สินค้าการเมือง - ประชานิยม ใช้งบฯถมเท่าไหร่ก็ไม่เต็ม

สินค้าการเมือง - ประชานิยม  ใช้งบฯถมเท่าไหร่ก็ไม่เต็ม

ดร.วีรพงษ์ รามางกูร อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลังผู้ล่วงลับ เคยออกมาเตือนรัฐบาลยิ่งลักษณ์ในช่วงที่ทำนโนบายจำนำข้าวว่านโยบายนั้นจะทำให้รัฐบาลพัง ในขณะนั้นเป็นช่วงหนึ่งที่รัฐบาลขณะนั้นใช้นโยบายประชานิยมอย่างหนักจนกระทบวินัยการคลังประเทศ

จนนำมาสู่การทบทวนจัดระเบียบใหม่ นโนบายจำนำข้าวเปลี่ยนเป็นประกันรายได้เกษตรกร

เวลาผ่านมาหลายปีปัญหาการใช้เงินจำนวนมากเพื่ออุ้มสินค้าเกษตรยังเป็นปัญหาให้กับรัฐบาล การรักษาวินัยการเงินการคลังของรัฐบาลประยุทธ์ที่ทำมาได้ในเกณฑ์ดีกำลังถูกท้าทาย

การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐเมื่อสัปดาห์ก่อนที่ทำเนียบรัฐบาลเป็นการประชุมแบบเร่งด่วน วาระสำคัญคือการหาเงินมาจ่ายโครงการประกันรายได้สินค้าเกษตรที่รอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี ทั้งข้าว ยาง ปาล์ม วงเงินรวมกันมากกว่าแสนล้านบาท

เฉพาะวงเงินประกันรายได้ของข้าวชนิดเดียวปีนี้ใช้เงินเฉียด 9 หมื่นล้านบาท ยังไม่รวมมาตรการคู่ขนานอีกกว่า 5 หมื่นล้านบาท

...นโยบายดังกล่าวเป็นนโยบายที่ใช้เงินเพิ่มขึ้นทุกปี สวนทางปริมาณการส่งออกข้าวและความสามารถในการแข่งขันของข้าวไทยในตลาดโลกที่ลดน้อยถอยลงทุกปีเช่นกัน

ที่ประชุมนโยบายคณะกรรมการนโยบายการเงินตัดสินใจขยายเพดานหนี้ภาครัฐต่อสัดส่วนการประมาณการรายได้ ในมาตรา 28ของพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของภาครัฐจาก 30% เป็น 35% เพื่อให้ได้วงเงินกู้เพิ่มอีกประมาณ 1.55 แสนล้านบาท หลังจาก“หนี้”ตามมาตรานี้เกือบเต็มเพดาน 30% ที่ 9 แสนล้านบาท

อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลังอธิบายเพิ่มเติมว่าหนี้ตามมาตรา 28 ส่วนนี้ กว่า 80% เป็นหนี้จากการดำเนินการตามมาตราการดูแลสินค้าเกษตรจากอดีตถึงปัจจุบัน ส่วนใหญ่รัฐบาลให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) สำรองจ่ายแล้วรัฐบาลตั้งงบประมาณมาจ่ายคืนแต่จากข้อจำกัดของงบประมาณก็จ่ายคืนได้ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วยนัก

การดูแลสินค้าเกษตรจากอดีตถึงปัจจุบันจึงเป็นการก่อหนี้นอกงบประมาณ ใช้เงินในอนาคตเพื่อมาดำเนินมาตรการถึงเวลาที่จะนำเอาเข้าสู่วิธีการงบประมาณปกติ ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2566 เป็นต้นไป

หากวิเคราะห์กันตามตัวเลขภาระทางการคลังการเอามาตรการในลักษณะนี้เข้าสู่งบประมาณปกติอาจแก้ปัญหาได้เล็กน้อย หากไม่มีการปรับแนวคิดการจัดทำนโยบาย ปล่อยให้การใช้งบประมาณในโครงการนี้เพิ่มขึ้นทุกปี สุดท้ายภาระทางการคลังก็พอกพูนขึ้น วงเงินสำหรับทำนโยบายอื่นๆก็ลดลง

แม้จะเข้าใจถึงความร้อนใจของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ต้องการแก้ไขปัญหาของชาวนาให้ได้รับเงินโดยเร็ว แต่ในปีงบประมาณต่อไปนายกรัฐมนตรีจะปล่อยให้พรรคร่วมรัฐบาลบางพรรคทำเป็นทองไม่รู้ร้อนแล้วท่องนโยบายประกันรายได้เป็นสรณะอ้างว่าได้แถลงนโยบายนี้ต่อสภาไปแล้วต้องเดินหน้า โดยไม่คำนึงถึงวินัยการเงินการคลังแบบนี้คงไม่ได้

...ไม่เช่นนั้นท่านในฐานะนายกรัฐมนตรีจะตกที่นั่งลำบากเอง

ประวัติศาสตร์ในอดีตที่ผ่านมาได้สอนเราไว้แล้วว่านโยบายที่มองสินค้าเกษตรเป็น “สินค้าการเมือง” มองแบบ "ประชานิยม" นั้นถ้าทำต่อเนื่องไปจะหางบประมาณหรือเงินกู้เท่าไหร่ก็ไม่มีทางถมไม่เต็ม

...โปรดระวังอย่าให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย!