที่ตั้งใจ หากผู้ประมูลรู้ราคาประเมินของคู่แข่งในระหว่างการประมูล
- พอล อาร์ มิลกรอม (ซ้าย) และ โรเบิร์ต บี วิลสัน (ขวา) -