การผลิตด้วยความรับผิดชอบ | วิฑูรย์ สิมะโชคดี
เมื่อวันที่ 29 พ.ย.64 เกิดเหตุเพลิงไหม้โกดังเก็บน้ำมัน บริเวณใกล้เคียงตลาดธัญญา ต.อ้อมใหญ่ อ.สามพราน จ.นครปฐม สถานที่เกิดเหตุเป็นอาคารโกดังใช้ในการจัดเก็บน้ำมัน จำพวกน้ำมันหล่อลื่น น้ำมันเครื่อง จาระบี เป็นต้น
ขณะที่เขียนบทความนี้ยังอยู่ระหว่างสืบสวนหาสาเหตุอยู่ แต่เบื้องต้น ปรากฏว่ามีผู้บาดเจ็บเป็นเจ้าหน้าที่ดับเพลิงจำนวน 2 นาย แต่ไม่มีผู้เสียชีวิต และมีบ้านเรือนประชาชนบริเวณหมู่บ้านนิศาชลได้รับความเสียหายหลายหลัง
กรณีเกิดเหตุเพลิงไหม้สถานประกอบการหรือโรงงานตั้งใกล้หมู่บ้านพักอาศัย จึงมีให้เห็นเนืองๆ ในบ้านเราและที่น่าเป็นห่วงมากก็คือ กรณีเพลิงไหม้สารเคมี (อันตราย)
การจัดการสารเคมี (อันตราย) อย่างครอบคลุม จึงเป็นประเด็นที่สำคัญอย่างยิ่งของยุทธศาสตร์ของ “การพัฒนาอย่างยั่งยืน” (Sustainable Development : SD) โดยเฉพาะประเทศที่กำลังมุ่งสู่ระบบอุตสาหกรรมที่ต้องมีความรับผิดชอบมากขึ้น และต้องเผชิญกับความท้าทายต่างๆ ของระบบเศรษฐกิจที่ต้องดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมด้วย (เศรษฐกิจสีเขียว)
ปัจจุบันในหลายประเทศได้ออกมาตรการทางกฎหมาย ที่กำหนดให้ภาคอุตสาหกรรมมีการจัดการสารเคมีในลักษณะที่ลดความเสี่ยงต่อสุขภาพของมนุษย์ และลดมลพิษสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการรณรงค์แก้ปัญหาโลกร้อนของชาวโลกตามกฎบัตรนานาชาติ COP26 เมื่อเร็วๆ นี้
ทุกวันนี้ หน่วยงานต่างๆ ในระดับประเทศ ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ราชการ สภาอุตสาหกรรม สภาหอการค้า สมาคมเอกชน มูลนิธิ และสถาบันการศึกษา รวมทั้งสถาบันทางเทคนิคหลายแห่งได้พัฒนามาตรฐานและแนวทางในการส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการสารเคมีอย่างเหมาะสมสำหรับกิจการต่างๆ โดยเฉพาะกิจการประเภทเอสเอ็มอี
ปัจจุบัน เอสเอ็มอีมีบทบาทที่สำคัญยิ่งต่อภาคอุตสาหกรรมและมีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจรวมของทุกประเทศ หลายประเทศที่มีการผลิต การขนส่ง การบรรจุหีบห่อ และมีการใช้สารเคมี (อันตราย)
โครงการ UNEP (United Nations Environment Programme) จึงเห็นความสำคัญในการเสริมสร้างศักยภาพของเอสเอ็มอี ในการจัดการสารเคมี (อันตราย) และเพื่อให้เกิดการจัดการด้านความปลอดภัยที่มีประสิทธิผลด้วย โดยริเริ่มและผลักดันให้เอสเอ็มอี เข้ามามีส่วนร่วมในแนวทางใหม่ๆ ที่ส่งเสริมการจัดการด้านความปลอดภัยของสารเคมีตลอดห่วงโซ่แห่งคุณค่า (Value Chain)
แนวทางใหม่ต่างๆ นี้จะต้องส่งเสริมให้เกิดการมีส่วนร่วมของกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างกว้างขวาง ทั้งกลุ่มผู้ใช้แรงงาน ผู้ขนส่ง ผู้จัดจำหน่าย ผู้บริโภค หน่วยงานรัฐ ชุมชนที่อยู่รายรอบ และธุรกิจอุตสาหกรรมต่างๆ รวมถึงบริษัทขนาดใหญ่ด้วย
โครงการ UNEP ที่ว่านี้ก็คือ Responsible Production ซึ่งมีชื่อเรียกในภาษาไทยหลายแบบ อาทิ โครงการ “การผลิตที่แสดงความรับผิดชอบ” หรือ “การผลิตด้วยความรับผิดชอบ” หรือ “การผลิตที่รับผิดชอบต่อสังคม”
กรอบแนวความคิดของ “การผลิตที่แสดงความรับผิดชอบ” (Responsible Production) ของ UNEP นี้นับเป็นแนวทางปฏิบัติเพื่อการปรับปรุงความปลอดภัยของสารเคมีตลอดห่วงโซ่มูลค่าอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบ อีกทั้งยังประกอบไปด้วยข้อมูลทางเทคนิค และเครื่องมือต่างๆ เพื่อช่วยให้เอสเอ็มอี เข้าใจถึงอันตรายและวิธีการควบคุม (การลด) ความเสี่ยงจากการได้รับสารเคมี ลดความเสี่ยงจากอุบัติเหตุ ส่งเสริมการดูแลรักษาผลิตภัณฑ์ และการมีส่วนร่วมของกลุ่มต่างๆ
เครื่องมือดังกล่าวจะนำไปสู่วิธีการปฏิบัติในด้านการวางแผน การจัดการ และการสื่อสารความเสี่ยงที่ดีขึ้น โดยมีวัตถุประค์เพื่อหลีกเลี่ยงการได้รับสารอันตรายในมนุษย์และสิ่งแวดล้อม
“การผลิตที่รับผิดชอบต่อสังคม” จึงเป็นวิธีการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง และเป็นระบบในการจัดการความปลอดภัยจากสารเคมีตลอดห่วงโซ่แห่งคุณค่า เพื่อให้เกิดความเข้าใจเรื่องอันตรายจากสารเคมี การลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุ รวมถึงการสร้างความมีส่วนร่วมของภาคีที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งเป็นการสนับสนุนการดูแลผลิตภัณฑ์สารเคมีผ่านการจัดทำแผนความเสี่ยง การบริหารจัดการและการสื่อสารอย่างครบวงจร
แนวความคิดเกี่ยวกับ “การผลิตที่รับผิดชอบต่อสังคม” ได้เกิดขึ้นในบ้านเรามานานพอสมควรแล้ว และมีหน่วยงานอาสาที่ดูแลรับผิดชอบในเรื่องนี้ โดยมีการพัฒนาขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการที่สำคัญของระบบการจัดการอันตรายจากสารเคมีแบบบูรณาการ เพื่อความปลอดภัยของคนและสังคม
แต่ทุกวันนี้เอสเอ็มอี ก็ยังต้องประสบกับปัญหาในการจัดการและการปฏิบัติตามแนวทางและข้อกำหนดที่แตกต่างกัน อีกทั้งเอสเอ็มอียังได้รับความช่วยเหลือน้อยทั้งด้านเงินทุนและวิชาการ และยังลำบากในการเข้าถึงแหล่งข้อมูลเกี่ยวกับอันตรายและความเสี่ยงของสารเคมี
เราจึงต้อง “จริงจัง” ในเรื่องของการบริหารจัดการความปลอดภัยจากสารเคมี (อันตราย) ให้มากขึ้น ด้วยจิตสำนึกของ “การผลิตที่รับผิดชอบต่อสังคม” อย่างกว้างขวางและทั่วถึง เพื่อว่าเราทุกคนจะได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ครับผม!