5 คำทำนายแห่งปี 2022 (ตอนจบ) | ปิยศักดิ์ มานะสันต์
ความไม่แน่นอนคือความแน่นอน ปัจฉิมบทแห่งพุทธพจน์นี้มักเป็นคำขึ้นต้นบทความที่ผู้เขียนนำเสนอ คำทำนาย หรือการคาดการณ์อนาคตเสมอ
เพราะทราบดีว่า Timeline แห่งอนาคต ไม่ได้เป็นเส้นศักดิ์สิทธิ์หนึ่งเดียว แต่มีหลากหลายเส้นตามแต่ที่ปัจจัยแวดล้อมจะผลักดันไป และ Timeline แห่งอนาคต ก็เปลี่ยนไปหลังจากที่บทความที่แล้วได้ถูกตีพิมพ์ไปเพียง 3 วัน
หลังจากที่ องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศ Coronavirus สายพันธุ์ Omicron ซึ่งสามารถแพร่ระบาดได้รวดเร็ว เป็นสายพันธุ์ที่น่ากังวล (Variance of concern)
ขณะที่ประเทศต่าง ๆ ห้ามนักท่องเที่ยวจากแอฟริกาใต้ที่เป็นประเทศที่ค้นพบสายพันธุ์นี้เป็นครั้งแรก รวมถึงประเทศเพื่อนบ้านเข้าประเทศ
ขณะที่ผู้ผลิตวัคซีนบางราย เช่น Moderna กล่าวว่าประสิทธิภาพของวัคซีนในการป้องกันสายพันธุ์ใหม่ลดลง เมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสสายพันธุ์ใหม่ยังไม่ชัดเจน ซึ่งรวมไปถึงมาตรการการควบคุมการแพร่ระบาด และมาตรการช่วยเหลือ
ภาพดังกล่าวจึงส่งผลกระทบต่อ 3 คำทำนายแรกของผู้เขียน อย่างไรก็ตาม ใน 2 คำทำนายหลังของผู้เขียน (ที่ได้ถูกวางไว้ก่อนหน้า) ก็ได้รวมประเด็นความเสี่ยงต่าง ๆ ไว้ในระดับหนึ่ง ดังนี้
คำทำนายที่่สี่ สงครามเย็นระหว่างสองมหาอำนาจจะรุนแรงขึ้น แต่จะไม่ถึงขั้นเกิด "สงครามร้อน"
สาเหตุเป็นเพราะจากการเมืองในประเทศ และการเมืองระหว่างประเทศ จะส่งผลให้ความรุนแรงของการเผชิญหน้ามีแต่จะเพิ่มขึ้น โดยในสหรัฐที่กำลังจะมีการเลือกตั้ง Midterm election ในช่วงปลายปี ที่สภาล่างจะมีการเลือกตั้งใหม่ทั้งหมด ขณะที่สภาบนมีการเลือกตั้ง 1 ใน 3
ในขณะที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนจะจัดการประชุม National party congress ครั้งที่ 20 ที่จะมีการต่ออายุประธานาธิบดีสีจิ้นผิงอีก 5 ปี และด้วยการประชุมที่มีความหมายเชิงการเมืองภายในต่อผู้นำทั้งสองประเทศ ฉะนั้น จึงเป็นไปได้สูงที่จะเห็นภาพความขัดแย้งที่รุนแรงขึ้นเพื่อแสดงพลังต่อสาธารณชน
ทั้งนี้ แม้ว่าในช่วงเดือนที่ผ่านมา ผู้นำทั้งสองจะมีการประชุมสุดยอดผ่าน VDO conference ไป โดยภาพเบื้องหน้าจะเป็นสัญญาณที่รอมชอม อันเป็นผลจากการที่ทั้งสองฝ่ายต้องการลดการเผชิญหน้าในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะประเด็นไต้หวัน
แต่ในระยะต่อไป ประเด็นเผชิญหน้าระหว่างจีนกับสหรัฐทั้ง 4 ประเด็น อันได้แก่ ด้านการค้า ด้านเทคโนโลยี ด้านเงินทุน และด้านภูมิรัฐศาสตร์นั้น ยังไม่มีประเด็นเปลี่ยนแปลงจากปัจจุบันอย่างมีนัยสำคัญ
จีนก็ยังมุ่งเน้นหาพันธมิตรทางการค้า ขณะที่สหรัฐก็มุ่งเน้นหาพันธมิตรทางการทหารต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนเชื่อว่าความขัดแย้งขั้นรุนแรงจนถึงขั้นสงครามนั้น คงยังไม่เห็นในปีหน้า เนื่องจากการเกิดสงครามในช่วงเปลี่ยนผ่านทางการเมืองน่าจะไม่เกิดผลดีต่อทั้งสองฝ่าย
คำทำนายสุดท้าย จะมี 5 ปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้เกิดความผันผวนในปีหน้า ได้แก่
(1) การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน และแนวนโยบายของรัฐบาลจีน;
(2) ความผันผวนด้านการเงินโลก จากความตึงตัวทางการเงินโลกที่มากขึ้น และส่งผลกระทบไปยังประเทศกำลังพัฒนาที่ปัจจัยพื้นฐานอ่อนแอ (ซึ่งการที่ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ส่งสัญญาณลดทอนมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ หรือ QE เร็วขึ้น จะยิ่งเร่งความเสี่ยงนี้);
(3) ความเสี่ยง Global Stagflation; หรือเศรษฐกิจตกต่ำแต่เงินเฟ้อสูง;
(4) ความผันผวนด้านภูมิอากาศโลก อันเป็นผลจากภาวะโลกร้อนและปรากฎการณ์ก๊าซเรือนกระจกที่สูงขึ้น;
(5) ไวรัส Covid-19 สายพันธุ์ใหม่ (Omicron) ซึ่งจะยิ่งนำความเสี่ยง Global Stagflation ให้รุนแรงขึ้น
ในประเด็น Omicron นี้ เพื่อให้สามารถประเมินผลกระทบเศรษฐกิจและการลงทุนอย่างชัดเจน จำเป็นต้องตอบคำถาม 3 ข้อ คือ (1) วัคซีนในปัจจุบันมีประสิทธิภาพเพียงใด (2) เชื้อดังกล่าวอันตรายกว่า Delta หรือไม่ และ (3) หากต้อง Lockdown แล้ว ทางการจะมาตรการภาครัฐเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจมากน้อยเพียงใด
ในส่วนของประสิทธิภาพของวัคซีน อาจต้องรอการยืนยันจากผู้ผลิตวัคซีน อย่างไรก็ตาม จากผู้ติดเชื้อเบื้องต้นเป็นไปได้ว่า วัคซีนในปัจจุบันอาจไม่สามารถป้องกันสายพันธุ์ Omicron แต่อาการของโรคไม่รุนแรง ทำให้การ Lockdown ไม่รุนแรงมากนัก แต่ก็เป็นไปได้ที่ทางการต่าง ๆ จะจำกัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจในระดับหนึ่งในระยะต่อไป
ผู้เขียนได้ทำ Scenario analysis เพื่อวิเคราะห์ความเสี่ยงในแต่ละสถานการณ์ อันได้แก่
(1) สถานการณ์ระบาดเพียงเล็กน้อย (เชื้อติดง่าย แต่ไม่รุนแรง วัคซีนเอาอยู่)
(2) สถานการณ์ระบาดปานกลาง (เชื้อติดง่าย วัคซีนเอาไม่อยู่ ต้องพัฒนาวัคซีนใหม่ซึ่งใช้เวลาประมาณ 3 เดือน แต่อาการไม่รุนแรง)
และ (3) สถานการณ์ระบาดรุนแรง (เชื้อติดง่าย วัคซีนเอาไม่อยู่ และอาการหนัก)
ในส่วนของผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกนั้น ผู้เขียนมองว่าในสถานการณ์ไม่รุนแรง ผลกระทบด้านลบต่อเศรษฐกิจโลกจึงมีจำกัด ขณะที่ในกรณีปานกลาง แอฟริกา ยุโรป และส่วนอื่นๆ ที่เหลือของโลกจะได้รับผลกระทบอย่างหนักจากสถานการณ์ดังกล่าว นำไปสู่การ Lockdown หรือปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศ
ส่วนในกรณีรุนแรง ผลกระทบจากแอฟริกา ยุโรป สหรัฐ และประเทศเกิดใหม่อื่นๆ จะส่งผลกระทบด้านลบอย่างมากต่อเศรษฐกิจโลก โดย GDP โลกอาจชะลอตัวลงเหลือ 3.6% จาก 4.9% ก่อนการระบาด
ในส่วนของไทย ในกรณีแรก จะไม่มีผลกระทบที่รุนแรงและมีนัยสำคัญ แต่ในกรณีปานกลาง จะเกิดการระบาดภายในประเทศ (โดยที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นถึง 10,000 คน หรือมากกว่านั้นในเวลา 1 ถึง 2 เดือน แทนที่เดลตา)
ดังนั้น รัฐบาลจะประกาศใช้มาตรการปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างเต็มรูปแบบ เป็นเวลา 2 เดือน ทำให้ GDP จะชะลอตัวลง เหลือเพียงประมาณ 3.0% จาก 3.6% ก่อนหน้า
ส่วนในกรณีรุนแรง เกิดการระบาดภายในประเทศนานประมาณ 2-3 เดือน ส่งผลทำให้รัฐบาลประกาศปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจนาน 3 เดือน GDP เกือบหดตัวใน 1Q22 ขณะที่การบริโภคหดตัว โดย GDP จะขยายตัวเพียงประมาณ 2.5% เท่านั้น
กล่าวโดยสรุป วิกฤต Omicron ครั้งนี้จะกระทบต่อเศรษฐกิจรุนแรงหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการระบาดเป็นหลัก หาก Omicron ดื้อต่อวัคซีน และอันตรายกว่า Delta ทางการก็จะ Lockdown หนักขึ้น ทำให้เศรษฐกิจไทยมีปัญหามากขึ้น
เนื่องจากภาคประชาชนและธุรกิจมีเงินเหลือยามฉุกเฉินน้อยลง ขณะที่ภาครัฐไม่อยากใช้งบประมาณเยียวยาเศรษฐกิจในช่วงวิกฤต ส่วนนักท่องเที่ยวที่มองว่าจะเป็นแหล่งรายได้ของเศรษฐกิจก็หายไป
แม้เศรษฐกิจ เงินเฟ้อ และนโยบายน่าจะกลับเข้าสู่ดุลยภาพใหม่ในปีหน้า แต่ความเสี่ยงจากสงครามเย็น และ Omicron นั้นสูงยิ่ง นักธุรกิจ นักลงทุน และผู้กำหนดนโยบาย โปรดระวัง.
บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่เกี่ยวข้องใด ๆ กับหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัดอยู่